ทั้งนี้ กับกรณีดังกล่าวก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสภาพรวมกรณี “หวง” ในแบบที่เป็นการ “หึงหวง” ล่ะก็…ในไทยระยะหลัง ๆ มีเรื่องราวแบบจบไม่สวยบ่อย ๆ อีกทั้งบางเรื่องนำไปสู่ “ความรุนแรง-เหตุน่าสลดใจ” จนเกิด “ปุจฉา” ถึง “พฤติกรรมที่แสดงออก” เช่นนี้??

“ความหวง” ที่มี “มากล้นเกินพอดี”…

กรณีแบบนี้ “ถือว่าป่วยทางจิตมั้ย??”

เกี่ยวกับ “ความหวง” หรือการ “แสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ” นั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นน่าสนใจที่แม้แต่ในทางการแพทย์ ผ่าน “มุมจิตวิทยา” ก็ให้ความสนใจ ได้มีการศึกษาเรื่องนี้ เพราะถือเป็น “หนึ่งในอารมณ์ของมนุษย์” ที่ทุกคนล้วนมีได้ ซึ่งกรณี “หวงมากเกินไป” หรือ “แสดงอาการเป็นเจ้าของเกินเหตุ” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้ เรื่องนี้มีข้อมูลแง่มุมที่น่าสนใจ ที่ทาง นิลุบล สุขวณิช นักจิตวิทยาการปรึกษา และนักเขียนของ เว็บไซต์ iSTRONG ได้อธิบายเรื่อง “ความหวง” ไว้ผ่านบทความในเว็บไซต์ดังกล่าว หลักใหญ่ใจความมีว่า… อาการ “เกินเหตุ-เกินไป” อาจเข้าข่ายภาวะที่เรียกว่า “โอเทลโลซินโดรม (Othello Syndrome)” ที่ผู้มีภาวะนี้จะแสดงความหวงเกินเหตุ แสดงอาการหวงมากเกินไป…

ชาย หญิง เพศใด ๆ ก็อาจเกิดได้!!!

ทั้งนี้ ทาง นิลุบล นักจิตวิทยาผู้เขียนบทความนี้ได้อธิบายไว้ถึงภาวะที่เรียกว่า Othello Syndrome ว่าเป็นชื่อที่มีที่มาจากชื่อตัวละครของ William Shakespeare ในเรื่อง Othello, Moor of Venice โดยในเรื่องนั้นตัวละครตัวนี้ได้เกิดความรู้สึกหึงหวงและหวาดระแวงว่าคนรักของตนเองจะเป็นชู้กับชายอื่น จึงได้สังหารคนรักของตนและฆ่าตัวตายตาม นักจิตวิทยาจึงนำชื่อตัวละครตัวนี้มาใช้เรียก “พฤติกรรมที่มีอารมณ์หึงหวง” นั่นเอง …นี่เป็นคำอธิบายถึง “ที่มาของชื่อเรียก” ภาวะดังกล่าวนี้

ภาวะ Othello Syndrome นี้ ยังถูกเรียกในอีกหลาย ๆ ชื่อด้วย อาทิ Delusional Jealousy, Erotic Jealousy Syndrome, Morbid Jealousy, Othello Psychosis หรือแม้แต่ Sexual Jealousy ซึ่งหมายถึง…การที่บุคคล มีจินตนาการขึ้นมาว่าคนรักของตนกำลังแอบนอกใจ หรือแอบไปมีคนอื่น โดยที่บุคคลนั้น มักจะเชื่อจินตนาการของตนเองอย่างหนักแน่นว่าคือความจริง จนส่งผลทำให้เกิดพฤติกรรม “หึงหวง” ซึ่งบางรายก็อาจขยับไปขั้นที่ยิ่งกว่า…คือมี “พฤติกรรมแบบหึงโหดกว่าปกติ” หรือถึงขั้นมีการลงไม้ลงมือกับคนรัก หรือฆาตกรรมคนรัก เพราะความหึงหวงที่มากล้นเกินไป!!

สำหรับ “ผู้ที่เข้าข่ายโอเทลโลซินโดรม” นั้น ในบทความดังกล่าวให้ “วิธีสังเกต” ไว้ดังนี้คือ… มักจะชอบกล่าวหาคนรัก ว่านอกใจ ไม่ซื่อสัตย์ ยิ่งถ้าเห็นคนที่รักไปทำดีกับคนอื่นก็จะคิดระแวงขึ้นมาทันที, มักจะชอบรุกล้ำความเป็นส่วนตัว หรือชอบสะกดรอยตาม หรือชอบตรวจเช็กโทรศัพท์คนรักดูว่าติดต่อใครบ้าง, แสดงความหึงหวงที่รุนแรงชัดเจน เช่น ไม่ยอมให้คนรักมีเพื่อนต่างเพศเลย, ขาดความสามารถควบคุมตนเอง เช่น คิดอะไรก็พูดหรือทำเลย, หมกมุ่นกับการหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าคนรักนอกใจ แม้ไม่เจอหลักฐานก็ยังเชื่อว่าคนรักนอกใจอยู่ดี …นี่เป็นอาการโดยสังเขปของผู้ที่เกิดภาวะนี้…

“โอเทลโลซินโดรม-หวงจนเกินเหตุ”

ทาง นิลุบล สุขวณิช ยังระบุไว้อีกว่า…ปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดภาวะโอเทลโลซินโดรม?? อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้สันนิษฐาน “สาเหตุอาการ” ไว้ดังนี้คือ… เกิดจากบาดแผลทางใจวัยเด็ก มีวัยเด็กที่ต้องอาศัยอยู่กับผู้เลี้ยงดูที่เป็นคนเอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือเคยเห็นพ่อแม่ของตนถูกนอกใจ, มีความผูกผันทางอารมณ์แบบไม่มั่นคง ส่งผลให้กลายเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจและมั่นใจในตนเองน้อย, ใช้สารเสพติด จนส่งผลให้การทำงานของสมองผิดปกติ หรือ มีอาการจิตเวชอื่นร่วมด้วย เช่น โรคจิตเภท โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง …นี่เป็นข้อสันนิษฐานสาเหตุ

ส่วน “การรักษา” นั้น ทางผู้เขียนบทความดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า… แม้ “โอเทลโลซินโดรม” จะไม่ได้เป็นโรคที่มีระบุไว้ในคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช แต่อาการหึงหวงจนเกิดหวาดระแวงเกินความจริง มีความคล้ายคลึงกับอาการหลงผิด (Delusional) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคจิต (Psychosis)โดยผู้มีอาการมักไม่อยู่ในโลกความเป็นจริง และมักจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิดตนเอง ถึงแม้จะมีหลักฐานมาหักล้างหรือโต้แย้งก็ตาม ที่สำคัญภาวะนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยบุคคลที่มีอาการรุนแรงอาจมีการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา หรือได้รับการช่วยเหลือ

ทั้งนี้ วิธีการรักษานั้น อาทิ รักษาด้วยยา เพื่อลดอาการหลงผิดหวาดระแวงให้ลดลง, รักษาด้านจิตสังคม ที่ก็เป็นส่วนสำคัญของการรักษา เพราะแม้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้ว แต่ปัญหาด้านสังคมอาจยังคงอยู่ จึงต้องรักษาควบคู่กันไป เช่น ทำจิตบำบัด ทำกลุ่มบำบัด เป็นต้น ซึ่งการรักษาอาการนี้จะขึ้นกับระดับความรุนแรงของความหวง หากไม่ได้มีพฤติกรรมรุนแรงต่อตนเองและผู้อื่น ก็อาจไม่ถึงขั้นมีอาการหลงผิด แต่อาจเกิดจากความเครียดหรือความกดดันอื่น ๆ แต่กรณีที่รู้สึก หรือคนใกล้ตัวสัมผัสได้ ถึง “อาการรุนแรงผิดปกติ” ก็ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ หรือนักจิตวิทยา …นี่เป็น “คำแนะนำ”

โบราณระบุไว้ “ไฟหึงเผาทุกสิ่งไหม้ได้”

“เข้าข่ายเสี่ยง” ควร “ดับไฟแต่เนิ่น ๆ”

“ลามสู่โอเทลโลซินโดรม…ไม่ดีแน่!!”.