เป็นมุมสะท้อนจากการที่ทาง ญาดา ช่วยชำแนก นักวิจัย ได้ทำการศึกษาวิจัยหัวข้อ “แรงงานหญิงในสังคมเมืองร่วมสมัย” และได้ฉายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ ผ่านเวทีเสวนาระบบออนไลน์ของ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เพื่ออธิบายเกี่ยวกับ “พัฒนาการ” ที่เกิดขึ้นในสังคมยุคใหม่…กับ “อาชีพแม่บ้าน” ซึ่งในวันนี้…

มีพัฒนาการสถานภาพเปลี่ยนแปลง

ตามยุคสมัยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

“อาชีพแม่บ้าน” ยุคนี้ “ต่างจากเดิม ๆ”

ทั้งนี้ กับปรากฏการณ์อาชีพนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล… ทาง ญาดา ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ได้มีการระบุไว้ว่า… อาชีพแม่บ้านเป็นอาชีพเก่าแก่ของสังคม โดยผู้ที่ทำอาชีพนี้จะเป็นการนำเอาทักษะความสามารถการทำความสะอาดที่มีติดตัวมาใช้ประโยชน์ในเชิงแรงงาน โดยการเปลี่ยนทักษะที่ติดตัวมาให้เป็นสินค้าหรือบริการ ที่สามารถนำมาสร้างราคา หรือสร้างรายได้เพื่อใช้เลี้ยงตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางยุคสมัยกับสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป กรณีนี้ได้ทำให้ “อาชีพเก่าแก่” อย่าง “อาชีพแม่บ้าน” นี้… มีพัฒนาการ-มีการปรับตัวไม่แตกต่างจากอาชีพอื่น ๆ ในปัจจุบัน

สำหรับ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้น…เป็น “อาชีพแม่บ้านยุคใหม่” นั้น ผู้ศึกษาวิจัยท่านดังกล่าวได้สะท้อนแจกแจงไว้ว่า…“ในอดีต” นั้นอาชีพแม่บ้านมักจะเป็นการทำงานในรูปแบบ “คนรับใช้ในบ้าน” แต่ “ในปัจจุบัน” เมื่อสถานภาพเปลี่ยนไป สถานะแบบเดิมก็เปลี่ยนไปด้วย คือจากลูกจ้างกับนายจ้าง เปลี่ยนมาเป็นลูกค้าและผู้ให้บริการแทน ทำให้อาชีพแม่บ้านในปัจจุบันจึง “เป็นเสมือนพนักงานบริษัท” เช้าเข้าทำงาน ตกเย็นก็กลับบ้าน หรือบางรายก็รับทำเป็นครั้งคราว

นอกจากนั้น จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “แรงงานทำงานบ้าน” ทางผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้พบว่า… สำหรับ “ประเภทของอาชีพแม่บ้าน” ในปัจจุบันพอจะ แบ่งกว้าง ๆ เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้… กลุ่มแรก ยังเป็นแบบ “คนรับใช้ในบ้าน” ที่มีลักษณะการจ้างงานแบบบอกกันปากต่อปาก ส่วนเรื่องสัญญานั้น แม่บ้านกลุ่มนี้มักจะไม่มีสัญญาที่ชัดเจน ยกเว้นเป็นการรับงานผ่านเอเจนซี ซึ่งลักษณะเด่นแม่บ้านกลุ่มนี้ที่พบคือ…แม้จะมีการกำหนดขอบเขตงานที่ชัดเจน แต่ก็มีโอกาสที่นายจ้างจะเรียกใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน หรืออาจให้ทำงานที่เกินกว่าหน้าที่ของแม่บ้าน …นี่เป็นการฉายภาพของอาชีพแม่บ้านกลุ่มแรก

กลุ่มที่สอง “แม่บ้านบริษัท” ที่หลายคนก็อาจคุ้นเคยกับแม่บ้านกลุ่มนี้ เนื่องจากพบเห็นได้ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ บริษัท ซึ่งแม่บ้านกลุ่มนี้จะมีสัญญาจ้าง หรือมักจะเป็นการจ้างงานรูปแบบที่เรียกว่า “ลูกจ้างรับช่วงเหมา” โดยลักษณะเด่นแม่บ้านกลุ่มนี้คือ…มักมีการใส่ชุดยูนิฟอร์มขณะทำงานด้วย …นี่เป็นอาชีพแม่บ้านกลุ่มสอง

และกลุ่มที่สาม “แม่บ้านฟรีแลนซ์” เป็นกลุ่มอาชีพแม่บ้านที่มีความเป็นอิสระมากที่สุด ซึ่งลักษณะการจ้างงานนั้น ก็จะมีแบบที่แม่บ้าน รับงานเอง ที่จะเป็นการตกลงระหว่างผู้ว่าจ้าง หรือลูกค้า กับผู้ให้บริการ หรือตัวของแม่บ้านฟรีแลนซ์ โดยการเข้าถึงงานก็อาจจะมีการบอกกันปากต่อปาก หรือไม่ก็ รับงานผ่านแอปพลิเคชัน …นี่เป็นแม่บ้านกลุ่มสามที่อิสระสุด

เป็น “อีกประเภทอาชีพแม่บ้านยุคนี้”

ที่จะ “พบเห็นได้ในสังคมไทยยุคใหม่”

ในเวทีเสวนาออนไลน์ดังกล่าว ผู้วิจัย คือ ญาดา ช่วยชำแนก ยังได้ระบุไว้อีกว่า… การที่อาชีพแม่บ้านในยุคปัจจุบันต้องมีการปรับตัว หรือมีพัฒนาการใหม่ ๆ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองใหญ่ ๆ นั้น ก็เป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยได้เปลี่ยนไป เกิดอาคารสูงและคอนโดมิเนียมใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่ง จำนวนอาคารสูงกับคอนโดมิเนียมที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นตัวเปลี่ยนอาชีพจากคนรับใช้ในบ้านแบบเดิมมาสู่อาชีพแม่บ้านแบบเช้าทำเย็นกลับ ทำให้เกิด “แม่บ้านฟรีแลนซ์” ขึ้นมา โดยกับอาชีพแม่บ้านฟรีแลนซ์นี้ก็สะท้อนให้สังคมเห็นได้ถึง “มิติเมือง-มิติคน-มิติอาชีพ” ที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย

“แม่บ้านฟรีแลนซ์ถือเป็นแรงงานอิสระที่มีความสามารถ จึงต่อรองกับตลาดได้ แรงงานกลุ่มนี้จึงสามารถยกระดับทางเศรษฐกิจให้กับตัวเอง… แม่บ้านฟรีแลนซ์จะมีรายได้ที่ค่อนข้างสูง ถ้าเทียบกับแม่บ้านประเภทคนรับใช้ในบ้าน ที่สำคัญใคร ๆ ก็ทำได้ ยิ่งมีแอปพลิเคชันมาซัพพอร์ตการทำงาน ก็ยิ่งง่ายขึ้น” …ทางผู้ที่ทำวิจัยเรื่องนี้ระบุ

อย่างไรก็ดี นักวิจัยท่านเดิมสะท้อนไว้ช่วงท้ายด้วยว่า…เส้นทางสู่วงการแม่บ้านฟรีแลนซ์ จากการศึกษาพบว่า…กว่าที่แต่ละคนจะเข้าสู่วงการนี้ได้ แต่ละคนล้วนต้องเคยทำอาชีพอื่นมาก่อน และส่วนใหญ่มักเป็นแรงงานนอกระบบ หรือเคยผ่านงานที่มีลักษณะไม่มั่นคงมาก่อน แต่การที่เคยผ่านประสบการณ์มากมายเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ทุนทางวัฒนธรรม” โดยทุนดังกล่าวนี้ จะเป็น “ตัวชี้วัดศักยภาพของแม่บ้านฟรีแลนซ์” แต่ละคน ซึ่งก็จะมีผลต่อเนื่องไปถึง “ตัวชี้วัดทางด้านรายได้” ด้วย…ทั้งนี้ เหล่านี้เป็น “ปรากฏการณ์ใหม่” ของ “อาชีพ” ที่บางคนยังนึกถึงคำเรียก “นังแจ๋ว!!”

“คนรับใช้” นี่นับวัน “จะเป็นภาพอดีต”

“แม่บ้านฟรีแลนซ์” เป็น “เทรนด์ใหม่”

ที่ “ยกระดับรายได้ได้อย่างน่าสนใจ”.