นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.)​ กล่าวว่า ตามที่ สรพงศ์ ชาตรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ปี พ.ศ. 2551 ได้ถึงแก่กรรมแล้ว ด้วยโรคมะเร็งนั้น สวธ.ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ จะมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ ทั้งนี้ สรพงศ์ ชาตรี นับเป็นดาราคุณภาพที่ได้สืบสานศิลปะของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านบทบาทการแสดงในภาพยนตร์และละครจนได้รับฉายา “พระเอกชั้นครู” และ “สรพงศ์ พระเอกตลอดกาล”

อธิบดี สวธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับประวัติ สรพงศ์ ชาตรี เดิมชื่อ กรีพงศ์ เทียมเศวต เกิดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2492 เป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายชื้น และนางพริ้ว เทียมเศวต สำหรับชื่อ สรพงศ์ ชาตรี ที่ใช้ในการแสดง ผู้ตั้งให้คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และ หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา โดยคำว่า “สร” มาจาก อนุสรมงคลการ, “พงศ์” มาจาก สุรพงศ์ โปร่งมณี (ผู้พามาฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม) และ “ชาตรี” มาจาก ชาตรีเฉลิม ทั้งนี้ สรพงศ์ ชาตรี เป็นศิลปินแห่งชาติผู้มีผลงานการแสดงภาพยนตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบันมากกว่า 500 เรื่อง และละครโทรทัศน์กว่า 50 เรื่อง สามารถแสดงเข้าถึงบทบาทของตัวละครที่ได้รับ เช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน สามล้อถีบ สามล้อเครื่อง แท็กซี่ ขับรถเมล์ ตำรวจ ทหาร ลิเก หมอ ครู ขอทาน คนตาบอด หลังค่อม หน้าบาก มนุษย์หมาป่า เป็นต้น โดยการศึกษาบทของตัวละครนั้นๆ อย่างละเอียด เพื่อให้แสดงได้ไม่ติดกับบุคลิกภาพของตัวเอง และศึกษาจากชีวิตจริงก่อนการแสดง อาทิ ภาพยนตร์ เรื่อง “เขาชื่อกานต์” รับบทเป็น หมอ ก็ไปศึกษาวิธีการทำงานของ นพ.อรุณ อมาตยกุล ที่ รพ.ศิริราช ในภาพยนตร์เรื่อง “คนเลี้ยงช้าง” รับบทคนเลี้ยงช้างขี้เมาแล้วต้องอาเจียน ก็ไปศึกษาชีวิตคนเลี้ยงช้างจริงๆ แล้วนำมาหาเทคนิค ให้กับตัวเองตามบท ก่อนเข้าฉากจึงรับประทานโจ๊กใส่ไข่ดิบ เมื่อเจอเหล้าจริงก็อาเจียนทันที หรือบทชีวิต ก่อนเข้าฉากจะไม่ดื่มน้ำเพื่อให้ปากแห้ง ตาแห้ง มองเห็นความห่อเหี่ยว หดหู่ ส่วนบทโกรธจัด ซึ่งต้องมีใบหน้าแดง ก็ใช้วิธีทำหกสูงเพื่อให้เลือดตกลงไปเลี้ยงใบหน้าจนหน้าแดงก่อนเข้าฉาก เป็นต้น      

        

นายชาย กล่าวอีกว่า สำหรับผลงานที่ทำให้คนไทยจดจำ คือ เรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักของหนุ่ม-สาว แห่งท้องทุ่งบางกะปิกับตำนานรักของขวัญกับเรียม ในภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” โดย สรพงศ์ ชาตรี รับบท “ขวัญ” นันทนา เงากระจ่าง รับบท “เรียม” กำกับโดย เชิด ทรงศรี เป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องอยู่เสมอว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของไทย นอกจากนี้ สรพงศ์ ชาตรี ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ อีกมากมาย ในการการันตีถึงความสามารถด้านการแสดงภาพยนตร์ จนเป็นดาราชายผู้ได้รับรางวัลมากที่สุดในวงการภาพยนตร์ไทย อาทิ รางวัลตุ๊กตาทอง 5 รางวัล จากเรื่อง ชีวิตบัดซบ, สัตว์มนุษย์, มือปืน, มือปืน 2 สาละวิน และเสียดาย 2 รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ 2 รางวัล จากเรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก และ มือปืน รางวัลดาราทอง จากภาพยนตร์เรื่อง พลอยทะเล รางวัลดาราดาวรุ่งยอดเยี่ยม ในการประกวดภาพยนตร์นานาชาติ จากเรื่อง มือปืน รางวัลเพชรสยาม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รางวัลบันเทิงเทิดธรรม Nine Entertain Award 2008 และยังได้รับยกย่องเป็นพระเอกยอดนิยมอันดับ 1 ดาราชายยอดนิยมอันดับ 1 เป็นต้น และแม้ สรพงศ์ ชาตรี จะมีอายุมากแล้ว แต่ยังคงรับแสดงภาพยนตร์และละครบ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นพระเอก แต่บทที่รับแสดงจะเด่น มีความหมายให้แง่คิดแก่ผู้ชม และยังคงรักษาภาพลักษณ์ของคำว่า “ดาราคุณภาพ” นอกจากนี้ยังหันมาทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม เช่นเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายให้ความรู้แก่สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ตามที่ได้รับการขอความอนุเคราะห์ อีกทั้งยังเป็นพุทธมามกะผู้ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาอย่างมั่นคง โดยตั้งมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมตตาบารมี ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน หรือผู้ที่ต้องการเข้าไปศึกษาและปฏิบัติธรรม ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา