ทั้งนี้ เนื้อหาที่มีการโพสต์ค่อนข้าง “ดุเดือด” และก็ร้อนถึงขั้นโรงพยาบาลที่ถูกพาดพิงมีการ “แจ้งความ” ลงบันทึกประจำวันไว้ แต่ที่ดุเดือดกว่าคือกระแสวิจารณ์ในโลกโซเชียลที่มีต่อกรณีนี้ โดยที่ส่วนใหญ่หนักไปทาง “ทัวร์ลงเจ้าของโพสต์” ดังกล่าว จนเป็นอีก “ดราม่าเดือดหลังสงกรานต์” …ซึ่งกับกรณีดังกล่าวนี้ก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสที่ “ใบรับรองแพทย์” ล่ะก็…

“มีนิยาม-หลักเกณฑ์” ที่กำหนดไว้

รวมถึง “มีข้อคิด” ที่นับว่าน่าสนใจ

จาก “มุมคุณหมอ” ที่ก็ “น่าพิจารณา”

เรื่อง “ใบรับรองแพทย์” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้… เป็นข้อมูลจากบทความที่เผยแพร่ไว้ใน จดหมายข่าวหมายเหตุแพทยสภา ฉบับที่ 11 ประจำวันที่ 15 พ.ค.–15 มิ.ย. 2557 ซึ่งมีคุณหมอ 2 ท่านที่ให้ “ความรู้เกี่ยวกับใบรับรองแพทย์” ผ่านบทความในจดหมายข่าวดังกล่าว ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นความรู้ที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไป…

เพื่อ “เข้าใจเกี่ยวกับใบรับรองแพทย์”

เริ่มจากบทความชิ้นแรก ซึ่งให้ความรู้ไว้โดย ศ.คลินิก นพ. อำนาจ กุสลานันท์ ผ่านคอลัมน์ “หมอกับกฎหมาย” ที่ได้ให้ “ข้อคิด-ข้อเตือนใจ” เกี่ยวกับ “กรณีใบรับรองแพทย์” เอาไว้ โดยสังเขปนั้นมีว่า… ระยะหลัง เริ่มพบแนวโน้มข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการออกใบรับรองแพทย์ของแพทย์บ่อยครั้ง ที่มีหลาย ๆ กรณีแตกต่างกันไป อาทิ… “นายจ้างสงสัยความน่าเชื่อถือ” แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์ให้ลูกจ้างของตนเอง หลังจาก ลูกจ้างใช้ใบรับรองแพทย์ลาป่วยบ่อย หรือ… “ไม่ป่วยแต่ให้เขียนป่วย” ลงในใบรับรองแพทย์ ขอให้แพทย์เขียนให้เพื่อนำไปใช้ลาพักโดยไม่ถูกหักค่าจ้าง และ เมื่อแพทย์ไม่เขียนให้ก็มีการร้องเรียนแพทย์ ที่ไม่ยอมเขียนให้ …ซึ่งกรณีที่เป็นตัวอย่างที่มีการนำมาสะท้อนต่อนี่ ณ ที่นี้ก็ขอเน้นย้ำว่า…

มิใช่กรณีที่เพิ่งเกิดดราม่าแต่อย่างใด

เพียงแต่อาจจะมีรูปการณ์ที่คล้าย ๆ

ดูกันต่อจากข้อมูลที่ ศ.คลินิก นพ.อำนาจ ได้ระบุไว้ในบทความ… ซึ่งยังได้มีการยกตัวอย่างอื่น ๆ เคสอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ที่มักจะพบเจอจากกรณีการขอ “ใบรับรองแพทย์” โดยกรณีอื่น ๆ ที่เคยมี-เคยเกิด ก็เช่น… “ขอให้แพทย์เขียนอาการเกินจริง” เพราะอยากลาพักให้นานขึ้น, “ญาติคนไข้กดดันให้แพทย์เขียนยืนยันสาเหตุ” เช่นเลือดออกในสมอง แต่ให้เขียนว่าเป็นอุบัติเหตุ เพื่อจะไปยื่นขอสินไหมจากประกัน, “ครอบครัวคนไข้ไม่พอใจใบรับรองแพทย์” ที่แพทย์เขียนให้ เพราะไม่เป็นไปตามความต้องการของครอบครัว …นี่เป็น “เคสตัวอย่าง” ที่คุณหมอท่านดังกล่าวบอกเล่าฉายภาพไว้ให้สังคมได้รับรู้

เคสเหล่านี้ “จบที่แพทย์ถูกร้องเรียน”

เนื่องจาก “ไม่ทำตามที่ฝ่ายคนไข้ขอ”

ทาง ศ.คลินิก นพ.อำนาจ ยังให้ “คำแนะนำต่อแพทย์” เพื่อป้องกันการถูกร้องเรียนเรื่อง “ใบรับรองแพทย์” ไว้ด้วยว่า… ผู้เขียนใบรับรองแพทย์จะต้องเป็นแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม, ต้องมีการตรวจร่างกายที่จำเป็นตามที่กำหนดก่อนจะออกใบรับรองแพทย์เสมอ, การเขียนใบรับรองให้คนไข้ลาพักขึ้นกับดุลพินิจ แต่ก็ควรมีหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ, ต้องเขียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต้องตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง …นี่เป็นคำแนะนำจากคุณหมอท่านนี้ กับการเขียนใบรับรองแพทย์ให้ไม่ถูกร้องเรียนซึ่ง “เรื่องแพทย์เรื่องนี้ก็สะท้อนให้สังคมเข้าใจได้” ว่า…

“ใบรับรองแพทย์” นั้น “ต้องเช่นไร?”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ความสำคัญ” ของ “ใบรับรองแพทย์” ที่หลายคนอาจจะคิดว่าไม่ได้สำคัญอะไรนักหนานั้น… ความเป็นจริงแล้ว มีความสำคัญมากในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งก็มีข้อมูลจากอีกหนึ่งบทความ โดย นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ ที่ก็ได้อธิบายไว้ใน จดหมายข่าวหมายเหตุแพทยสภา ฉบับดังกล่าวข้างต้น โดยสังเขปมีว่า… “ชื่อเต็ม” ของใบรับรองแพทย์คือ “ใบรับรองแพทย์เพื่อการรับรองสุขภาพ (Medical Certificate For Certifying The Health)” และใบรับรองแพทย์ก็ อาจจำแนก “ประเภท” ได้โดย “เหตุผล” ที่ผู้ป่วยต้องการ เช่น เกี่ยวข้องกับการตรวจรักษา, เกี่ยวกับการเบิกค่ารักษา, เกี่ยวกับการลางาน, เกี่ยวกับประกัน, เกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินการทางคดี เป็นต้น …นี่เป็นการจำแนกประเภท

“ใบรับรองแพทย์” นั้นได้ถูกนำไปใช้ในหลากหลายวัตถุ ประสงค์ อาทิ…เพื่อยืนยันการเข้ารับการตรวจรักษาจริง, เพื่อรับรองสุขภาพ เช่น เพื่อการศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ, เพื่อการเดินทางไปต่างประเทศ, เพื่อการเล่นกีฬา, เพื่อการสมัครงาน เพื่อสมัครงานอาชีพเฉพาะ เช่น คนขายอาหาร ผู้ดูแลผู้ป่วย-ดูแลเด็ก, เพื่อขออนุญาต เช่น ขอทำใบขับขี่ ฯลฯ…เหล่านี้เป็นตัวอย่างวัตถุประสงค์ “การใช้ใบรับรองแพทย์” ซึ่งก็แน่นอนว่า “ความเป็นจริงสำคัญ”

“ใบรับรองแพทย์” คือ “เอกสารสำคัญ”

ใบนี้ “มิใช่อะไรที่จะขอดังที่ใจหวังไว้”

แล้ว “พอไม่ได้ดังหวังก็เหวี่ยงหมอ!!”.