เมื่อวันที่ 19 มี.ค.65 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 จัดสัมมนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” โดยมีวิทยากร 5 คน ประกอบด้วย ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และ ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ร่วมพูดคุยหาทางออกวิกฤติเศรษฐกิจในหลายมิติ

ดร.พิสิทธิ์ กล่าวว่า โควิด-19 ทำกิจกรรทางเศรษฐกิจต้องชะงักลง โดยตั้งแต่ปี 63 รัฐบาลได้ พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มเติมปี 64 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเข้ามาช่วยเยียวยาด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจในหลายๆ มิติ ทั้งภาคการท่องเที่ยว มาตรการชดเชยต่างๆ การจัดหาวัคซีน ขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา คือ โครงการเยียวยาประชาชนต่างๆ ทั้ง คนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ถึง 40 ล้านคน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วปี 63 เม็ดเงินเยียวยาที่รัฐให้แก่ประชาชนเฉลี่ยอยู่ที่ 13,400 บาทต่อคนต่อปี

“ต้องยอมรับว่าโควิดทำให้คนจนเพิ่มขึ้น จากก่อนโควิดที่มีคนจนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 ล้านคน แต่เมื่อเกิดโควิดเพิ่มเป็น 4.8 ล้านคน แต่ถ้าไม่มีมาตรเยียวยาต่างๆ จากรัฐออกมา จะมีคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคน”

อย่างไรก็ตามทิศทางปี 65 รัฐบาลยังมีงบประมาณที่ยังไม่ได้จัดสรรอยู่ ทำให้มีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนอยู่ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสถานการณ์บรรยากาศต่างๆในไทยก็เริ่มดีขึ้น มีวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยภายนอกที่สำคัญ อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผลกระทบหนักที่เกิดขึ้น คือ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เพราะเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นทุกส่วน ซึ่งอาจจะต้องหาจุดกึ่งกลาง หากลไกเข้ามาจัดสรร โดยกระทรวงการคลังก็เตรียมพร้อมไว้แล้ว

ขณะที่ ดร.สมชัย ชี้ว่า ปัจจุบันเพดานหนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่ที่ 70% หรือคิดเป็น 10% ของจีดีพีประเทศ ดังนั้นมีโอกาสเพิ่มหนี้ได้อีก 10% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท แต่ขึ้นอยู่ว่าจะนำเงินไปใช้อะไร แต่ถ้าไม่ใช่ สถานการณ์อาจจะแย่ลง เพราะเศรษฐกิจจะโตช้ามาก ถ้าไม่ช่วยตอนนี้ จะทำให้อีก 5 ปีจากนี้ เศรษฐกิจจะเดินต่อไม่ได้

“แม้หนี้อาจจะสูงแต่เศรษฐกิจก็เดินต่อได้ และอีกสิ่งที่จำเป็นในอนาคต ที่รัฐบาลต้องทำ คือ การสร้างเศรษฐกิจไทยให้ดีด้วย ไม่ได้ซ่อม หรือแค่บรรเทาผลกระทบอย่างเดียว”

ส่วนทิศทางปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ ก็มีความเป็นไป ยังมีโอกาสเติบโต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดโควิด-19 หากอัตราการตายมีสัดส่วนที่น้อย และเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนผู้สูงอายุ อาจจะทำให้รัฐไม่ต้องปิดเมือง สถานการณ์เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น

“สิ่งที่รัฐต้องทำ ไม่ใช่แค่เยียวยาต่อลมหายใจอย่างเดียว แต่ต้องเติมสภาพคล่องที่นำไปสู่การปรับตัว ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ ทำให้กระบวนการปรับเปลี่ยนมีต้นทุนน้อยที่สุดและเร็วที่สุด หนึ่งในนั้นคือการให้สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ รัฐบาลต้องทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์และภาคการเงินดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งมีหลายเรื่องที่ภาครัฐสามารถทำได้ รวมถึงการอัพสกิล รีสกิล เพื่อเกิดแรงทางใหม่ รองรับการเติบโตเศรษฐกิจไทยในรูปแบบใหม่”

ขณะที่ ดร.ธนิต ย้ำว่า เรากำลังเผชิญกับ 2 วิกฤติซ้อนกันอยู่ ทั้งวิกฤติโรคระบาดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน นับว่ามีผลอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งกระทบต่อตลาดแรงงานโดยตรงด้วยพอโควิด-19 เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา เศรษฐกิจแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด จีดีพีติดลบ 6.1 แนวโน้มที่จะฟื้นตัวมีการประเมินแล้วว่า เร็วที่สุดคือช่วงครึ่งปีหน้า

“ส่วนสงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้จะอยู่ไกลจากไทย ทว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดวิกฤติเงินเฟ้อในหลายประเทศอีกด้วย และยังไม่รู้ว่าสงครามนี้ยืดยาวไปถึงเมื่อไหร่ จากการเจอวิกฤติซ้อนกัน ก่อให้เกิดซัพพลายช็อต ราคาสินค้านำเข้าก็พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย”

ดร.ธนิต กล่าวต่อว่า ขณะที่ภาคแรงงาน ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรง กระทบกับแรงงานท่องเที่ยว 3 ล้านกว่าคน ขณะที่คนว่างงานประมาณ 6.3 แสนคน ยังมีคนว่างงานแฝงที่ทำงานไม่ถึงชั่วโมงต่อสัปดาห์อีกประมาณ 6 แสนคน ในขณะเดียวกันยังจะมีนักศึกษาจบใหม่ออกมาแย่งงานทำอีก จึงส่งผลให้อัตราว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

“หลังวิกฤติครั้งนี้ โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีแนวโน้มสูงที่การจ้างงานจะต้องเปลี่ยน ผู้ประกอบการจะใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนมนุษย์มากยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ” ดร.ธนิต กล่าว

ส่วนนางมาริสากล่าวว่า ตอนนี้ท่องเที่ยวทรงๆ จากปี 2019 มีนักท่องเที่ยว 3.89 ล้านคน รายได้ 3 ล้านล้านบาท มาถึงปี 2021 มีนักท่องเที่ยวเหลือ 4.2 แสนคน ติดลบ 90% ตัวเลขรายได้ไม่ต้องคำนวณกัน ถึงแม้จะมีการกระตุ้นเที่ยว แต่ถือเป็นสถานการณ์ลำบากที่สุด เท่าที่เคยประสบมา ลำบากยิ่งกว่าต้มยำกุ้ง เพราะกระทบทั้งองคาพยพ ซัพพลายเชน ปัญหาที่กระทบมาก คือ กระแสเงินสด คนที่อยู่ได้คือคนที่มีหนี้น้อย กระเป๋าหนัก สายป่านยาว โดยเฉพาะโรงแรมใหญ่

นางมาริสา กล่าวต่อไปว่า แม้รัฐบาล จะมีเงินช่วยจากเงินกู้ซอฟต์โลน แต่ ดีมานด์นักท่องเที่ยวหายไป 90% แต่คนเป็นหนี้ไม่อยากเป็นหนี้แล้ว โกดังพักหนี้ ก็โอนให้แบงก์ แล้วถ้ามีโอกาสค่อยมาซื้อคืน สิ่งที่ต้องทำคือ เราต้องสร้างดีมานด์ให้ได้ เพราะตอนนี้หลายโรงแรมยื้อไม่ไหว อยู่ได้อีกแค่ 2-3 เดือน ซึ่งตอนนี้มีนักลงทุนต่างชาติ อยากจะมาซื้อ แต่เขาต้องการทำเลที่ดี โดยมองว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า เขาเห็นโอกาส

“สิ่งที่อยากให้รัฐช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุดคือ 1. ยกเลิกมาตรการกักตัวต่างๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศ ยกเลิก Test & GO รวมถึงยกเลิกการกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้เลย 2.กระตุ้นให้คนไทยเดินทางมากขึ้น” นางมาริสา กล่าว

ทางด้าน ดร.ทองอยู่ สะท้อนมุมมองด้านพลังงานที่กำลังเป็นวิกฤติ 3 มุม คือ 1.รูปแบบด้านการจัดสรรพลังงาน 2.รูปแบบการผลิต 3.รูปแบบของผู้ใช้พลังงาน รัฐบาลควรใช้ช่วงเวลานี้ในการดูแลโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบ เพื่อทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันเกิดความเป็นธรรมกับประชาชน ไม่ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน

กรณีที่ราคาน้ำมันดิบที่ตลาดโลกขึ้นไปวิกฤตตอนนี้ น้ำมันดิบราคาแพงขึ้นสูง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รัฐบาลควรปรับลดภาษีสรรพาสามิตลง อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ คือ โรงกลั่น ที่ผ่านมาประชาชนยังคงเป็นผู้แบกภาระอยู่มากว่า 20 ปี ส่วนบทบาทของกองทุนน้ำมัน จำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีการนำเงินจากกองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ มีการเก็บเงินจากกลุ่มหนึ่งไปใช้อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้และเป็นผู้จ่ายกลับไม่ได้รับประโยชน์ เงินกองทุน 3 ปี จำนวน 20,000 กว่าล้าน ถูกโอนไปที่กระทรวงการคลัง จึงตั้งคำถามว่า…

“ทำไมเงินกองทุนที่โอนไป 20,000 กว่าล้านบาท ไม่โอนเงินเหล่านี้กลับมาที่กองทุนพลังงาน แต่กลับไปกู้เพิ่มเรื่อยๆ” และเตรียมที่จะกู้เพิ่มอีกกว่า 40,000 ล้านบาท ที่จะต้องเป็นหนี้สาธารณะทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระในส่วนนี้ด้วย สิ่งที่รัฐจะแก้ไขปัญหาได้ ต้องทำให้กองทุนด้านพลังงาน ทั้ง 2 กองทุนเกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ดร.ทองอยู่ กล่าว