เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่กำลังมาแรงจริงๆ สำหรับ #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ เพราะสังคมจับตามองว่า ที่ผ่านมาในโลกออนไลน์ มักจะเจอคอนเทนต์เกี่ยวกับเด็กๆ อาทิ คลิปเด็กร้องไห้เพราะเลิกกับแฟน หรือวิดีโอเด็กเขียนการ์ดให้ครอบครัวที่ล่วงลับ ซึ่งแม้บางกลุ่มจะมองว่าตลก, น่าสงสาร, น่าเอ็นดู แต่กลับลืมความสำคัญที่ว่า “เด็กๆ ได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า” ทั้งนี้จึงทำให้ประชาชนบางกลุ่มกังวลว่านี่เป็นการ “ละเมิดสิทธิเด็ก”

ล่าสุด “จิราภรณ์ อรุณากูร” หรือ หมอโอ๋ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เจ้าของเพจดัง @เลี้ยงลูกนอกบ้าน คือหนึ่งในกลุ่มที่กังวลถึงสิทธิเด็ก เธอจึงตัดสินใจสร้างแคมเปญรณรงค์ “กระทรวงศึกษาต้องปกป้อง #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ #TikTok” ผ่าน change.org 

โดยขอเชิญชวนให้ประชาชน ร่วมเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ออกกฎคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่ให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาใช้เด็กมาผลิตคอนเทนต์ เรียกยอดวิวตัวเอง หมอโอ๋เล็งเห็นว่า “เด็กๆ ไม่ได้ยินยอม ไม่รู้ตัว ไม่เข้าใจ ไม่ได้สนุกด้วย หรือปฏิเสธไม่ได้ เพราะกระทำโดยผู้มีอำนาจในโรงเรียน” พร้อมชี้ว่า “บางคอนเทนต์ถือเป็นการ social bullying ที่ส่งผลเสียและละเมิดสิทธิเด็ก”

ประเด็นหนึ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ คือคลิปไวรัลเหล่านี้มาจาก “ครู” ผู้มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิของเด็ก ทั้งๆ ที่โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิผู้อื่น แต่กลับกลายเป็นว่าเด็กๆ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างคอนเทนต์ให้ครู ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่ระวังของครู หรือเพราะกระทรวงไม่มีกฎที่ห้ามครูทำอย่างนี้กับเด็กโดยชัดเจน 

อย่างไรก็ตามผู้ตั้งแคมเปญเชื่อว่าเด็กๆ หลายคนคงรู้สึกไม่ดี เพราะ อะไรที่ลงไปในโลกออนไลน์ “มันจะอยู่ที่นั่นตลอดไป” ส่วนผู้ปกครองก็คงไม่อยากให้ใครมาถ่ายรูป อัดคลิปลูก ไปใช้ล้อเลียนเพื่อความสนุกสนาน หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว แต่เพราะความรู้สึกที่ว่า ครูมีอำนาจเหนือกว่า อาจทำให้เด็กหรือผู้ปกครองบางท่านไม่กล้าปฏิเสธ รวมถึงไม่กล้าว่ากล่าวอะไร

นอกจากนี้แคมเปญถูกสร้างขึ้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 65 ปัจจุบันมีผู้ร่วมสนับสนุนมากกว่า 1,500 ราย โดยผู้ร่วมลงชื่อเล็งเห็นคล้ายกันว่า “การที่ครูถ่ายคลิปเด็กทำคอนเทนต์ออนไลน์ เป็นการละเมิดสิทธิของเด็กอย่างแท้จริง”

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @เลี้ยงลูกนอกบ้าน