โดย ข้อมูลข่าวสารด้านหนึ่งที่ “เดลินิวส์” ได้ “ให้ความสำคัญในการนำเสนอ“ มาโดยตลอดในทุก ๆ มิติ…คือ “สุขภาพ-การแพทย์” และ ณ ที่นี้ในวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะนำเสนอโดยสะท้อนต่อข้อมูลด้านนี้ ที่ก็น่าสนใจ เป็นสิ่งที่น่าลุ้นสำหรับสุขภาพคนไทย…

วันนี้ขอสะท้อนกรณี “จีโนมิกส์ไทย”…

ที่ล่าสุด “เคลื่อนไหวรุดหน้าน่าสนใจ”

ทั้งนี้ “จีโนมิกส์ไทย” ก้าวสู่ปีที่ 5 หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อปี 2562 ให้ประเทศไทยประกาศ แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 (Genomics Thailand) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้มีการจัดเวทีแถลงผลดำเนินงาน “จีโนมิกส์ ประเทศไทย” โดยทาง นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เผยไว้ดังนี้…

นับแต่ไทยมีแผนปฏิบัติการจีโนมิกส์ ได้ตั้งเป้าให้มีการ “เก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย” จำนวน 50,000 ราย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับ “สร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมคนไทยเกี่ยวกับ 5 กลุ่ม ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเภสัชพันธุศาสตร์” เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลไป ใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งทางวิชาการ-วิจัย-การแพทย์-สาธารณสุข เพื่อ “ปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพของไทยให้ดียิ่งขึ้น”

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเชิงหลักการ และงบประมาณราว 1,800 ล้านบาท ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อดำเนินงานช่วงปี 2563-2567 ซึ่งมีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่ช่วย สนับสนุนให้เกิด “บริการทางห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์แบบจีโนมิกส์” ในประเทศไทย ที่ “มีคุณภาพ-มาตรฐานสากล” สนับสนุนให้เกิดการลงทุนโดยเอกชนจน นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ซึ่งมีการดึงสถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลเข้ามาช่วยจัดเก็บตัวอย่างเลือดจากอาสาสมัคร สกัดสารพันธุกรรม รวมถึงนำตัวอย่างที่เก็บได้ไปวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล

“ขณะนี้พ้นระยะที่ 1 ที่เป็นช่วงเวลาการลงหลักปักฐานเรื่องจีโนมิกส์แล้ว โดย เกิดองค์ความรู้และผลผลิตมากมายที่สามารถส่งต่อให้เกิดประโยชน์กับระบบสุขภาพของประเทศได้ ซึ่งหลายภาคส่วนมองว่าแผนปฏิบัติการ ระยะที่ 2 ต้องเดินหน้าไปต่อ แต่จะไปอย่างไรคงต้องมีการหารือกันให้ชัดเจนต่อไป” …เป็นความคืบหน้าที่ถูกอัปเดตไว้

“จีโนมิกส์ประเทศไทย” จะ “สู่ระยะ 2”

และเกี่ยวกับ “ความก้าวหน้าด้านจีโนมิกส์ของไทย” ที่เกิดขึ้นภายใต้แผนดังกล่าวนั้น ทาง นพ.ศุภกิจ ขยายความไว้อีกว่า… ขณะนี้โครงการจีโนมิกส์มีข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วมากกว่า 27,000 ข้อมูล ซึ่งกำลังเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใช้ประโยชน์ข้อมูล ในการนำไปวิเคราะห์วิจัยให้ออกมาเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้ได้มากที่สุด โดยจะไม่รอจนครบ 50,000 รายก่อน นอกจากนี้ยัง เร่งผลักดันให้เกิดแนวทางใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้เกิดการเข้าถึงและนำข้อมูลเกี่ยวกับ “จีโนม” ไปใช้ประโยชน์โดยที่เป็นไปตามกฎหมาย ด้วย

การดำเนินงานโครงการนี้ช่วงปี 2563-2567 มีการร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สนับสนุนให้เกิดบริการห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์แบบจีโนมิกส์ในไทยที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล จูงใจให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ช่วยรับผิดชอบด้านการสกัดสารพันธุกรรม ส่วนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ช่วยดูแลการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล

หน่วยงานไทยได้ “บูรณาการร่วมกัน”

กับ “ด้านสุขภาพ-การแพทย์สมัยใหม่”

ทั้งนี้ บุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. เสริมย้ำไว้ว่า…โครงการจีโนมิกส์ฯ กำลังพยายามให้มีการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะระบบ ’บริการการแพทย์ด้านจีโนมิกส์แก่คนไทย“ เช่น บริการตรวจคัดกรองยีนเสี่ยง ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและรังไข่, บริการตรวจยีนก่อโรคมะเร็งแบบครอบคลุม, บริการตรวจวินิจฉัยโรคหายาก, บริการวิเคราะห์และแปลผลข้อมูลพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อยา เป็นต้น

“นอกจากความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการนำเอาข้อมูลจีโนมิกส์ไปใช้แล้ว โครงการฯ นี้ก็ยังมีเป้าหมายที่จะ ช่วยทำให้เกิดระบบบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้นสำหรับคนไทย เพื่อรองรับบริการด้านการแพทย์จีโนมิกส์ของประเทศไทยในอนาคต” …นี่เป็น “หมุดหมายสำคัญ” ของ โครงการ “จีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand)” ที่มีวัตถุประสงค์ “ยกระดับการแพทย์ไทย” และก็นับว่า “น่าลุ้นสำหรับคนไทยเรา” กับการ “สู้โรคภัยไข้เจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล” ไม่ว่าจะ โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อต่าง ๆ โรคแปลก ๆ หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ ที่คนไทยก็ป่วยกันมาก

“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมา “สะท้อนไว้”

“เป็นกำลังใจ” ให้ “ทีมงาน-คนทั่วไป”

กับการ… “ก้าวสู่ยุคสู้โรคได้ดียิ่งขึ้น”.