สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองไมนซ์ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ว่าบริษัทไบโอเอ็นเทค ซึ่งร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กับบริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐ โดยใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่าสืบเนื่องจากความสำเร็จในเรื่องดังกล่าว ไบโอเอ็นเทคเตรียมเดินหน้าก้าวต่อไป ในการใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เพื่อต้านทานโรคระบาด ด้วยการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย จากเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ และในเบื้องต้นวางแผนทดสอบทางคลินิกภายในสิ้นปีหน้า
ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียเป็นหนึ่งในวัคซีนที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมุ่งมั่นพัฒนามานานหลายทศวรรษ ปัจจุบันโลกมีวัคซีนป้องกันมาลาเรียเพียงตัวเดียว คือ วัคซีน "มอสควิริกซ์" ( Mosquirix ) เป็นวัคซีนแบบโปรตีนซับยูนิต พัฒนาโดยบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ของสหราชอาณาจักร ร่วมกับสถาบันวิจัยทางการแพทย์ วอลเทอร์ รีด ของสหรัฐ และเป็นวัคซีนชนิดแรกของโลก ที่ผ่านการรับรองจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป ( อีเอ็มเอ ) ให้ใช้งานกับโรคติดเชื้อโปรโตซัว แต่วัคซีนมอสควิริกซ์มีประสิทธิภาพโดยรวมประมาณ 30% 
อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ศ.เอเดรียน ฮิลล์ นักวัคซีนวิทยาชาวไอริช ผู้อำนวยการสถาบันเจนเนอร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคหลายชนิด รวมถึงโควิด-19 รายงานการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน "เมทริกซ์-เอ็ม" ซึ่งเป็นวัคซีนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดพัฒนา เพื่อใช้ป้องกันโรคมาลาเรีย กับกลุ่มตัวอย่างเป็นทารก 450 คน ในบูร์กินาฟาโซ ได้รับวัคซีนเมื่อปี 2562 และมีการติดตามผลในอีก 12 เดือนหลังจากนั้น ปรากฏว่า มีประสิทธิภาพโดยรวม 77%
วัคซีนเมทริกซ์-เอ็ม จึงเป็นวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียรายการแรก ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของดับเบิลยูเอชโอ ที่กำหนดเป้าหมายให้โลกต้องมีวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย ที่มีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 75% ภายในปี 2573 
อนึ่ง เพื่อให้ได้ผลที่ละเอียดมากขึ้น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเตรียมนำวัคซีนเมทริกซ์-เอ็ม เข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่สาม อาศัยกลุ่มตัวอย่างประมาณ 4,800 คน ใน 4 ประเทศของทวีปแอฟริกา โดยการทดสอบครั้งต่อไปจะเป็นการร่วมมือกับสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลกในด้านปริมาณ และบริษัทโนวาแวกซ์ของสหรัฐ.

เครดิตภาพ : REUTERS