ก่อนหน้านี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ ได้ตามเจาะประเด็นปมร้อน เหมืองหิน สวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรือ ในเขาวังปลา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี   หลังจาก คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุฯกมธ.ป.ป.ช.ฯขึ้นมาตรวจสอบ โดย เรียกทั้งฝ่าย ผู้ถูกร้อง, กองทัพเรือ,บริษัทเอกชน หน่วยงานเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลด้วย กระทั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เห็นว่าเหมืองหินฯดำเนินธุรกิจ “เชิงแข่งขันกับเอกชน” ถือว่าต้องห้าม ตาม ม.75 วรรค2 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงเสนอแนะให้ปิดเหมืองหินฯ นอกจากนี้ช่วงวันที่ 28-29 มี.ค.65 คณะ กมธ.ป.ป.ช.ฯ ยังได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบเหมืองหินฯ พร้อมยังจะขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงินขาย “มูลดิน”ภายในเหมืองหินฯด้วยเช่นกัน

เหมืองหินกองทัพเรือ ปมร้อนส่อบานปลาย (1)

ตามดู“ข้อตรวจพบ”ที่มีนัยสำคัญ

                อย่างไรก็ดี เดลินิวส์มีโอกาสได้เกาะติดนำเสนอรายงานเหมืองหินทัพเรือ ไปแล้ว 2 ตอน ในส่วนของตอนที่3นั้นพบว่าก่อนที่ทาง สตง.จะเปิดโอกาสให้ กองทัพเรือ ได้ชี้แจงการดำเนินการทั้งหมด สตง.ได้อธิบายถึง ข้อตรวจพบ 3 ประเด็น ที่มีนัยสำคัญ 3 ประเด็น ค่อนข้างละเอียด นอกจากนี้ยังทำให้เห็นประเด็น ที่มาของเหมืองหิน ว่ามีความเป็นมาเช่นไรด้วย

“ข้อตรวจพบที่ 1” การดำเนินกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามกฎหมายกำหนด สำหรับข้อตรวจพบ ที่การปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย/เกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบ พระราชบัญญัติจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2533 มาตรา 8 กระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1.พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ปราบปรามการกบฏและการจลาจล โดยจัดให้มีและใช้กำลังทหารตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายกำหนด 2.พิทักษ์รักษา ปกป้อง สถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ 3.ปกป้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์แห่งชาติและการปกป้องระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงตลอดจนสนับสนุนภารกิจอื่นของรัฐในการพัฒนาประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชน 4.ศึกษา วิจัย พัฒนา และดำเนินการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และด้านกิจการอวกาศเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนภารกิจของกระทรวงกลาโหมและความมั่นคงของประเทศ และ5.ปฏิบัติการอื่นที่เป็นการปฏิบัติทางการทหาร นอกเหนือจากสงครามเพื่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือปฏิบัติการอื่นใด ทั้งนี้ ตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามคณะรัฐมนตรี

เปิดที่มาของเหมืองหินฯเขาวังปลา

ในการดำเนินการตาม (ข้อ 4.) กระทรวงกลาโหม อาจมอบอำนาจให้ส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม หรือหน่วยงานอื่นในกำกับของกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ดำเนินการก็ได้หรือ อาจร่วมงาน ร่วมทุน หรือ ดำเนินการกับภาคเอกชน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายก็ได้  มาตรา 20 กองทัพเรือ มีอำนาจหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพเรือ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพเรือ ตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มี ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็น ผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

ข้อเท็จจริง กองทัพเรือเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพเรือ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพเรือตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551

เนื่องจากเมื่อ ปี พ.ศ.2500 กองทัพเรือมีความต้องการใช้หินจำนวนมากเพื่อนำมาดำเนินการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กองทัพเรือจึงเริ่มดำเนินการสำรวจและผลิตหินใช้เองตั้งแต่ ปี พ.ศ.2503 โดยมีโรงงานผลิตหินในปีต่อมา ภายหลังจำนวนหินที่ผลิตได้มีจำนวนมากกว่าความต้องการใช้งานภายในกองทัพเรือ จึงได้นำหินส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับเอกชน จากการจำหน่ายทำให้พบปัญหาค้านการสต๊อกสินค้าว่ามีจำนวนมากเกินไปทำให้ต้นทุนจม และไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้ จึงมีการแต่งตั้ง ผู้แทนจำหน่าย ในปีพ.ศ.2512เพื่อแก้ใขปัญหาดังกล่าว

‘สตง.’เสนอ ‘กองทัพเรือ’ยุติทำเหมืองหิน เหตุไม่ใช่อำนาจหน้าที่(2)

ต่อมาปี พ.ศ.2523ได้เพิ่มศักยภาพในการผลิตหินและทำสัญญาจ้างผลิตและจำหน่ายหินกับ “บริษัทเอกชน” และมีการพัฒนาพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการ 208 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา ในเขาวังปลา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ดำเนินการจนถึง 31 พ.ค.2562 กองทัพเรือได้ยกเลิกสัญญากับ บริษัทเอกชนรายเก่า จากนั้น วันที่ 1 มิ.ย.2562 เปลี่ยนทำสัญญากับบริษัทรายใหม่ ได้รับการพิจารณาให้เข้าดำเนินการผลิตและจำหน่ายหินให้แก่กองทัพเรือ ทั้งนี้ในการดำเนินการผลิตหินนั้น กองทัพเรือให้มีการขอรับ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงาน,การขอเข้าใช้พื้นที่ป่า และ การขอสัมปทานบัตร จากหน่วยงานผู้มีอำนาจอย่างถูกต้อง

“ข้อตรวจพบที่ 2” การดำเนินงานของกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน ข้อตรวจพบที่การปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อกฎหมาย/โดยมีเกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 75 รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ

รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งกันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาแลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือการจัดทำบริการสาธารณะ

ข้อเท็จจริง กองทัพเรือให้มีการดำเนินกิจการหินมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2501 เริ่มแรกมุ่งเน้นในการจัดหาหินเพื่อใช้ในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมงานต่างๆ ภายในกองทัพเรือ ต่อมาได้จ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการผลิตและซื้อขายหินตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 จนถึงปัจจุบัน โดยสัญญาที่มีผลบังคับใช้กับบริษัทเอกชนรายใหม่ มีจำนวน 3 ฉบับคือ สัญญาจ้างผลิตหิน, สัญญาให้สิทธิในสถานประกอบกิจการโรงงานย่อยหิน และสัญญาซื้อขายหิน ลงนามในสัญญาวันที่ 26 ต.ค.2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่1 มิ.ย.2563 และสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.2564 โดยบริษัทเอกชนรายใหม่ เป็นคู่สัญญากับกองทัพเรือทั้ง3 ฉบับ

ต่อมาปี พ.ศ.2564 บริษัทคู่สัญญาไม่สามารถผลิตหินได้ตามจำนวนในสัญญา (ไม่ต่ำกว่า 4,000,000ตัน/ปี) กิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือพิจารณาว่า บริษัทคู่สัญญาขาดสภาพคล่องไม่มีความสามารถดำเนินการผลิตหินให้กับกองทัพเรือได้ จึงเสนอรายงานไปยังสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ และประธานกรรมการสวัสดิการสัมปทาน ได้อนุมัติลงนามบันทึกยกเลิกสัญญา ทั้ง 3 สัญญาในวันที่ 9 เม.ย.2564 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2564

ส่วนข้อตรวจพบที่3 รายละเอียดจะเป็นเช่นไรติดตามตอนต่อไป !!

ทีมข่าวเฉพาะกิจ : รายงาน