อย่างไรก็ตาม ก็มี “เด็กในไทยกลุ่มหนึ่ง” ที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว…เพราะ “ไร้ครอบครัว” ต้องอยู่ในการดูแลของ “สถานรองรับ” รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแม้มุมหนึ่งก็พอจะเป็นเรื่องที่ดีที่เด็ก ๆ ได้รับการช่วยเหลือ แต่ในอีกมุมก็มีประเด็นน่ากังวลใจ…กับการที่ “เด็ก ๆ เหล่านี้ต้องโตในสถานรองรับ” ที่ไม่ใช่ครอบครัว…

ทางวิชาการเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า

“เด็กที่เติบโตแบบนอกครอบครัว”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ มีที่มาจากบทวิเคราะห์ชื่อ “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม : ความเชื่อแบบไทย ๆ อุปสรรคใหญ่ของนโยบายครอบครัวอุปถัมภ์” ที่จัดทำไว้โดย พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์ ที่มีการเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ซึ่งได้ฉายภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยกลุ่มนี้ เพื่อให้สังคมไทยร่วมกันหาทางออก โดยได้มีการสะท้อนไว้ว่า… การเลี้ยงดูที่เหมาะสมที่สุดกับการเจริญเติบโตของเด็ก…คือการ “เลี้ยงดูแบบครอบครัว” แต่…มีเด็กจำนวนมากในไทยที่ไม่ได้รับโอกาสแบบนี้

ในไทย มีเด็กกว่า 120,000 คน ที่ต้องเติบโตนอกครอบครัว เช่น ในสถานรองรับ ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ หรือแม้แต่ต้องโตในวัด ซึ่งแม้ว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในยามจำเป็น แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า… ระบบดูแลเหล่านี้ยังห่างไกลกับภาพฝันถึงความ
เหมาะสม?? ซึ่งสำหรับ “ทางเลือก” ที่จะสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงครอบครัวที่สุด…คือ “ระบบครอบครัวอุปถัมภ์” ที่ถือเป็นระบบดูแลเด็กที่ใกล้เคียงรูปแบบของครอบครัวแท้ ๆ

อย่างไรก็ตาม กรณี “ครอบครัวอุปถัมภ์” นี่ก็ต้องเผชิญความท้าทายจาก “คติความเชื่อ” ที่สังคมไทยมี ซึ่งตรงกับ “สำนวนไทย” คือ “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” ที่สะท้อน “ความคาดหวังกับการมีลูก” ของคนไทยที่ฝังแน่นมาแต่อดีต ทำให้ “ครอบครัวอุปถัมภ์” เสมือน “เมล็ดพันธุ์ที่เพาะไม่โต” โดยกับ “คำจำกัดความ” ครอบครัวอุปถัมภ์ พิชชากร ระบุไว้ว่า คือ… ครอบครัวรับดูแลเด็กชั่วคราวจนกว่าเด็กจะอายุ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้เด็กที่ไร้คนดูแลได้มีโอกาสเติบโตในครอบครัว แทนที่จะเข้าสถานสงเคราะห์ หรืออาจกล่าวได้ว่าครอบครัวอุปถัมภ์คือการ “ช่วยรัฐเลี้ยงเด็ก”

ถึงแม้การช่วยเช่นนี้จะมีข้อดีหลายด้าน แต่ไทยมีครอบครัวลักษณะนี้อยู่ราว 300 รายเท่านั้น โดยที่ “อุปสรรค” นั้น…มีที่มาจากหลาย ๆ สาเหตุ อาทิ… ระบบรับอุปถัมภ์เด็กนี้ ไม่สอดรับกับค่านิยมการเลี้ยงดูของสังคมไทย ที่คาดหวังให้ลูกโตมาเลี้ยงดูตอนแก่, กระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนในการรับอุปถัมภ์เด็ก และจาก เงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกับสภาพการใช้ชีวิตในยุคประจำวันจึงทำให้ครอบครัวคนไทยไม่อยากทำหน้าที่นี้ …ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้ระบบรับอุปถัมภ์เด็กไม่ได้รับความนิยมในสังคมไทย ที่ส่งผลให้จำนวน “ครอบครัวอุปถัมภ์” ในไทยนั้น…

มีน้อยมากเมื่อเทียบกับเด็กที่ต้องการ

“เงินที่รัฐจัดสรรเป็นเงินสนับสนุนให้ครอบครัวอุปถัมภ์ เดือนละ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือสนับสนุนเครื่องอุปโภคมูลค่าไม่เกิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เมื่อนำมาพิจารณาจากเงินค่าเลี้ยงดูเด็ก 1 คนที่คำนวณแบบการคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิต จะพบว่า ในหนึ่งเดือนต้องใช้เงินอย่างน้อย 3,305 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอแน่นอน” …นี่เป็นการฉายภาพกรณี “เงินสนับสนุนจากรัฐ” ในเรื่องนี้…ที่ “ไม่จูงใจให้คนสนใจเป็นครอบครัวอุปถัมภ์”

นอกจากเงินสนับสนุนของรัฐที่ยังไม่ตอบโจทย์ที่เป็นจริง…กับ “ขั้นตอนเอกสารที่ยุ่งยาก” ที่ก็เป็นอุปสรรคทำให้ คนไทยไม่อยากเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ มีการฉายภาพไว้ว่า… เพราะต้องมีการจัดการเรื่องเอกสารหลายอย่าง อาทิ ใบสูติบัตร ทะเบียนบ้านของเด็กที่ต้องการอุปถัมภ์ ซึ่งการจัดการเอกสารเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเอกสารที่ทางพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กจะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง …นี่ก็เป็นอีกปัญหาใหญ่เช่นกัน ที่ทำให้ “ระบบครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยไม่โต”

อย่างไรก็ดี พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์ ได้จัดทำ “ข้อเสนอแนะ” เพื่อจะ “ส่งเสริมให้เกิดระบบครอบครัวอุปถัมภ์เพิ่มขึ้น” ไว้ว่า… นอกจากความท้าทายเกี่ยวกับคติความเชื่อเดิม ๆ แล้ว การจะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นได้นั้น…ก็ น่าจะมีการ “บรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนปฏิบัติการระดับชาติ” ด้วย เพื่อผลักดันให้เด็กได้ออกจากสถานรองรับในระยะยาว และกลับไปอยู่ในการดูแลของระบบครอบครัว ซึ่งการจะพัฒนาครอบครัวอุปถัมภ์ในประเทศไทยได้นั้น ระบบจะต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไป ทั้งในเชิงเม็ดเงินสนับสนุนจากรัฐ และการจัดการระบบให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายและมากยิ่งขึ้น…

“จะทำให้ระบบนี้งอกเงยขึ้น รัฐต้องทำให้การอุปถัมภ์เด็กเป็นเรื่องได้มากกว่าเสีย เช่น เพิ่มเงินอุดหนุนให้เพียงพอ ลดความยุ่งยากที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันควรมีการใช้เครื่องมือเชิงอุดมการณ์เกี่ยวกับการสร้างครอบครัวในมิติต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างต่อรูปแบบครอบครัวใหม่ ๆ มากขึ้น เพื่อที่เด็กที่ไม่มีโอกาสเติบโตในบ้านตัวเองจะได้รับโอกาสให้ก้าวเข้าสู่สังคมได้อย่างมั่นคงและแข็งแรง” … นี่เป็นอีกส่วนจากข้อเสนอส่งเสริมกรณี “ครอบครัวอุปถัมภ์”…

เพื่อ “ลดจำนวนเด็กโตนอกครอบครัว”

ที่จะ “ลดความเสี่ยงปัญหาในวันหน้า”

โดย “สังคมก็ต้องปลดล็อกคติเดิม ๆ”.