เจ้าตัวรับ ‘นั่งนานผิดท่า’ น้ำหนักตัว-แรงกดคือ ‘ปัญหา’

หากไม่ได้เกิดขึ้นแบบซ้ำซากจำเจก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตให้ต้องเดือดร้อนรำคาญ หรือทุกข์ทรมานจากภาวะอาการข้างเคียงที่พร้อมมาร่วมด้วยช่วยกระหน่ำให้ร่างกายเสื่อมโทรมเกินกว่าจะรับไหว…เหมือนดังที่ “คุณฤทธิ์ กาไชย” หนุ่มร่างใหญ่ที่มีวัยเพียง 39 ปีซึ่งเป็นอดีตนักกีฬาตัวยงเจอมาแล้ว และทำเอาต้องเข้ารับการตรวจ-วินิจฉัยและรักษาในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าตัวได้ลำดับความเป็นมาให้ทีมงาน “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” นำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟังไว้เป็นข้อมูล โดยระบุว่า…

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

“…ผมเริ่มจากเหมือนกับคล้าย ๆ จะมีอาการโรคหมอนรองกระดูกนะครับ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่ว่ามัน…มันไม่ได้เป็นอาการที่รุนแรง… คือมันเป็นอาการเบื้องต้น ทำให้แบบว่ามีอาการชาที่ขาบ้าง หรือเมื่อยหลังบ้างเวลานั่งนาน ๆ นะครับ ก็คือจริง ๆ ด้วยอาชีพผมนอกจากต้อง นั่งนาน แล้วเผอิญ นั่งผิดท่า อีกด้วย…คือปกติแล้วมนุษย์ควรจะต้องจัดกระดูกสันหลังให้ตรงในการนั่งนะครับ แต่ว่าเรื่องความสบายหรือการทำงานที่ต้องนั่งนาน ๆ มันก็มีการเปลี่ยนท่านั่ง คือมีการเลื่อนขยับสะโพกออกมาทำให้หลังไม่ชิดกับเบาะ มันก็เลยทำให้ น้ำหนักกดลงที่กระดูกสันหลัง พอนาน ๆ เข้าไอ้ตัวหมอนรองกระดูกมันก็รับน้ำหนัก-แรงกดจากการนั่งนาน ๆ ทำให้มันเริ่มมีอาการ… แต่เมื่อความเจ็บปวดมันไม่ได้พัฒนามากขึ้นหรือมันไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ผมก็เลยยังไม่ได้เข้ารับการรักษาจริงจัง ก็รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดบ้าง ทานยาคลายกล้ามเนื้อบ้าง ทานยาแก้ปวดบ้าง เพราะมันยังไม่ถึงจุดที่ร่างกายทนไม่ไหว…

บังเอิญมีเพื่อนคนหนึ่งเจออุบัติเหตุกระดูกฝ่าเท้าแตกมาเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลสุขุมวิท ซึ่งผมมาดูแลและเป็นครั้งแรกที่มาโรงพยาบาลนี้ จึงได้เห็นสภาพในโรงพยาบาลและอุปกรณ์การแพทย์ที่ดูใหม่-สะอาด กับมีการดูแลของคุณหมอและการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน ทำให้รู้สึกประทับใจ และคิดว่าจะมาหาให้คุณหมอที่นี่ตรวจหากว่าตัวเองมีปัญหามากขึ้น แล้วพอดีว่าวันหนึ่งหลังจากเลิกงานแล้วผมประสบอุบัติเหตุล้มแล้วเกิดอาการปวดอย่างหนักขึ้นมาทันที ก็เลยมาตรวจ เพราะอยากรู้ว่าที่มาสาเหตุอยู่ที่ไหน ต้องรักษาอย่างไร เพราะรู้ตัวดีว่าถึงเวลาที่ต้องรักษาแล้ว ซึ่งหมอได้ส่งผมไปทำ MRI ช่วยให้รู้ที่มาสาเหตุของปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผมมากจนบั่นทอนความรู้สึกมากขึ้นทุกวัน แต่หลังจากที่ผมรักษาแล้วบอกได้เลยว่าผมได้ชีวิตปกติตามที่เคยมีกลับมา หลังจากรักษาได้วันเดียวผมลุกมาเดินได้ และ 2 วันก็กลับมาใช้ชีวิตปกติที่มันหายไปหลาย ๆ ปีแล้วครับ…”

คุณฤทธิ์ กาไชย

จริง ๆ แล้ว “คุณฤทธิ์” ได้ให้ข้อมูลเยอะทีเดียวเกี่ยวกับอาการที่ทำให้ต้องเผชิญความทุกข์นานหลายปีอันเป็นผลจากปัญหา “หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท” ซึ่งเป็นโรคภัยที่เล่นงานมวลมนุษยชาติมานานมากจนนับไม่ถูกว่ากี่ปีมาแล้ว และหลายปีก่อนหน้านี้ผู้ป่วยมักพยายามหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เพราะกลัวว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาโดยไม่คาดคิด แต่ด้วย “ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์” ในยุคปัจจุบันมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ ขณะที่ศัลยแพทย์ก็ได้รับความสะดวกง่ายดายในการเปิดแผลขนาดประมาณ 1 เซนติเมตรซึ่งลดการเสียเลือดและความบอบช้ำจากแผล ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้ไว สามารถคืนสู่การใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้นมาก ดังที่ผู้ป่วยรายนี้กล่าวไว้ในตอนท้ายนั่นเอง…และก็มาดูรายละเอียดเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีการแพทย์” ที่ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” นำมาใช้ประโยชน์กันต่อเลยนะครับ…

‘ข้อมูล’ ที่ ‘ได้ประโยชน์’ จากศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการ

คุณหมอผู้ให้การดูแลรักษา “คุณฤทธิ์” มี 2 ท่านด้วยกัน โดย 1 ใน 2 ได้แก่ “นพ.ปัญญาจารย์ เลาหะพรสวรรค์” ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง ประจำ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ซึ่งได้อธิบายไว้ดังนี้ครับ…

นพ.ปัญญาจารย์ เลาหะพรสวรรค์ รพ.สุขุมวิท

“…เคสนี้คือมีอาการปวดหลังร้าวลงที่ขาขวานะครับ มีอาการปวดที่สะโพกขวาค่อนข้างเยอะ และมีชาที่สะโพกขวา กับที่หลังเท้าขวา ที่เป็นมาประมาณ 3 ปีแล้ว แต่มากขึ้นประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนมาโรงพยาบาล ซึ่งหลังจากซักประวัติและตรวจร่างกาย กรณีที่เกิดการปวดหลังร้าวลงขานี้มีเรื่องของหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จึงได้ส่งเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วย MRI เพื่อช่วยคอนเฟิร์มการวินิจฉัยว่ามีรอยโรคที่กระดูกสันหลังตำแหน่งที่เราสงสัยจริงหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนการรักษาในขั้นต่อ ๆ ไปครับ…

ส่วนขั้นตอนการดูแลรักษาต่อจากนั้น คุณหมอ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” อีกท่านคือ “ผศ.นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา” ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคกระดูกสันหลัง ได้ให้รายละเอียดโดยระบุว่า…

“…ปกติแล้วเราจะประเมินคนไข้ก่อนว่า กรณีที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทมีความรุนแรงขนาดไหน ถ้ามีแค่อาการปวดอย่างเดียวโดยไม่มีอ่อนแรง หรือกลั้นอุจจาระ-ปัสสาวะไม่ได้ เราก็สามารถให้เขาลองทานยาแก้ปวด หรือให้ทำกายภาพบำบัดก่อน และถ้าไม่ตอบสนองจึงมุ่งที่สเต็ปถัดไปคือฉีดยาเข้าไปในโพรงประสาทเพื่อลดอาการปวด ถ้ายังไม่ตอบสนองอีกจึงจะไปที่สเต็ปถัดไป…ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการรักษาแบบส่องกล้อง เพื่อเข้าไปคีบหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมา ซึ่งผมได้แนะนำให้คนไข้รายนี้ลองทานยาลดปวดแล้วก็ทำกายภาพ แต่ลองแล้วอาการยังไม่ค่อยดีขึ้น คนไข้จึงได้เลือกฉีดยาเข้าโพรงประสาทโดยหวังว่าอาจไม่ต้องทำหัตถการส่องกล้อง…

ผศ.นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา รพ.สุขุมวิท

แต่เนื่องจากตัวหมอนรองกระดูกมีขนาดค่อนข้างใหญ่เป็นผลให้การตอบสนองไม่ดีเท่าที่ควรนะครับ เพราะคนไข้ยังมีอาการปวดเสียวลงขาอยู่ เราจึงได้พิจารณาใช้ เทคโนโลยีทำหัตถการส่องกล้อง เพื่อคีบตัวหมอนรองกระดูกตรงนี้ออก ซึ่งมีข้อดีคือเป็นการทำหัตถการที่ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวค่อนข้างไว…ต่างกับการผ่าตัดใหญ่อย่างสิ้นเชิง โดยแผลจากการส่องกล้องที่เกิดตอนที่เจาะผ่านผิวหนังและกล้ามเนื้อจะค่อนข้างเล็ก แค่เพียงพอสำหรับส่องอุปกรณ์กล้องและเครื่องมือเข้าไปหาตัวหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นมากดทับเส้นประสาท โดยเราสามารถมองเห็นเส้นประสาทและหมอนรองกระดูกได้อย่างชัดเจนจากภาพขยายบนหน้าจอ ซึ่ง นอกจากช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการทำหัตถการได้มากแล้ว…ยังช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้ค่อนข้างไว อีกด้วยครับ…”

แพทย์ผู้ให้การรักษา ‘ติดตามดูแล’ อย่าง ‘ใกล้ชิด’

ตบท้ายด้วยข้อมูลจาก “คุณหมอปัญญาจารย์” ซึ่งได้ให้รายละเอียดหลังจากผ่านการทำหัตถการส่องกล้องรักษาอาการที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับ “คุณฤทธิ์” มาหลายปีจนอาการได้เปลี่ยนไปเป็นดีขึ้น ดังนี้…

เทคโนโลยีทำหัตถการส่องกล้อง

“…หลังจากทำหัตถการส่องกล้องให้แล้ว และได้มีการติดตามดูอาการผู้ป่วย วันแรกผู้ป่วยก็สามารถลุกเดินได้ทันที อาการปวดจากเดิมซึ่งทำให้นอนท่าธรรมดาไม่ได้ ต้องนอนตะแคง มิฉะนั้นจะปวด ก็กลับมานอนได้ตามปกติ โดยอาการปวดได้ลดลงไปเกือบจะ 90% และหลังจากนั้น 1-2 วันก็สามารถกลับบ้านได้ครับ…”.

หมอจอแก้ว