เมื่อวันที่ 7 เม.ย. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. รรท.รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.ธเรศ กรัษันัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีจับกุมหมอเสริมความงามเถื่อน

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมาก ให้ทำการตรวจสอบแพทย์ที่ทำการรักษาสถานพยาบาลเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ จากการตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่ามีการโฆษณาระบุแพทย์ที่ทำการรักษา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจสอบข้อมูลกับแพทยสภา ไม่พบว่าได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับต่อศาล ต่อมาศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับเลขที่ 592/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค. 65 ในข้อหา “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้คำว่า แพทย์ นายแพทย์ แพทย์หญิง หรือนายแพทย์หญิง หรือใช้อักษรย่อของคำดังกล่าวหรือใช้คำแสดงวุฒิการศึกษาทางแพทยศาสตร์ หรือใช้อักษรย่อของวุฒิดังกล่าว ประกอบกับชื่อนามสกุลของตน หรือใช้คำหรือข้อความอื่นใดที่แสดงให้ผู้อื่น เข้าใจว่าตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 65 เวลาประมาณ 13.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พร้อมกับ เจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญา ที่ 236/2565 มี.ค. 65 เข้าตรวจค้นสถานพยาบาล คลินิกเวชกรรม ย่านแขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม. ขณะเข้าตรวจสอบ พบบุคคลดังกล่าวกำลังให้การรักษาประชาชนผู้มารับบริการอยู่ในสถานพยาบาลดังกล่าว จากการตรวจสอบใบประวัติผู้เข้ารับการรักษาพยาบาล พบว่ามีการรักษาเสริมความงามให้กับดารานักแสดงและยูทูบเบอร์ 8 คน ทั้งการฉีดฟิลเลอร์ ร้อยไหม รวมทั้งฉีดวิตามินและสเต็มเซลล์ บางคนมีประวัติเข้ารับบริการหลายครั้งราคาตั้งแต่ 30,000 บาท สอบถามยอมรับว่า ไม่มีใบประกอบวิชาชีพอย่างใด เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุมส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดี

จากการสอบสวนรับว่า ไม่ได้จบแพทย์แต่อย่างใด โดยวุฒิการศึกษาที่อ้างว่าจบมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศอังกฤษ เป็นวุฒิที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งความจริง จบการศึกษาเพียงระดับ ปวส. แต่เคยเข้าอบรมหลักสูตรเสริมความงามระยะสั้น และได้ปลอมเอกสารใช้เป็นหลักฐานสมัครทำงานที่คลินิกแห่งหนึ่ง โดยใช้ความรู้ที่ได้มาจากแฟนหนุ่มที่เป็นแพทย์ผิวหนังในการเสริมความงามและรักษาคนไข้

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม 1. พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ฐานโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกเข้ารับบริการเสริมความงามกับสถานพยาบาลเสริมความงามที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ ซึ่งแพทย์ที่ทำการรักษาในคลินิกจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม และขอเตือนผู้ที่แอบอ้างเป็นแพทย์เพื่อประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือสถานพยาบาลเสริมความงามที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะท่านกำลังทำให้ผู้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความเสี่ยงในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในการเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค.