เริ่มต้นที่ ปีมะเมีย เสริมสิริมงคลคนปีม้า ที่ “วัดพระบรมธาตุบ้านตาก” หรือพระธาตุเจดีย์ชเวดากอง ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะคา ใจกลางเมืองตากเก่า อ.บ้านตาก จ.ตาก เชื่อกันว่าการได้มากราบไหว้พระบรมธาตุที่นี่แทนเจดีย์ชเวดากองที่พม่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี จะมีการจัดประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9 ด้วย มาถึงจังหวัดตากแล้วต้องไปสักการะ “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” แล้วไปเดินเล่นที่ย่านการค้าเก่า “ตรอกบ้านจีน” แม้วันนี้บรรยากาศความคึกคักของชุมชนค้าขายอาจไม่หลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบัน แต่ตรอกบ้านจีนก็ยังคงมีบ้านเก่าที่ได้รับการรักษาสภาพเดิมให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม แวะชิมเบเกอรี่ที่ “เถียงนา coffee and Bakery Farm” ที่มีดีมากกว่าแค่ครัวซองต์

ไปแชะแล้วแชร์ที่ “สะพานแขวนสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี” องค์การบริหารส่วนจังหวัดตากสร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 ลักษณะเป็นสะพานแขวนลวดสลิง พื้นไม้ ข้ามแม่นํ้าปิงระหว่างเทศบาลเมืองตาก และตำบลป่ามะม่วง ไปชมความมหัศจรรย์ “ไม้กลายเป็นหิน” ในอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย แวะช้อปสินค้า GI “ครกหินแกรนิต” อ.บ้านตาก ชิมอาหารถิ่น “แกงมะแฮะ” ร้าน Wattana Hip แล้วไปร่วมกิจกรรม Eco Print ผ้าพิมพ์ลายใบไม้ที่ “ไร่ตะวันเชิงดอย” หากยังไม่หมดแรงไปนั่งรถรางไฟฟ้าเที่ยวชมสันเขื่อนภูมิพล หรือปั่นจักรยานเที่ยว

ไปที่เชียงใหม่ที่มีเส้นทางไหว้พระธาตุสำหรับคน ปีมะเส็ง ปีมะแม ปีมะโรง ปีชวด และ ปีจอ เรียกว่ามาพร้อมกันก็ร่วมเดินทางสักการะพระธาตุปีอื่น ๆ ไปด้วยได้ เริ่มต้นด้วย “วัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร” พระธาตุประจําคนเกิดปีชวด สถานที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุ พระธาตุส่วนที่เป็นพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดเท่าเมล็ดพุทรา สัณฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือนดอกบวบ หรือสีคล้ายดอกพิกุลแห้ง ประเพณีเด่นของวัดคือ การแห่ไม้คํ้าโพธิ์ จัดขึ้นเป็นประจําทุกวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี

“วัดพระธาตุดอยสุเทพ ราชวรวิหาร” ประจําปีมะแม ตั้งแต่อัญเชิญพระธาตุมาประดิษฐานบนยอดเขาเมื่อปี พ.ศ. 1927 หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างพระเจดีย์ครอบองค์พระธาตุ สร้างพระอุโบสถและบันไดนาคต่อด้วย “เจดีย์ศรีมหาโพธิพุทธคยา วัดเจดีย์เจ็ดยอด” พระธาตุประจําปีมะเส็ง วัดที่สมเด็จพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายของล้านนา โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1998 และเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก

“วัดเกตการาม” พระธาตุประจําปีจอ ประดิษฐานพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี กล่าวกันว่าเป็นพระทันตธาตุที่พระอินทร์นำมาจากพระบรมธาตุที่โทณพราหมณ์ได้แอบซ่อนไว้ เมื่อครั้งมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าให้แก่เจ้าเมืองต่าง ๆ “วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระพุทธสิหิงค์” พระธาตุประจําปีมะโรง มีประวัติยาวนานกว่า 655 ปี เดิมชื่อ “วัดลีเชียงพระ” หมายถึง วัดที่ตั้งใกล้ตลาดกลางเมือง ในสมัยกษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานสักการะพระธาตุประจำปีเกิดแล้วอย่าลืมแวะไปเช็กอินที่ “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” แล้วช้อปสินค้าของฝากที่ดีต่อใจและดีต่อโลกที่ “กาดจริงใจ”

คนปีกุนต้องไปที่เชียงรายสักการะ “พระธาตุดอยตุง” เจดีย์สีทองอร่าม 2 องค์คู่กันในรูปแบบทรงปราสาทยอดทรงระฆังกลมขนาดเล็ก ตำนานกล่าวว่า นี่คือเจดีย์แห่งแรกในอาณาจักรล้านนาอันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ที่พระเจ้าอชุตราชทรงอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย อิ่มบุญแล้วมาอิ่มใจที่ “โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดําริ”

ไปคลีนอัพกายและใจที่ “ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน” ออกไปสัมผัสเรื่องราววิถีเกษตรอินทรีย์พร้อมชิมอาหารปลอดสาร
ที่ “ไร่รื่นรมย์” กลับเข้ามาชมความงดงามของพระอุโบสถสีนํ้าเงินของ “วัดร่องเสือเต้น” แล้วออกไปเรียนรู้เรื่องราวของชาวแม่สลองที่ “พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือประเทศไทย” แวะสักการะ “พระบรมธาตุศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี” สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) แล้วอย่าลืมเช็กอินที่ “Street Art แม่สลอง” กับภาพที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนแม่สลอง วิถีชีวิตบริเวณถนนวัฒนธรรม สินค้าท้องถิ่นของกินพื้นบ้านและตลอดถนนเส้นหลักของดอยแม่สลอง

เสร็จแล้วลงจากดอยเลยไปช้อปที่ “ตลาดการค้าชายแดน อ.แม่สาย” ตบท้ายด้วยการไปสัมผัสวิถีชุมชนที่ “ชุมชนบ้านปางห้า” ชุมชนเล็ก ๆ เลียบชายฝั่งแม่นํ้ารวก เรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านจากปราชญ์ชุมชนหลากหลายแขนงจะมาแบบวันเดย์ทริปหรือค้างแรมสักคืนจะได้มีเวลาชิมพิซซ่าไทลื้อ ข้าวซอยน้อย และข้าวแรมฟืน อาหารตำรับไตลื้อ

ถัดมาที่ชาว ปีฉลู และ ปีระกา กับเส้นทางเสริมสิริมงคลลำพูน-ลำปาง เริ่มต้นที่ “สถานีรถไฟลำปาง” อีกหนึ่งความคลาสสิกของสถานีรถไฟที่ยังคงหลงเหลืออยู่ จากนั้นไปชมสถาปัตยกรรมวัดพม่าที่มีมากมายในตัวเมืองลำปาง เพิ่มเติมสีสันด้วยการนั่งรถม้าชมวัดแบบสไลว์ไลฟ์ แวะทำความรู้จักลำปางมากขึ้นที่ “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง” ก่อนจะไปทดสอบฝีมือการปั้นและเพนต์ที่ “พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี” มาถึงลำปางอย่าพลาดการไปทำความคุ้นเคยกับช้างที่ “สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ” ชมการแสดงช้าง การอาบนํ้าช้าง การขี่ช้างชมธรรมชาติ การชมวิถีชีวิตช้างโขลง การฝึกควาญช้าง รวมไปถึงการพักโฮมสเตย์เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตช้าง

ได้เวลาสายมูสตาร์ตที่ “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ตั้งอยู่ ณ ใจกลางเมืองลำพูน ต่อด้วย “วัดจามเทวี” ชาวบ้านเรียกว่าวัดกู่กุด สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1298 โดยฝีมือช่างละโว้ ลักษณะพระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย

“วัดพระธาตุดอยพระฌาน” ตั้งอยู่บนยอดดอยพระฌาน แต่เดิมบนยอดเขามีเพียงซากอิฐปรักหักพังซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เต็มไปด้วยเรื่องราวลี้ลับ ปัจจุบันมีพระธาตุดอยพระฌาน เป็นเจดีย์สีขาวมีปลียอดและฉัตรสีทอง เป็นองค์พระธาตุที่มีมาแต่ดั้งเดิม และพระไดบุทสึ ประดิษฐานโดดเด่นอยู่บนเนินเขา สุดท้ายที่ “วัดพระธาตุลำปางหลวง” พระธาตุประจำปีฉลู วัดไม้ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยมีสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่และงดงาม อีกทั้งยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู โดยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จสิ้นในปีฉลู
เช่นเดียวกัน

ปีขาล และ ปีเถาะ ต้องไปเสริมสิริมงคลที่แพร่-น่านเริ่มด้วย “วัดพระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุประจำของคนเกิดปีเถาะ ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท แล้วไป “นั่งรถรางชมเมืองเก่าน่าน” แวะชมภาพจิตรกรรมฝาผนังกระซิบรักที่ “วัดภูมินทร์” สักการะพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางประทานอภัยที่ “วัดพระธาตุช้างคํ้าวรวิหาร” แล้วไปเช็กอินที่ “ซุ้มลีลาวดี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน”

ชมเรือนไม้โบราณ “พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น” เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ที่ “บ้านเชียงยืน” ฟังเรื่องราวของผ้าทอมือพร้อมช้อปของฝากที่ “บ้านซาวหลวง” แล้วไปชมเมืองน่านในมุมสูงที่ “วัดพระธาตุเขาน้อย” พร้อมสักการะพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาถึงน่านแล้วอย่าลืมแวะไป “วัดถํ้าเชตวัน” 1 ใน 25 อันซีนไทยแลนด์ ปี 2566 จากพื้นที่รกร้างครูบาน้อย พัฒนาจนกลายเป็นพุทธสถานและสถานที่ปฏิบัติธรรมอันสวยงาม ไม่ไกลกันมีกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง “ชุมชนบ้านหนองห้า” ให้แวะชมและช้อป

ต่อไปที่แพร่กับ “บ้านมัดใจ” คาเฟ่ในบ้านไม้หลังเล็กท่ามกลางธรรมชาติที่มีเวิร์กช็อปงานคราฟต์ ให้ผู้มาเยือนได้ลงมือสร้างสรรค์งานศิลปะบนผืนผ้าและเซรามิกเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบ แล้วไปเช็กอินที่ “คุ้มเจ้าหลวง” สถาปัตยกรรมเรือนขนมปังขิงหลังแรก ต่อด้วย “คุ้มวงศ์บุรี” เรือนรักสีชมพูมรดกเรือนไม้ที่มีชีวิตแห่งยุคสมัย ชิมและช้อปที่ “กาดกองเก่า” จบด้วย “Sight Seeing Night Tour ผ่อบ้านแอ่วเวียงยามคํ่า” ชมวัด ชมเมืองยามคํ่าคืน

คนปีขาลไปสักการะพระธาตุที่ “วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง” ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุส่วนของพระศอกข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า ก่อนกลับแวะหาซื้อเสื้อหม้อห้อมที่ “บ้านทุ่งโฮ้ง” แหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุด.

อธิชา ชื่นใจ