ดังเช่น “กิจกรรม ธ.ก.ส. ปันน้ำใจ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ซึ่งนี่เป็นความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. กับ สำนักงาน กปร. โดย “มอบถังน้ำ” ให้แก่ ศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง ในภาคเหนือ 29 แห่ง…

เพื่อ “ช่วยเหลือบรรเทาปัญหาขาดน้ำ”

ช่วยผู้คน “ในพื้นที่ห่างไกลที่มีภัยแล้ง”

ทั้งนี้… “นอกจากจะส่งเสริมให้เด็ก ๆ และประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งแล้ว ยังสนับสนุนให้เด็ก ๆ มีความรู้ด้านเกษตร ทั้งเลี้ยงไก่ไข่ ปลูกผักใช้น้ำน้อย เพื่อเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน รวมทั้งยังส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมอีกด้วย” …ทาง ณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เกี่ยวกับ “กิจกรรม ธ.ก.ส.ปันน้ำใจ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ในโอกาสที่นำคณะ พร้อมด้วย ไพศาล หงษ์ทอง และ สุนัน พงศ์ประยูร ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ บ้านห้วยแห้ง อ.แม่ระมาด จ.ตาก ไปทำกิจกรรมส่งมอบถังบรรจุน้ำ พร้อมมอบอุปกรณ์การเรียนให้นักเรียน ที่ ศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง เมื่อเร็ว ๆ นี้

ทาง ณรงค์ ยังได้ระบุอีกว่า… ภูมิอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน ทำให้ภัยแล้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งประชาชน เกษตรกร ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและตามพื้นที่สูง ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยมักจะเกิดปัญหาขาดน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ซึ่งทาง ธ.ก.ส. ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการขับเคลื่อนภารกิจด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมนี้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับ “กิจกรรม ธ.ก.ส. ปันน้ำใจ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ธ.ก.ส. ได้ร่วมมือกับ สำนักงาน กปร. ดำเนินการ ภายใต้โครงการตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมอบถังน้ำ ฐานรองรับ รางรินน้ำ ให้ศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง ในเขตภาคเหนือ ทั้งที่ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก โดยหวังบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำให้ประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ให้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภค และมีน้ำสำหรับประกอบอาชีพ ซึ่งนำร่องส่งมอบถังเก็บน้ำ 1,000 ลิตร ให้ศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง บ้านห้วยแห้ง อ.แม่ระมาด จ.ตาก ส่วนที่อื่น ๆ ก็อยู่ระหว่างเคลื่อนย้ายไปให้ ซึ่งจะมีการเร่งดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน

รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ให้ข้อมูลต่อไปว่า… กิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่มอบถังน้ำอย่างเดียว ถ้ามอบถังน้ำแต่ไม่ได้ให้ความรู้ ที่สุดก็จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นจึงมีการให้ความรู้เสริมด้วย และ ธ.ก.ส. มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ไปสำรวจชุมชนในพื้นที่ทั้ง 29 แห่งก่อน เพื่อสำรวจดูว่า…นอกจากถังน้ำแล้วชุมชนยังต้องการอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งผลสำรวจพบว่า…หลายแห่งต้องการฐานรองถังเก็บน้ำด้วย ทำให้ต้องเร่งจัดทำฐานรองด้วย ขณะที่หลายแห่งต้องการรางรับน้ำฝน ซึ่งก็ต้องทำเพิ่ม หรือบางแห่งด้วยสภาพพื้นที่จำเป็นต้องดึงน้ำขึ้นที่สูง ทาง ธ.ก.ส. ก็เพิ่มปั๊มน้ำให้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์สูงสุด

ที่สำคัญ…นอกจากส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สูงมีน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคช่วงหน้าแล้งแล้ว ธ.ก.ส. ยังสนับสนุน โครงการเพื่ออาหารกลางวันเด็ก ๆ ที่ศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง ด้วยการเข้าไปส่งเสริมด้านต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไก่ไข่ ปลูกผักชนิดที่ใช้น้ำน้อย หรือแม้แต่การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ รวมถึงส่งเสริมอาชีพยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย โดยพนักงาน ธ.ก.ส. ได้เข้าไปสำรวจความต้องการของแต่ละชุมชน ถ้าชุมชนใดมีความพร้อมทำอาชีพเสริมก็จะส่งทีมเข้าไปพัฒนาอาชีพให้ทันที ซึ่งเมื่อได้ผลผลิต นอกจากชาวบ้านจะได้นำผลผลิตไปใช้บริโภคในครัวเรือน หรือเหลือก็แบ่งปันกันในชุมชนแล้ว ยังสามารถนำไปจำหน่ายให้ชุมชนใกล้เคียง เพื่อเป็นรายได้เสริมของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ นอกจากรายละเอียดและเป้าหมายของกิจกรรมที่ทาง ธ.ก.ส. ร่วมกับ สำนักงาน กปร. จัดทำขึ้นแล้ว ก็ลองมาฟัง “เสียงคนในชุมชน” เกี่ยวกับกิจกรรมนี้ดูบ้าง… โดย ทรงจักร จินา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านห้วยแห้ง อ.แม่ระมาด จ.ตาก ได้ระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… ในปัจจุบันหมู่บ้านมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จากเดิมมีประชากรเพียง 50-60 ครัวเรือน แต่ปัจจุบันขยายเป็นกว่า 175 ครัวเรือนแล้ว ซึ่งเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้น้ำก็จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่แหล่งน้ำหลักที่ชุมชนใช้นั้น เป็นประปาภูเขาจากต้นน้ำขุนห้วยแห้ง ซึ่งเป็นเพียงแหล่งน้ำเล็ก ๆ ที่ไม่ได้เพิ่มตามจำนวนประชากร จึงส่งผลให้ชาวบ้านมีน้ำไม่เพียงพอที่จะใช้ได้ทั้งปี …นี่เป็นสภาพปัญหาที่เกิดกับชาวบ้านที่นี่ ที่ทาง ธ.ก.ส. ได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ

ทางผู้ใหญ่บ้านยังสะท้อนปัญหาไว้อีกว่า… จากทรัพยากรน้ำที่มีจำกัด ส่งผลให้ในฤดูแล้งชาวบ้านจึงเดือดร้อนมาก โดยฤดูแล้งกินเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึงเดือน มิ.ย. ซึ่งน้ำอุปโภคบริโภคขาดแคลนหนัก โดยที่ผ่านมาจะแก้ปัญหาด้วยการขอรับน้ำจาก อบต. ที่จะนำน้ำมาส่งให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง นำมาใส่ถังน้ำตามจุดบริการต่าง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้

“การได้รับถังเก็บน้ำจาก ธ.ก.ส. จะช่วยชาวบ้านได้เยอะมาก โดยเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบและปัญหาในเรื่องน้ำดื่มในช่วงฤดูแล้ง” …ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมระบุ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญภายใต้ภารกิจด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ “ธ.ก.ส.” ดำเนินการมาต่อเนื่อง และนี่ก็ยังเป็นกิจกรรมที่เป็นกรณีศึกษาที่ดีในการช่วยพื้นที่ประสบภัยแล้ง

“ช่วย” โดย “ควบคู่กับส่งเสริมความรู้”

“คีย์เวิร์ด” คือ “ตอบโจทย์พื้นที่จริง ๆ”.