เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า โควิด 19 การติดเชื้อแบบไม่มีอาการ

การติดเชื้อโควิด 19 อย่างที่ทราบกัน ส่วนใหญ่จะมีอาการน้อย เป็นแบบรูปพีระมิดที่ฐาน จะเป็นพวกที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ในกลุ่มสีเขียว อาจร้อยละ 90 หรือมากกว่า โดยเฉพาะในสายพันธุ์โอมิครอน แต่จะมีจำนวนหนึ่งที่มีอาการมาก อยู่บนยอดของพีระมิดที่เป็นส่วนน้อย จะเป็นผู้สูงอายุ หรือโรคประจำตัว

จากการศึกษาในเด็ก 5-11 ปี ที่มารับการฉีดวัคซีน ในโครงการของศูนย์ โดยการคัดเลือกผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือกลุ่มเสี่ยง ในจำนวน 80 ราย ยังพบว่า มีถึง 5 ราย ที่ผลการตรวจเลือดพบว่ามีการติดเชื้อมาก่อน โดยไม่มีอาการใดๆ มาก่อนเลยทั้งสิ้น คือการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ผลการตรวจเลือดตรวจพบ ภูมิต้านทานต่อ นิวคลีโอแคปสิด และสไปรทโปรตีน เป็นการบ่งบอกว่าเป็นการติดเชื้อมาก่อน ภูมิที่ตรวจพบไม่ได้เกิดจากวัคซีน

ในประชากรไทย จึงมีจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อโดยที่ไม่มีอาการ นอกจากการตรวจเลือดเท่านั้น จึงจะทราบได้ว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่

การประเมินสำรวจ ว่าประชากรไทยเคยติดเชื้อมาแล้วเท่าไหร่ สามารถทำได้โดยการตรวจจากเลือด หาภูมิต้านทานต่อ นิวคลีโอแคปสิด แต่จะมีจุดอ่อนอยู่ที่ว่าภูมิต้านทานต่อ นิวคลีโอแคปสิด จะอยู่ไม่นาน โดยการตรวจหลังการติดเชื้อ มานานแล้ว 1 ปี จะตรวจพบเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การตรวจหาภูมิต้านทานต่อ สไปรทโปรตีน ที่อยู่ได้นานกว่า ก็จะต้องแยกจากผลของวัคซีนหรือการติดเชื้อ โดยใช้ประวัติเข้ามาช่วยว่าเคยฉีดวัคซีนมาแล้วหรือยัง

ประเทศไทยน่าจะได้มีการสำรวจ ว่าประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วมากน้อยเท่าไหร่ โดยการตรวจเลือด ก็จะประเมินการติดเชื้อไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์หรือมากน้อยแค่ไหน.