ย้อนกลับไปช่วงกลางปี 54 ปัญหาการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขต อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพื่อสร้างรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ และสวนเกษตร ของบรรดาผู้มีอิทธิพล นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติ รวมทั้งข้าราชการระดับสูง มีทั้งตำรวจ ทหาร และอดีตนายอำเภอ หนักหน่วงมาก!

เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีสัตว์ป่ามากมาย รวมทั้งเสือโคร่ง สภาพภูมิประเทศลาดชัน สูงๆ ต่ำๆ มีอากาศบริสุทธิ์ และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก จึงกลายเป็นแหล่งรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ (บ้านหลังที่2) และสวนเกษตรของผู้มีอันจะกินจากต่างถิ่น เข้ามาจับจองที่ดินป่า โดยการอ้างใบ “ภ.บ.ท.5” แล้วมีการปั่นราคาขายที่ดินภ.บ.ท.5 กันอย่างครึกโครม

Exif_JPEG_PICTURE

แต่ประเทศไทยยังโชคดี ที่มีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ชื่อนายดำรงค์ พิเดช ปัจจุบันเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย รวมทั้งนายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน และนายนุวรรต ลีลาพตะ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลานในขณะนั้น เปิดยุทธการจับกุม-รื้อถอนรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ และสวนเกษตรที่บุกรุกพื้นที่อุทยานฯอย่างจริงจัง ถึงขนาดมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯจากทั่วประเทศ มาแบ่งงานกันเข้าจับกุมกว่า 400 คดี แล้วส่งเรื่องให้ตำรวจในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว และ อ.นาดี ดำเนินคดีไปตามกฎหมาย

แล้วจู่ๆ เมื่อ 2 วันก่อน มีกระแสข่าวไม่ค่อยดีว่ากรณีบุกรุกป่าทับลานกว่า 400 คดี ใกล้จะครบ 10 ปี แล้วคดีจะหมดอายุความหรือเปล่า? มีการส่งฟ้องผู้กระทำผิดทันเวลาหรือไม่? แถมมีการโยกย้ายเปลี่ยนหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลานบ่อยๆ จะมีอุปสรรคกับการสางปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่หรือไม่?

“ทับลาน โมเดล” ใครแหกโค้งเจอ 157

ทีมข่าว “Special Report” มีโอกาสสนทนากับนายดำรงค์ได้เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตนเชื่อว่าคดีใหญ่ๆ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่บุกรุกป่าทับลานถูกฟ้องทั้งหมดอย่างทันเวลา ไม่น่าต่ำกว่า 300 คดี แต่อาจจะมีพวกรายเล็ก รายน้อยหลุดไปบ้าง เนื่องจากหาตัวผู้กระทำผิดไม่เจอ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือบางรายพนักงานอัยการอาจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องทางอาญา เพราะมองว่า “ขาดเจตนา” แต่ก็ต้องออกไปจากพื้นที่อุทยานฯ

ส่วนรีสอร์ทใหญ่ๆ และบ้านพักตากอากาศสวยๆ พวกนี้ส่วนใหญ่จะไม่รอดคดีอาญา เพราะต้องมีเจ้าของชัดเจน ต้องมีใบจดทะเบียนการค้า ต้องขอใช้น้ำ-ไฟฟ้า แบบนี้ไม่ค่อยรอด แม้ว่าบางแห่งจะใส่ชื่อลูกจ้างเป็นเจ้าของรีสอร์ทก็ตาม แต่ต้องติดคุก ถูกรื้อถอนออกจากพื้นที่ และถูกฟ้องร้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายด้วย ฐานทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้-ดิน-อากาศ ได้รับความเสียหาย มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งคดีทางแพ่งสิ้นสุดไปแล้วหลายคดี

“ผมไม่ห่วงปัญหาที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพราะทำเป็นโมเดลไว้อยู่ เจ้าหน้าที่ซึ่งมาทีหลังคงไม่กล้าแหกโค้งหรอก เนื่องจากมีตัวอย่างการจับกุม การติดป้ายแจ้งเตือน มีการทุบรื้อ-ถอนรีสอร์ทใหญ่ๆหลายแห่ง เช่น บ้านผางาม บ้านทะเลหมอก มีการฟ้องร้องทางแพ่ง และต้องจ่ายเงินให้รัฐแล้วหลายล้านบาท ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ดำเนินการกับผู้กระทำผิดที่เหลืออยู่ เดี๋ยวคุณก็งานเข้า โดนเจ้าของรีสอร์ทที่ถูกทุบไปแล้วโวยวายแน่ ฐานละเว้นฯ คุณจะเสี่ยงกับมาตรา 157 หรือ”

คดีบุกรุกป่าแพ้หมด-นายทุนอย่าเสี่ยง!

นายดำรงค์กล่าวต่อไปว่าคดีบุกรุกพื้นที่ป่าไม่มีใครชนะหรอก มีกี่คดีก็แพ้หมด เพราะมันขยับแผนที่ไม่ได้ ยกเว้นผู้บุกรุกที่ไม่มีตัวตน เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่มีโฉนด แบบนี้ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ไม่รู้จะไปหาตัวตนคนกระทำผิดได้ที่ไหน แต่ถ้าเจอตัวตนซึ่งอยู่เป็นคนสุดท้าย อันนี้ไม่ต้องอ้างใดๆทั้งสิ้น เพราะกฎหมายถือว่าใครอยู่เป็นคนสุดท้ายถือว่าเป็นคนบุกรุก ไม่ว่าจะซื้อ-ขายเปลี่ยนมือกันมากี่คนก็ตาม

สำหรับปัญหาของอุทยานแห่งชาติทับลาน ในอดีตสั่งสมมาอย่างยาวนาน และอดีตอธิบดีบางคนไปให้ความหวังเขาว่าสร้างรีสอร์ทและบ้านพักตากอากาศได้ ถ้าถูกจับเดี๋ยวปล่อยให้เช่า ตอนหลังมีการโฆษณาว่าพื้นที่อ.วังน้ำเขียว-นาดี มีโอโซนบริสุทธิ์ติดอันดับโลก คนจึงแห่เข้ามาบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นเข้ามาสร้างรีสอร์ท โฮมสเตย์ บ้านตากอากาศหลังที่ 2-3

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

แต่หลังจากมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศเข้าจับกุมผู้บุกรุกกันใหญ่โตในปี 55-56 ถามว่าตอนนี้ใครจะกล้าขนเงิน 10-20 ล้านบาท เข้ามาเสี่ยงอีก เข้ามาก่อสร้างในพื้นที่ดินผิดกฎหมายต้องคิดหนัก ขืนสร้างเมื่อไหร่ก็ถูกจับ เจ้าหน้าที่ต้องไปไล่จับเพราะปล่อยไว้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคนที่ถูกจับไปแล้วร้องเรียนคุณตายเลย ไม่เฉพาะทับลาน แต่ที่อื่นๆด้วย โดยเฉพาะที่ จ.ภูเก็ต อีกไม่นานโรงแรมระดับ 100-200 ล้านบาท จำนวน 2-3 แห่งต้องถูกรื้อ เนื่องจากศาลสั่งแล้ว เพราะไปสร้างในพื้นที่อุทยานฯ แต่มาอ้างว่ามีเอกสารสิทธิส.ค.1 แต่พิสูจน์แล้วเป็นส.ค.1 บินมาจากไหนไม่รู้ สุดท้ายต้องรื้อเมื่อจบที่ศาลฎีกา

“ปัญหาของอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่คนบุกรุก แต่สิ่งที่น่าห่วงมากคือปัญหาหมาใน คือฝูงหมาในชุกชุมมาก รุมกินสัตว์ป่าอื่นๆตายหมด ขนาดกระทิงยังไม่รอด ดังนั้นเราจะเห็นสัตว์จำพวกเก้ง กวาง มาป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้คน ใกล้ๆที่ทำการอุทยาน ส่วนฝูงกระทิงต้องหนีเข้ามาหากินอยู่ใกล้หมู่บ้าน เพราะทนฝูงหมาในไม่ไหว ถ้าไม่มีโรคระบาดหมาในจะเพิ่มจำนวนเร็วมาก นี่คือปัญหาใหญ่ที่ผมบอกกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไปหลายคนแล้ว” นายดำรงค์ กล่าว