สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อบก. และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดัน โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร (คาร์บอนเครดิต) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงเจตจำนงขององค์กรในการขับเคลื่อน สร้างกลไกสำคัญการลดก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตรของประเทศไทย สนับสนุนทุนวิจัยที่พัฒนาและผลักดันการสร้างกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนในอนาคต พร้อมเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมเป็นเครือข่ายสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยและลดภาวะโลกร้อน และสร้างโอกาสการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทยกับธุรกิจอาหารในเวทีโลก
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. เผยถึงผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกที่มีต่อภาคการเกษตรและการเกิดก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ของภาคการเกษตร ว่า “ผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกส่งผลรุนแรง และรุนแรงขึ้นทุกปี จะเห็นว่าหลายปีมานี้เรามักจะได้ข่าวแล้งมาก น้ำท่วม พายุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบโดยตรงกับภาคการเกษตรเพราะเกษตรกรจะปรับตัวไม่ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ส่งผลกับรายได้ การลงทุนใหม่ที่ถือว่าเป็นต้นทุน แต่กิจกรรมทางการเกษตรหลายอย่างก็ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน ดังนั้น ในภาคการเกษตรมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยซึ่งเฉลี่ยแล้วในภาคการเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ ร้อยละ 14.72 ต่อปี กลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในภาคการเกษตร และปศุสัตว์ จึงต้องสร้างความเข้าใจในข้อเท็จจริงกับเกษตรกร เพื่อรับมือ เลี่ยง หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ความสำคัญของปัญหานี้ คือ เกษตรกรเองไม่รู้ว่ากิจกรรมเหล่านี้ ก่อให้เกิดการสะสมของก๊าซ วันนี้เราจึงต้องมาสร้างกระบวนการทำงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลรวบรวมองค์ความรู้ร่วมกัน”

ด้าน คุณอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)ให้ความรู้ความเข้าใจขยายความกับคำใหม่“คาร์บอนเครดิต” ที่มีขึ้นมาในวงการสิ่งแวดล้อมว่า “คาร์บอนเครดิต ได้มาจากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ “Project Base” หรือในระดับโครงการ เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ โครงการปลูกป่าไม้และอนุรักษ์ป่าเป็นต้น โดยเริ่มจากผู้พัฒนาโครงการ หรือเจ้าของโครงการจะต้องเลือกว่าจะดำเนินโครงการตามมาตรฐานใด ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศลดลง นอกจากนี้ หากโครงการดังกล่าวมีการขายคาร์บอนเครดิต ทำให้ผู้พัฒนาโครงการมีรายได้เพิ่ม ซึ่งถ้าหากผู้พัฒนาโครงการคือชุมชนหรือเกษตรกร ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนหรือเกษตรกร ส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

ขณะที่ คุณนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการจัดการการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เผยถึงความต้องการของกรีนคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมว่า “ในภาพรวมคือมีความต้องการกรีนคาร์บอนในปริมาณมากแน่นอน และโอกาสที่จะซื้อคาร์บอนจากภาคเกษตรก็มีสูงมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรายกระดับมาตรฐานคาร์บอนเครดิตให้เป็นระดับสากลได้ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในเกษตรกรส่วนความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะ EU จะไปทางสินค้าสีเขียวมากขึ้น เรามองเห็นอุปสรรคและปัญหาที่จะเกิดขี้นในอนาคตที่ไม่ไกลนัก จึงเสนอว่าต้องเริ่มเปลี่ยนมุมมองและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้โดยเร็ว คิดว่าควรเริ่มกระบวนการสร้างการรับรู้ และการปรับตัวโดยไม่ชักช้า”

เป็นการเชื่อมโยงของ 3 หน่วยงาน ที่มาทำงานร่วมกันใน โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร (คาร์บอนเครดิต) เป้าหมายเพื่อให้การแก้ปัญหาเรื่องก๊าซเรือนกระจกจับต้องได้ เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ และลดมลพิษอย่างยั่งยืน

ติดตามแนวคิดงานวิจัยโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร (คาร์บอนเครดิต) และผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนา ผลงานวิจัยต่างๆ และทุนวิจัยได้ที่เว็บไซต์ สวก. https://www.arda.or.th/

ติดตามการเสวนาคาร์บอนเครดิตสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดมลพิษอย่างยั่งยืน ได้ที่ https://www.facebook.com/suthichai.yoon/videos/509059280632349