ภายหลังจาก ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ ได้นำเสนอเปิดประเด็น ถึงเรื่องราวปัญหาของ กิจการหินและสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งตั้งอยู่ บริเวณเขาวังปลา หมู่ 11 ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เนื้อที่ 208 ไร่เศษ ได้ถูก ส.ส.นำเข้าไปพูดพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ตั้งแต่ปี 64  แต่เรื่องยังไม่จบ เนื่องจากมีผู้นำไปร้องต่อที่ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ในชุดที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน จึงต้องเชิญทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ผู้ถูกร้อง, กองทัพเรือ รวมถึง บริษัทเอกชน ที่ได้รับสัมปทานเข้ามาให้ข้อมูล

นอกจากนี้ ยังเชิญ กรมอุสาหกรรม, กรมป่าไม้, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ (ป.ป.ช.) เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบข้อมูลการทำกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ กระทั่งปลายเดือน ม.ค. 65 สตง.ได้ตรวจพบว่า  มีข้อบกพร่องเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเรียนไปยังผู้บัญชาการทหารเรือ ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง และควบคุมหรือกำกับมิให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นมาอีก และเพื่อเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยแจ้งผลการดำเนินการให้ทราบทุก 60 วัน

ความคืบหน้าเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์  ได้ตามเจาะข้อมูลมายังพบด้วยว่า นอกจาก สตง.จะรายงานผลการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ปีงบประมาณ 2565 เรื่อง การดำเนินงานของกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งตรวจพบข้อบกพร่องไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 65 นอกจากนี้ สตง.ยังได้มอบสำเนาการตรวจสอบ พร้อม “ข้อเสนอแนะ” แนบท้ายรายงานมาให้ด้วย เพื่อให้การดำเนินงานของกองทัพเรือ เป็นไปตามกฎหมายและแบบแผนการปฏิบัติราชการ เห็นควรให้ ผู้บัญชาการทหารเรือ พิจารณาดำเนินการดังนี้

1.พิจารณายกเลิกและยุติการประกอบกิจการหิน  สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ เนื่องจากการดำเนินกิจการหินในปัจจุบัน มิได้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 มาตรา 8 และ มาตรา 20 เป็นการดำเนินธุรกิจเชิงแข่งขันกับเอกชน ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 75 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอานาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และไม่เข้าหลักเกณฑ์สวัสดิการภายในส่วนราชการและสวัสดิการเชิงธุรกิจ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 และประกาศคณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดสวัสดิการภายในเชิงธุรกิจ

2.บรรดาสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่อค่ากรณีบุคคลภายนอก หากมีความเสียหายเกิดขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูพื้นที่จากการทำเหมืองแร่และปรับสภาพแวดล้อมในเขตสัมปทานบัตรให้คงเดิม ภายหลังจากยกเลิกและยุติการประกอบกิจการหิน ตามข้อ 1 ให้ใช้จ่ายจากเงินกองทุนสวัสดิการภายในกองทัพเรือ

ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ พยายามตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมถึงรายงานฉบับดังกล่าว เกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจสอบ โดยสำนักตรวจเงินแผ่นดิน ดำเนินการตรวจสอบตามภารกิจหลัก คือ การตรวจสอบการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ระบุในหลักเกณฑ์ มาตรฐานการตรวจเงินแผ่นดิน ภาค 3 มาตรฐานการตรวจเงินแผ่นดิน ด้านการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย การตรวจสอบการดำเนินการกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินการกิจการหิน เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ หรือไม่

การสรุปผลการตรวจสอบ พบว่า กิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือจัดทำรายงานการเงินตามปีปฏิทิน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. ของทุกปี  จากการตรวจสอบพบว่า  การดำเนินงานของกิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการดำเนินงานมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน และไม่จัดเป็นสวัสดิการภายในส่วนราชการและสวัสดิการเชิงธุรกิจตามระเบียบกำหนด นอกจากนั้นแต่ละปีมีการจัดเก็บรายได้จำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดการตรวจสอบก่อนที่จะมีการสรุปผลนั้น พบว่า ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้รายงานข้อกฎหมายเอาไว้ค่อนข้างละเอียด ไม่ว่าเรื่องของข้อกฎหมายและเกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2533 มาตรา 8 กระทรวงกลาโหม เพื่ออธิบายให้เห็นว่า อำนาจหน้าที่ของกองทัพ, ภารกิจของกองทัพเรือตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ที่สำคัญคือการศึกษากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่กิจการหิน สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ใช้เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงาน จนทำให้เจอ “ข้อตรวจพบ” ที่มีนัยสำคัญ 3 ประเด็น

ทั้งนี้ ทาง สตง.เปิดโอกาสให้กองทัพเรือได้ชี้แจงการดำเนินการทั้งหมด ถึงแม้จะพบว่ามิได้นำเงินงบประมาณแผ่นดินมาใช้ก็ตาม สุดท้ายจึงได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะออกมา ส่วนรายละเอียดข้อตรวจพบ 3 ประเด็น รวมไปถึงการชี้แจงของกองทัพเรือเป็นเช่นไรนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางฯ จะพยายามเจาะรายละเอียดข้อมูลมานำเสนอตอนต่อไป.

ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์