ซึ่งเรื่องนี้ พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ท่านก็ตั้ง “ปุจฉา” ทั้งนี้ แวดวงพุทธไทยหลัง ๆ มีกรณี “พระสงฆ์ทำผิด” ไม่หยุดหย่อน ซึ่งมิใช่แค่พระใหม่ กับพระอาวุโส หรือแม้แต่พระชั้นผู้ใหญ่ ก็ยังมีส่วนที่ “มีเหตุชวนอึ้ง!!”…

เหตุเดิม ๆ เรื่อง “เงิน-สีกา” ยังอื้ออึง

“ดวลหมัดกันกลางวงญาติโยม” ก็มี!!!

ทั้งนี้ กับแง่มุมการวิเคราะห์ที่พยายามกะเทาะ-สะท้อนเรื่องนี้ ก็มีบทความวิชาการชิ้นหนึ่งที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ ซึ่งเป็นการ “วิเคราะห์ปัญหาพระสงฆ์กระทำผิด” ทั้งทางพระวินัยและทางกฎหมาย เป็นบทความวิชาการ “พระสงฆ์ทำผิดพระวินัยและกฎหมาย : จุดอ่อนและวิธีแก้ไข” ที่เผยแพร่ไว้ใน วารสารพุทธศาสน์ศึกษา ฉบับที่ 23 เดือน พ.ค.-ส.ค. ปี 2559 จัดทำโดย ศ.ดร.วัชระ งามจิตเจริญ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแม้บทวิเคราะห์-บทความนี้จะมีการจัดทำและเผยแพร่ไว้นานมากแล้ว…แต่ถึงวันนี้ก็ยังคง “ร่วมสมัย” ยังสอดรับกรณีปัญหายุคนี้

กรณี “ปัญหาพระสงฆ์ประพฤติผิด!!”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง ศ.ดร.วัชระ สะท้อนไว้ว่า… สังคมอาจมองต่างมุมกันเกี่ยวกับการทำผิดพระวินัยและกฎหมายของพระสงฆ์ แต่อาจกล่าวได้ว่า…ปัญหาพระสงฆ์ทำผิดนั้น “จุดอ่อน” ที่ทำให้พระสงฆ์ทำผิดก็อาจมีที่มาทั้งที่เกิดจาก “ปัจจัยภายใน-ปัจจัยภายนอก” เช่น ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ โครงสร้างระบบการปกครอง การขาดการปฏิบัติด้านจิตตภาวนา ตลอดจนอาจจะเกิดจาก สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป ที่ชาวบ้านไม่ได้มีการเข้าร่วมดูแลคณะสงฆ์ ประกอบกับ องค์กรภาครัฐไม่มีระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพ… ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่สามารถดูแลพระสงฆ์ใกล้ชิด…

จน “เกิดจุดอ่อนเอื้อให้พระกระทำผิด”

ทาง ศ.ดร.วัชระ ระบุไว้อีกว่า… “พระสงฆ์” ในหลักทางพระพุทธศาสนาถือเป็นบุคคลผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบควรค่าแก่การกราบไหว้ เพราะเป็น “ผู้ประพฤติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า” โดยมีพระวินัยเป็นกฎระเบียบและแนวทาง อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลง ประกอบกับไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงระบบ-กลไก ทำให้โครงสร้างมีปัญหา และจากการที่สังคมเปลี่ยนเป็น “สังคมบริโภค” นั้น…ก็ยิ่งส่งผลทำให้ “วัดยุคใหม่เปลี่ยนไป” จากเดิมที่เคยอยู่กับระบบธรรมชาติ แต่ในยุคนี้จะเห็นว่า… ในวัดนั้นมี “สิ่งอำนวยความสะดวก” มากมาย และเมื่อสิ่งเหล่านี้ “อยู่ในวัด-อยู่ใกล้พระ”…

ก็ทำให้ “ยากต่อการป้องกันราคจริต!!”

และจากความเจริญของ “เทคโนโลยีสมัยใหม่” ที่เข้ามา “ใกล้พระ-อยู่ในวัด” ก็มีส่วนทำให้ “พระสงฆ์เสี่ยงทำผิด” โดยเฉพาะ “สื่ออินเทอร์เน็ต” ที่อาจ ทำให้พระสงฆ์ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสมณสารูป ได้ หรือถึงขั้น “ทำผิดสังฆาทิเสส” ที่เกิดบ่อย ๆ เช่น ใช้สื่อโซเชียลจีบผู้หญิง หรือบางครั้งก็ร้ายแรงถึงขั้น “ทำผิดกฎหมาย” …ซึ่งในบทวิเคราะห์ดังกล่าวทางผู้จัดทำยังได้สะท้อนเอาไว้ว่า… จุดน่าสังเกตคือ…พระสงฆ์ที่ทำผิดทั้งพระวินัยและกฎหมายในระยะหลัง ๆ กลับเป็นพระสงฆ์ผู้ใหญ่ที่มีผู้เอาใจใส่ดูแลน้อยกว่าพระสงฆ์ลูกวัด …โดยมุมวิชาการนี้ชี้ไว้ตั้งแต่เมื่อราว 6 ปีก่อน แต่ก็…

ยัง “สะท้อนปัญหายุคนี้เหมือนตาเห็น”

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ “จุดอ่อน” ที่เป็น “สาเหตุทำให้พระสงฆ์ทำผิด” ยังมีการขยายความย้ำไว้อีกว่า…กับ “จุดอ่อนภายใน” นั้นประกอบด้วย… พระสงฆ์หรือผู้เข้าบวชขาดศรัทธา หรือมีศรัทธาลดลง, ขาดความรู้เกี่ยวกับพระวินัยและกฎหมาย, จาก ระบบการศึกษาด้อยประสิทธิภาพ, จากการที่ พระสงฆ์มีเงินส่วนตัว พระสงฆ์มีทรัพย์สินส่วนตัว, จากการที่ พระสงฆ์มักช่วยกันปกป้องความผิด, จาก โครงสร้างการปกครองและระบบที่ขาดประสิทธิภาพ, จากการที่พระสงฆ์กำลัง ขาดการปฏิบัติด้านจิตตภาวนา และจาก ระบบคัดกรองผู้เข้าบวชยังไม่มีประสิทธิภาพ อย่างเพียงพอ

ส่วน “จุดอ่อนภายนอก” ก็มีการย้ำว่าเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ…จาก สภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไป, จากการที่ ชาวบ้านไม่ได้เข้ากำกับดูแลคณะสงฆ์อย่างใกล้ชิด หรือจากการที่ องค์กรรัฐไม่มีระบบหรือกลไกที่จะช่วยพัฒนาและควบคุมดูแล รวมถึงอาจจะเกิดจากการที่ ชาวพุทธบางส่วนยังขาดความรู้ทางด้านพระวินัย และปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตามหลักทางพระพุทธศาสนา …ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการย้ำ “ปัจจัยที่ทำให้เกิดจุดอ่อน” จน…

ทำให้ “พระสงฆ์เสี่ยงที่จะกระทำผิด”

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.วัชระ งามจิตเจริญ ได้เสนอ “แนวทางแก้ปัญหาพระสงฆ์ทำผิด” ไว้ด้วย โดยสังเขปมีว่า… 1.ให้ความรู้-เร่งปลูกศรัทธาชาวพุทธ, 2.พัฒนาระบบการศึกษา-จิตตภาวนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, 3.พัฒนาระบบคัดกรองผู้เข้าบวชให้ดียิ่งขึ้น, 4.คัดเลือก-พัฒนาความรู้ความสามารถของพระอุปัชฌาย์, 5.ปรับปรุงโครงสร้าง-ระบบการปกครองคณะสงฆ์ และ 6.ควบคุมดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์อย่างใกล้ชิด …นี่คือข้อเสนอที่มีไว้นานแล้ว…

ข้อเสนอ…ลด “เหตุชวนอึ้ง-ชวนตะลึง”

เหตุที่ก่อเกิด “ปัญหาผ้าเหลืองฉาว”

ที่ตอนนี้ “เลยเถิดแทบจะสุดกู่??”.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่