วัวแดงเป็นสัตว์สังคม มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีขนาดตั้งแต่ 4-50 ตัว วัวแดงเป็นสัตว์กินพืช โดยสามารถกินอาหารได้หลากหลายทั้งหญ้า ไม้พุ่ม ผลไม้ สัตว์ผู้ล่าสำคัญของวัวแดง ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว และหมาใน

“วัวแดง”เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับความสนใจและเป็นตัวแทนในงานอนุรักษ์สัตว์ป่า เนื่องจากวัวแดงเป็นตัวช่วยสร้างความสมดุลในระบบห่วงโซ่อาหาร รักษาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศและเป็นตัวแทนของการรักษาป่าพื้นราบซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ด้วย

จากการเก็บข้อมูลโดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และ WWF ประเทศไทย ได้ข้อสรุปประเมินจำนวนประชากรวัวแดงในธรรมชาติของประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 761-1,086 ตัว พบกระจายใน 22 พื้นที่คุ้มครอง หรือ 11 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพื้นที่ที่มีการสำรวจทั้งหมด

เป็นที่น่าสนใจว่า มีเพียง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่พบการกระจายของวัวแดงในพื้นที่ประมาณร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยพบประชากรวัวแดงกลุ่มขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศประมาณ 500 ตัว

จากข้อมูลทางวิชาการชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของการฟื้นฟูและแนวโน้มของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ยังพบว่า วัวแดงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระจายตัวไปยังพื้นที่คุ้มครองข้างเคียงอีกหลายแห่งเช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก

ดร.โรเบิร์ต สไตน์เมทซ์ จาก WWF ประเทศไทย กล่าวในเวทีเสวนา “วัวแดง…ลมหายใจแห่งป่าราบต่ำ” ว่าภายในระยะเวลา 20 ปี วัวแดงลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบสถานภาพกับกระทิง วัวแดงมีสถานภาพด้อยกว่า เพราะกระทิงอยู่ได้ทุกสภาพป่า วัวแดงต้องอยู่ในป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ ซึ่งเป็นป่าโปร่งทำให้เกิดการล่าที่ง่ายกว่า วัวแดงจะอยู่รวมกันเป็นฝูงจะมีหนึ่งตัวจะกินอาหารน้อยเพื่อคอยระวังภัย เช่นเดียวกันการจับวัวแดงเมื่อเทียบกระทิงถือว่ายากมาก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทยยังอนุรักษ์วัวแดง แต่ในกัมพูชาวัวแดงถูกล่าหมดแล้วเพราะมีแหล่งรับซื้อในเวียดนาม

สัตวแพทย์ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ม.มหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสุขภาพสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเดียวกันว่า การอนุรักษ์วัวแดงนอกจากรักษาระบบนิเวศแล้ว คุณค่าของวัวแดงคือการนำมาในแง่ของการผสมพันธุ์ท่ามกลางการเกิดโรคระบาด ไวรัสลัมปี สกินของวัวบ้าน ซึ่งในอนาคต บอกไม่ได้ว่าอาหารโปรตีนจากวัวอาจขาดแคลนหากเกิดโรคระบาดรุนแรง อาจจะต้องเอาประโยชน์จากเจเนติก (กลไกทางพันธุกรรม) ที่แข็งแรงของวัวแดงมาผสมกับวัวบ้านก็เป็นได้ เราต้องมาพิจารณาดูว่ามีคุณค่าชนิดไหน ทั้งการอนุรักษ์เพื่อระบบนิเวศ และการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้มีความสมดุล

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานฯมีแผนอนุรักษ์วัวแดงแบ่งออกเป็น 3 ระยะ แบ่งเป็น แผนระยะเร่งด่วน 2 ปี โดยให้มีประชากรวัวแดงเพิ่มจำนวนมากขึ้นในกลุ่มป่าตะวันตก (ในพื้นที่ที่พบการกระจาย) และกลุ่มป่าตะวันออก (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน) นอกจากนี้ให้ประชากรวัวแดงมีการกระจายจากพื้นที่กลุ่มประชากรหลักในเขตรักษาพันธุ์สัตวป์่าห้วยขาแข้งสู่พื้นที่ใกล้เคียงในกล่มุ ป่าตะวันตกอย่างชัดเจน อาทิ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

แผนระยะกลาง 5 ปี 1.ประชากรวัวแดงเพิ่มจำนวนมากในกลุ่ม ป่าตะวันตก (ในพื้นที่ที่พบการกระจาย) กลุ่ม ป่าตะวันออก (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน)และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่(ในพื้นที่ที่พบการกระจาย) 2.ประชากรวัวแดงมีการกระจายจากพื้นที่กลุ่มประชากรหลักสู่พื้นที่ใกล้เคียงอย่างชัดเจน ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก ประชากรวัวแดงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระจายสู่พื้นที่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ ด้านตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประชากรวัวแดงจากอุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา กระจายสู่พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติตาพระยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่

สำหรับเป้าหมายระยะยาว 10 ปีมี 3 ประเด็นดังนี้ 1. เพิ่มจำนวนประชากรวัวแดงให้มากขึ้นในกลุ่มป่าตะวันตก (ในพื้นที่ที่พบการกระจาย) กลุ่มป่าตะวันออก (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน) และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่(ในพื้นที่ที่พบการกระจาย) 2. ประชากรวัวแดงมีการกระจายจากพื้นที่กลุ่มประชากรหลักสู่พื้นที่ใกล้เคียงอย่างชัดเจน ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก ประชากรวัวแดงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระจายสู่พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ ด้านตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประชากรวัวแดงจากอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดากระจายสู่พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติตาพระยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่

3.การฟื้นฟูประชากรวัวแดงโดยการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ที่พบกลุ่มประชากรขนาดเล็ก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก (อุทยานแห่งชาติแม่วงก์) กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (อุทยานแห่งชาติปางสีดา) กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติกุยบุรี) พื้นที่ที่วัวแดงสูญพันธุ์ไปแล้ว ได้แก่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวกลุ่มป่าแม่ปิง-อมก๋อย (อุทยานแห่งชาติแม่ปิง)

วัวแดงในประเทศไทยถือเป็นกลุ่มประชากรที่เป็นความหวัง และมีความสำคัญระดับโลก.

[email protected]