อาคารหมายเลข 1 บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์และวัดราชนัดดารามวรวิหาร อาคารแห่งนี้ เมื่อครั้งอดีตเปรียบได้กับ “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์” จุดเริ่มต้นที่จะเข้าสู่เขตราชธานี สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเรื่องประวัติศาสตร์ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และสถาบันพระมหากษัตริย์นับแต่เริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

โดยนำเสนอผ่านเทคโนโลยีทันสมัยหลากหลายรูปแบบ ผ่านห้องจัดแสดง 9 ห้องนิทรรศการในสองเส้นทางเข้าชม ทั้งนี้ ปัทมนิธิ เสนาณรงค์ หัวหน้าฝ่ายบริหารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เล่าถึงส่วนจัดแสดง และห้องนิทรรศการใหม่ โดยกล่าวว่า แต่เดิมที่นี่เป็นอาคารพาณิชย์สร้างขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว หลังหมดสัญญาเช่า สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ และจากที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ให้มีความงามสง่า เป็นย่านเมืองเก่าที่มีความสำคัญ ซึ่งพื้นที่ถนนราชดำเนินเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนา จึงมีความคิดพัฒนาต้นแบบ ใช้อาคารหมายเลข 1 ซึ่งก็คือนิทรรศน์รัตนโกสินทร์

“หากย้อนกลับไป พื้นที่นี้เป็นดั่งประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ในอดีตการสร้างบ้านแปลงเมืองขยายจากพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางออกมา จุดที่ขยายออกมาสิ้นสุดในครั้งนั้นคือบริเวณอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ โดยสังเกตได้จากป้อมมหากาฬที่อยู่ไม่ไกลจากอาคาร ซึ่งการมีป้อมปราการเพื่อให้ทหารสังเกตการณ์ เฝ้าระวังป้องกันพระนคร อาคารแห่งนี้จึงเป็นประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์ โดยที่นี่รวบรวมให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2325 โดยนับเนื่องมาถึงปัจจุบันกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 242 ปี เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา”

หัวหน้าฝ่ายบริหารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ คุณปัทมนิธิ อธิบายอีกว่า อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ที่นี่ จากที่กล่าวเป็น แหล่งเรียนรู้ รวบรวมข้อมูลกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่การสถาปนากรุงจวบถึงยุคสมัยปัจจุบัน บอกเล่าผ่านสองเส้นทางจัดแสดง โดยแต่ละห้องจัดแสดง จะมีชื่อคล้องจอง ทั้งบอกเล่าคุณลักษณะของแต่ละห้องคล้ายกับลูกปัดที่เรียงร้อยกัน แต่ละห้องแสดงจะเล่าเรื่องราวกรุงรัตนโกสินทร์เชื่อมต่อกัน

จากห้องโถงด้านหน้าภายในอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ บริเวณนี้เปรียบได้กับห้องรับแขกขนาดใหญ่เดินต่อมาพบกับ อุโมงค์เวลา โดยพาเรียนรู้เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับแต่ครั้งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์จวบถึงปัจจุบัน เป็นส่วนจัดแสดงจุดเริ่มต้นก่อนนำชมและในส่วนนี้ อุโมงค์เวลาได้เพิ่มการนำเสนอพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และเรื่องการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยเทคนิค Hollow Displayจัดแสดงแบบจำลองรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานแก่กระทรวงสาธารณสุข

จากนั้นเข้าสู่ห้อง รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์ พาย้อนกลับไปถึงการกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์ การวางรากฐานอย่างมั่นคงด้วยพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ห้องเกียรติยศแผ่นดินสยาม บอกเล่าความสง่างามของพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เครื่องแสดงเกียรติยศของแผ่นดิน มีบรรยากาศครั้งอดีตให้สัมผัสเพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่

เรืองนามมหรสพศิลป์ ในห้องนี้จัดแสดงมรดกศิลปวัฒนธรรม มหรสพสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ อาทิ หนังใหญ่ โขน ละคร นาฏศิลป์ หุ่นกระบอก หุ่นหลวง ฯลฯ ซึ่งทรงคุณค่า งดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะต่างกันไป บอกเล่าศิลปวัฒนธรรมที่มีมา วิวัฒนาการ

“ภายในห้องนอกจากวัตถุจัดแสดงยังมีเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งวีดิทัศน์ เกม การเชิดหุ่นกระบอกทดลองเรียนรู้ด้วยตนเอง และรวมถึงเนื้อหาข้อมูลสำหรับการค้นคว้า ทั้งจัดแสดงหัวโขนที่งดงามวิจิตร รามเกียรติ์ที่นำมาสรุป รวมถึงประวัติการละคร นาฏศิลป์ละครนอก ละครใน ฯลฯ รวบรวมนำมาจัดแสดง อีกส่วนแสดงที่มีสีสันได้เห็นถึงมหรสพสำคัญที่สืบสาน สืบทอดต่อเนื่องมาในปัจจุบัน”

เดินต่อไปในเส้นทาง ห้องลือระบิลพระราชพิธี จัดแสดงพระราชพิธีที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่โบราณกาล โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีที่สำคัญขึ้น เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งภูมิปัญญาและเพื่อบำรุงขวัญแก่ประชาชน ในเส้นทางยังพาชม สง่าศรีสถาปัตยกรรม เล่าเรื่องสถาปัตยกรรมและการสร้างเมือง เรื่องที่ต้องกล่าวถึง ทั้งนี้ อาคาร บ้านเรือนต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของเมือง ภายในห้องแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมนับแต่แรกเริ่มสถาปนากรุงจวบปัจจุบัน เห็นถึงการดำเนินชีวิตที่สอดรับกับความเจริญทางด้านเทคโนโลยีที่เข้ามา ซึ่งมีมนต์เสน่ห์และมีคุณค่าแห่งยุคสมัย

ดื่มดํ่าย่านชุมชน พาสัมผัส 12 ชุมชนบนเกาะรัตนโกสินทร์โดยย่อรวมไว้ในที่เดียวในห้องนี้ เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งสะท้อนความเป็นอยู่แบบไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เยี่ยมยลถิ่นกรุง ห้องจัดแสดงที่พาสัมผัสกับชุมชน สถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นหมุดหมายให้กับนักเที่ยวได้แวะไปเยี่ยมเยือนหลังจากเที่ยวชมที่นี่ อย่างเช่น โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร ป้อมมหากาฬ ท่าเตียน ฯลฯ

ส่วนอีกเส้นทาง ห้องเรืองรุ่งวิถีไทย ห้องดวงใจประชา รวมถึงการชมวิว ชมความงามภาพมุมสูงจากอาคาร โดยมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ทั้งความสง่างามของโลหะปราสาทพุทธสถาปัตยกรรมแห่งรัตนโกสินทร์ที่มีเอกลักษณ์ ภูเขาทองวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ฯลฯ เป็นอีกพื้นที่ที่บอกเล่าบรรยากาศ เล่าประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ชัดเจน

สำหรับห้องนิทรรศการใหม่ นอกจากอุโมงค์เวลา สืบเนื่องจากการเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ และมีความหมาย นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ร่วมเทิดพระเกียรติและบันทึกประวัติศาสตร์ โดยรวบรวมเนื้อหาพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ จัดแสดงด้วยหลักการเรียบง่ายตามพระราชจริยวัตร ผสมผสานกับเทคนิคการนำเสนอที่แปลกใหม่ จากพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานพระราชดำริ และพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

ห้องลือระบิลพระราชพิธี เพิ่มเนื้อหาจัดแสดงพระราชพิธีเนื่องในรัชกาลที่ 10 เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ฯลฯ ด้วยเทคนิค Slide Screen เมื่อเคลื่อนจอผ่านภาพนิ่ง จะเกิดภาพถ่ายหรือภาพวิดีโอจริงที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีนั้น ๆ

ห้องดวงใจปวงประชา จัดแสดงพระราชประวัติของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 แบ่งออกเป็นสามส่วน ต้นโพธิ์แห่งแผ่นดิน จัดแสดง พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยเทคนิค Soft touch Interactive ใต้พระบรมโพธิสมภาร นำเสนอพระราชกรณียกิจ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 24 โครงการ จัดแสดงบนจอโค้ง ใช้ซอฟต์แวร์ Dataton Watchout ควบคุมการแสดงวิดีโอหลายจอ เพื่อสร้างจอแสดงผลขนาดใหญ่และ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ นำเสนอพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยออกแบบผนังห้องนิทรรศการเป็นเส้นทางการเดินทางสู่พระเมรุมาศ พร้อมเปิดวีดิทัศน์ประมวลภาพพระราชพิธีต่าง ๆ

ห้องนิทรรศการรัชกาลที่ ๑๐ ถ่ายทอดเนื้อหา “สืบสาน” หน้าที่แห่งกษัตริย์ของชาติไทย นำเสนอพระราชประวัติผ่านภาพวาด “รักษา” สุขแห่งประชาราษฎร์ให้คงอยู่ นำเสนอพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ในรูปแบบ Interactive Information และ Model Display และ “ต่อยอด” แผ่นดินไทยให้ยั่งยืน นำเสนอพระราชกรณียกิจผ่านรูปแบบ Immersive Theatre ที่เปรียบภาพการทรงงานปิดทองหลังพระ เป็นเสมือนดวงดาวผ่านม่านหมอก สามารถมีส่วนร่วมไปกับนิทรรศการได้โดยการใช้กล้องส่องไปยังท้องฟ้า เพื่อชมภาพการทรงงานต่าง ๆ

นอกจากนี้ ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้ ยังมีการแสดงทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ โดยเด็กและเยาวชนจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดแสดงร่วมบอกเล่าบรรยากาศ สืบสานศิลปะประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ