เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผู้หญิงเก่งมากความสามารถ ที่ควบตำแหน่งผู้บริหารได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ผ่านบททดสอบสุดหินจากบริษัทยักษ์ใหญ่แถวหน้าของเมืองไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกลายเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานรัฐ และกระทรวงต่างๆ สำหรับผู้บริหารคนเก่ง “คุณจิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ” อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานฝ่ายบริหารรัฐสัมพันธ์ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย)

ล่าสุดก้าวกระโดดสู่ความท้าท้ายไปอีกขั้น สู่เบื้องหลังดีลบริษัทข้ามชาติกับรัฐบาลไทย กับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายดูแลรัฐสัมพันธ์” ของ SAP บริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลก แต่กว่าคุณจิระวรรณ จะมาอยู่บนเวทีระดับโลกได้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง จะน่าสนใจและให้แง่คิดมากมายแค่ไหน วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” มีคำตอบ ตามมาอ่านบนสัมภาษณ์กัน


กว่าจะมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของลาซาด้า คุณจิระวรรณต้องผ่านบททดสอบอะไรบ้าง

“ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิงที่มีอายุน้อยในตอนนั้น การที่เราจะได้รับการยอมรับ และได้รับมอบหมายในตำแหน่ง “รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานฝ่ายบริหารรัฐสัมพันธ์ ” ของบริษัทลาซาด้า ซึ่งถือว่าเป็นคนแรกและคนเดียวของบริษัทที่เข้ามาดูแลประสานงานกับรัฐบาลโดยตรง ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ความรับผิดชอบหลักคือ การติดต่อ และประสานงาน รวมถึงทำโปรเจคท์ต่างๆ กับหน่วยงานรัฐ ซึ่งหน้าที่ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งจุดพิสูจน์ความสำเร็จ ทั้งบททดสอบในสถานการณ์ต่างๆ ทุกอย่างได้ทดสอบเรามาตลอดเวลา จนลาซาด้าทำให้เราเป็นที่รู้จักมากยึ่งขึ้นและลาซาด้าก็เป็นที่รู้จักในหน่วยงานรัฐต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน 

ความท้าทายในการทำงาน

“สำหรับความท้าทายอย่างแรก คือ

1. ความเข้าใจของรัฐบาลที่มีต่อธุรกิจ E-Commerce ดังนั้น เราจึงต้องให้ความรู้ ความเข้าใจกับรัฐบาลก่อน

2. การประสานงานในบริษัทเพื่อให้การซื้อขายบน Platform ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเราต้องทำหน้าที่ในการประสานทั้งภาครัฐและบริษัท และด้วยในปัจจุบันการค้าขายแบบ E-Commerce นั้นก้าวกระโดดไปไกลมาก แต่กฎหมายไทยบางข้อยังไม่อัพเดท ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมากในการทำงานตรงนี้


จุดเริ่มต้นอะไรที่ทำให้ “คุณจิระวรรณ” ตัดสินใจก้าวกระโดดจากผู้บริหาร Lazada ไปที่ SAP บริษัท software ชั้นนำระดับโลก

“เรามองว่าบริษัท SAP เป็นผู้นำตลาดซอฟต์แวร์ระดับองค์กรขนาดใหญ่และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในแทบทุกอุตสาหกรรมให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทุกวันนี้ SAP เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นอันดับ 3 ของโลก เรามีลูกค้าทั่วโลกมากกว่า 440,000 ราย ลูกค้าของ SAP มีกระจายอยู่ในทุกอุตสาหกรรม และมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการเข้ามาทำงานที่ SAP เหมือนได้ก้าวไปอีกหนึ่งขั้นในชีวิตของการทำงาน ซึ่งเป็นการทำงานมาตรฐานระดับโลก

โดยเรามาทำงานที่นี่เป้าหมายคือ คือการนำนวัตกรรมทางดิจิทัลและประสบการณ์ของภาครัฐทั่วโลกจาก SAP มาช่วยเสริมสร้างศักยภาพของภาครัฐให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาวิกฤตการณ์ที่เกิดมากจากโควิด-19 ซึ่งเป็นความท้าทายอันสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของรัฐไทย”

การเริ่มต้นใหม่กับ “SAP” มองความท้าทายอย่างไรบ้าง

สิ่งที่ท้าทายกับการร่วมงานกับ SAP คือ

1. เราจะทำอย่างไรให้ภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยรู้จัก นวัตกรรมทางดิจิทัลสมัยใหม่ และใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของ SAP ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ     

ทั้งนี้แม้ว่า SAP จะอยู่คู่กับสังคมไทยมากว่า 26ปีแล้ว แต่เรายังเห็นโอกาสที่จะช่วยทางภาครัฐและเอกชนในการนำนวัตกรรมทางดิจิทัลมาใช้ เพื่อที่จะขับเคลื่อน นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0ในหลายๆมิติ

2. การเปลี่ยนจากบริษัท e-commerce มาเป็นบริษัท software ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย เช่น เรื่องของกระบวนการภายในองค์กร โครงสร้างองค์กร กระบวนการต่างๆ การจัดการองค์กร ที่แตกต่างกัน เช่น ธุรกิจ E-Commerce ก็จะเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ในขณะที่ SAP ก็จะเคลื่อนตัวอย่างมั่นคง ระบบต่างๆ ก็จะต่างกัน นอกจากนี้การทำงานกับ ลาซาด้าจะอยู่ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาลีบาบา เป็นบริษัทแม่ แต่ SAP มีเครือข่ายทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นเราก็ต้องทำงานทั้งในอเมริกาและยุโรปด้วย ซึ่งกระบวนการของที่นี่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างบุคลากรในบริษัทได้อย่างยอดเยี่ยม

เป็นผู้หญิงมาอยู่บริษัทชั้นนำระดับโลกเป็นไงบ้าง มีความกดดันอย่างไรบ้าง

“ส่วนตัวเรามองว่า บททดสอบก่อนหน้านี้ได้พิสูจน์ตัวเราจนทำให้กลายเป็นที่ยอมรับต่อทุกคนหมดแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ในตอนนั้น ยังพ่วงตำแหน่ง เลขานุการคณะกรรมการกฎหมาย สมาคมประกันชีวิตแห่งประเทศไทย เป็นเวลา 8 ปี ซี่งตอนนั้นมีอายุเพียง 29 ปี และเมื่อมาทำงานที่ลาซาด้า เรายังเป็นประธานฝ่ายบริหารรัฐสัมพันธ์ คนแรกของลาซาด้าในเมืองไทยด้วย และปัจจุบันยังดำรงเป็นอนุญาโตตุลาการศาลยุติธรรมของประเทศไทย

สำหรับตอนนี้ เมื่อเราก้าวมาบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง SAP ที่มาพร้อมกับตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายดูแลรัฐสัมพันธ์ เมื่อถามถึงความกดดันว่ามีมากไหม แน่นอนว่าต้องมากอยู่แล้ว ด้วยความที่เป็นผู้บริหารที่มีอายุน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้บริหารท่านอื่น แต่มั่นใจว่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด

ส่วนตัวมักจะมองตัวเองเป็นน้ำครึ่งแก้วตลอด พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ถามตัวเองเสมอว่าเราจะเรียนรู้อะไรดี ซึ่งเรามักจะต้องคอยหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ใช่ทุกวัน แต่เป็นทุกชั่วโมง ในเรื่องของดิจิทัล และซอฟต์แวร์เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์โลกที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดก็กลายเป็นสิ่งที่หลอมรวมเป็นตัวเราขึ้นมาได้ และพิสูจน์แล้วว่าเวทีระดับโลกแบบนี้ก็เหมาะสมกับผู้หญิงแบบเรา ซึ่งเราทำให้ลาซาด้ากลายเป็นที่ยอมรับของหลายๆ หน่วยงานรัฐ และเราก็มั่นใจว่า เราจะทำให้ SAP เป็นที่รู้จักของรัฐบาลและประยุกต์ใช้นวัตกรรมดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน”

“คุณจิระวรรณ ตั้งเป้าหมายจะบริหารไปรูปแบบไหน

“เป้าหมายหลักในการบริหาร SAP คือ อยากช่วยให้ภาครัฐและเอกชน เข้าใจนวัตกรรมดิจิทัลของ SAP และสามารถประยุกต์ใช้ให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลนี้ในการขับเคลื่อนทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับประเทศไทยให้ก้าวทันโลก ทั้งนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของภาครัฐและสังคมในการรองรับกับ New normal ในโลกยุคดิจิทัลที่เกิดมาจากวิกฤตการณ์การระบบของโควิด-19  นี่เป็นเป้าหมายจริงๆ ของเราที่ตัดสินใจสินใจก้าวมายืนอยู่บริษัทชั้นนำระดับโลกแบบนี้”

มุมมองของตลาดซอฟแวร์โลก จะสามารถพัฒนาศักยภาพด้านใดให้หมาะสม ความคาดหวังในอนาคตจะพาบริษัท  SAP ไปในรูปแบบไหน

“SAP เรามีความชำนาญในทุกๆอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากประสบการณ์ที่อยู่กับสังคมไทยมากกว่า 26ปีนั้น ได้นำ Best Practice และ solution ที่ประสบความสำเร็จในหน่วยของภาครัฐทั่วทุกมุมโลก มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับนโยบายของรัฐและบริบทของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารทรัพยากรขององค์กร (ERP)  ระบบบัญชีการเงินและภาษี, ระบบบริหารงบประมาณ, ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล, ระบบวางแผนการผลิต, ระบบบริหารสินค้าคงคลัง, ระบบจัดซื้อจัดจ้าง, ระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับภาคประชาชน และอื่นๆอีกมากมาย โดยผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับโลกของ SAP ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ปัญญาประดิษฐ์(AI) การสอนให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยการใช้ข้อมูลหรือ Machine Learning(ML), การทำ Analytics เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ผ่านระบบคลาวด์แพลทฟอร์มของเรา

เพราะฉะนั้นทุกองค์กรทุกระดับไม่ว่าจะเล็ก กลางใหญ่ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลที่ได้การยอมรับทั่วโลกได้โดยง่ายและอย่างทันท่วงที ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ของประเทศที่เราต้องแข่งกับเวลาในการแก้ปัญหา ส่วนในตัวของเราอยากที่จะโฟกัสเฉพาะรัฐบาล เพราะอย่างเราทราบกันดี ในเรื่องของระบบการบริการจัดการต่างๆของทางภาครัฐนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องปรับปรุงโดยใช้นวัตกรรมดิจิทัลเป็นอย่างมากเพื่อให้รัฐบาลสามารถให้บริการประชาชนในรูปแบบดิจิทัลหรือeservices ที่เข้าถึงกับประชาชนได้เร็วและง่ายและมีประสิทธิภาพ เราเล็งเห็นความสำคัญตรงนี้ จึงตั้งใจที่อยากจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้กับทุกกระทรวง ทบวง กรม และทุกองค์กรของภาครัฐ เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนพร้อมแข่งขันในเวทีโลก

ซึ่งถ้าซอฟต์แวร์ที่เป็นฟันเฟืองหลักของการเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพ มันจะไม่มีทางเลยที่ประเทศไทยของเราจะแข่งขันในเวทีกับระดับโลก เรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ของ SAP จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสุ่จุดนี้ได้ และไม่ใช่เพียงภาครัฐเท่านั้น ยังรวมไปถึงภาคเอกชนต่างๆอีกด้วย

เพียงแต่ว่าถ้าเรามีโอกาสในการนำเสนอคุญค่าในการนำนวัตกรรมและประสบการณ์ของทาง SAP ต่อหน่วยงานของภาครัฐ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทางภาครัฐจะเห็นความสำคัญและคุณค่า และให้ SAP มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายต่างๆของภาครัฐมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

เรามองจุดที่เราอยู่ตรงนี้ เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง และจุดไหนที่เรามองว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว

“เรียกได้เราประสบความสำเร็จแค่ระดับนึงนะ เรายังพร้อมที่จะก้าวไปอีกขั้นเสมอ พร้อมที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ เช่นตอนนี้ได้เข้ามาทำงานกับ SAP ก็ได้เรียนรู้ระบบคลาวด์ และ success stories ของหน่วยงานรัฐทั้งในภูมิภาคนี้และในประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งตรงนี้เองเรามองว่าการเรียนรู้เป็นอะไรที่ไม่สิ้นสุด และอีกสิ่งที่อยากจะทำ คือ เราอยากจะใช้ความรู้ทั้งหมดที่เรามีใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม เรามั่นใจว่า SAP จะช่วย ขีดความสามารถของการบริหารจัดการทั้งหมดของภาครัฐบาล และภาคเอกชนได้อย่างแท้จริง สามารถช่วยลดทั้งต้นทุน และเวลา และความรวดเร็วในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมทั้งก้าวไปสู่ระบบดิจิทัลให้ทันกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรามองว่าถ้าเราไปเป้าหมายเหล่านี้ได้ นั้นแหละคืออีกหนึ่งความสำเร็จของเรา”

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่ “คุณจิระวรรณ ต้องพบเจอในตอนนี้ มีผลกระทบต่อการทำงานอย่างไรบ้าง และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

“ถ้าถามว่ากระทบไหม ตอบได้เลยว่ากระทบแน่นอน อย่างตอนนี้กลายเป็นว่าทุกคนต้องทำงานที่บ้าน โควิด-19 เปลี่ยนโลกเราให้กลายเป็นยุคนิวนอมอล(New Normal) ผ่านการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีอย่างแท้จริง หลายๆ คนก็เริ่มจะศึกษาระบบคลาวด์ การปกป้องข้อมูลทาง internet ส่วนผลกระทบเรื่องของเศรษฐกิจก็มีคนพูดไปเยอะแล้ว เรามองว่าทุกคนควรที่จะหันมามองว่า เราควรจะมีระบบอะไรเพื่อจะช่วยให้ธุรกิจเราสามารถเติบโตได้มากขึ้นทันทีที่โควิด-19 หายไป เราเชื่อว่านวัตกรรมของ SAP จะช่วยบริษัท หรือรัฐบาลให้ก้าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม เราจะไม่กลับมาสู่สิ่งนี้อีกแล้ว ภายใต้การเรียนรู้ในที่สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว”

“สำหรับการบริหารจัดการในยุคนี้เรามองว่าพอมันเป็นยุคดิจิทัล 4.0 สิ่งที่สำคัญของบริษัททุกบริษัทนั้นก็คือ ดิจิทัลแพลทฟอร์ม เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่มีรากฐานที่ดี ไม่มีเครื่องมือ คุณจะไม่สามารถไปต่อสู้กับใครได้เลย ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล และคนไทย ควรจะหันมามองได้แล้วว่า จริงๆ แล้ว ระบบหลังบ้านเราอะไรที่ควรจะซ่อมแซมได้บ้าง แล้วอะไรที่เราควรจะพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ใช้อดีตที่ผ่านมามองเป็นบทเรียน เพื่อให้เราสามารถป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากอีก 10 ปีข้างหน้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เราก็จะสามารถบริหารจัดการ รับมือได้ดีและรวดเร็วมากขึ้น สุดท้ายเรายังคงมองว่าดิจิทัลแพลทฟอร์มเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะบริหารจัดการระบบหลังบ้านที่ทุกคนจะต้องมี และหันมาตระหนักถึงได้แล้ว”.. คุณจิระวรรณ กล่าวทิ้งท้าย