เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงกรณีนางภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดา น.ส.ภัทรธิดา พัชระวีรพงษ์ หรือ แตงโม ดาราสาวผู้ล่วงลับ มอบหมายให้ทนายเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ผ่าชันสูตรซ้ำร่างของแตงโม เพื่อพิสูจน์ให้สิ้นข้อสงสัยว่า ตามกฎหมายอนุญาตให้ตรวจพิสูจน์ซ้ำได้ ซึ่งต้องดูจากสภาพศพในขณะที่ส่งมาว่าจะตรวจชิ้นส่วนใด สภาพภายนอกร่างกาย หรือเนื้อเยื่อ หรือสภาพกะโหลกศรีษะหากมีรอยร้าว ตรวจอย่างไรก็พบ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องดูว่าญาติยังมีความข้องใจในประเด็นใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ทราบว่าขณะนี้ญาติได้มอบหมายให้ทนายยื่นหนังสือผ่านมาทางเลขาฯรัฐมนตรียุติธรรมแล้ว หากสถาบันฯได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ทางญาติอาจจะส่งศพมายังสถาบันฯ เพื่อให้ตรวจพิสูจน์ ซึ่งก่อนหน้านี้แพทย์นิติเวชฯของสถาบันได้เข้าชันสูตรศพในที่เกิดเหตุและได้ถ่ายภาพศพไว้ตั้งแต่ช่วงแรกแล้ว

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตามปกติพื้นที่การชันสูตรศพที่เกิดเหตุใน จ.นนทบุรี จะต้องส่งศพไปตรวจพิสูจน์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยมีแพทย์นิติเวชของสถาบันฯผ่าพิสูจน์ แต่บางกรณีขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวนซึ่งตามปกติแพทย์ชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุจะทำการตรวจสอบในเบื้องต้น ตามกฎหมายหากพนักงานสอบสวนสงสัยเขาต้องส่งผ่าศพ แยกธาตุ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งพนักงานสอบสวนจะส่งไปที่ใดเราไม่สามารถบังคับได้แต่จริงๆแล้วเขาต้องส่งมาที่สถาบันฯ แต่เนื่องจากกรณีผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และมีประชาชนให้ความสนใจจึงส่งไปที่นิติเวชตำรวจเพื่อสะดวกในการติดตามความคืบหน้าของผลชันสูตร

“สำหรับขั้นตอนหลังจากรับร่างของผู้เสียชีวิตมาแล้ว ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ตามข้อบังคับของราชวิทยาลัย พยาธิแพทย์ ซึ่งกำหนดไว้แล้ว โดยมีไม่น้อยกว่า 3 คน เป็นแพทย์นิติเวชจากหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ และรพ.ธรรมศาสตร์ และอาจมีผู้สังเกตการณ์ เป็นบุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากญาติให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ คาดว่าจะใช้เวลาในการในการร่วมตรวจเพียง 1 วันก็เสร็จแล้ว แต่ยังมีขั้นตอนการตรวจอวัยวะภายใน และตรวจในห้องปฏิบัติการทางเคมีโดยใช้เวลา 30-45 วัน” ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าว

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีนี้หากมารดามีความข้องใจสาเหตุการตาย ก็สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์ในขณะที่แพทย์ทำการผ่าชันสูตรได้ เพื่อให้สิ้นสงสัย ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีมารดาของผู้เสียชีวิตเข้ามาร่วมสังเกตการณ์แล้วหรือทางครอบครัวจะตั้งใครมาเข้าร่วมสังเกตการณ์ก็สามารทำได้ สถาบันฯ ไม่ขัดข้อง.