วันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า “.. เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้…สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก….”

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องในสังคมไทย​ จึงมีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแนวคิด ต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย รวมทั้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ตลอดจน เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย อันจะนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่ง เป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

วันภาษาไทยแห่งชาติได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่งในวันนี้ คนไทยจึงควรตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติและเป็นมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่า ซึ่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ลายสือไทยมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี​ การร่วมกันหวงแหน อนุรักษ์และใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องทั้งในการพูด อ่านและเขียนเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีกว่า​ 200 ประเทศ แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีภาษาประจำชาติเป็นของตนเอง การพูดและอ่านคำที่มีตัว​ ร เป็นพยัญชนะต้นจะต้องออกเสียงต่างจากคำที่มีตัว ล เป็นพยัญชนะต้น อีกทั้งคำที่มีอักษรควบกล้ำตัว ร และตัว ล ก็ต้องออกเสียงต่างกัน มิเช่นนั้นแล้วความหมายของคำก็จะผิดเพี้ยนไป และยังเป็นการทำลายความวิจิตรไพเราะของภาษาไทยอีกด้วย นอกจากนี้แล้วการพูดภาษาไทยสลับกับคำพูดภาษาต่างประเทศไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย เพราะคำในภาษาไทยมีมากมายที่สามารถสื่อความหมายแทนกันได้เป็นอย่างดี ง่ายต่อการสร้างความเข้าใจต่อกัน ถ้าไม่มีคำที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ก็อาจใช้เป็นคำทับศัพท์ (Technical Term) พึงทราบว่าทุกวันนี้มีชาวต่างชาติใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่วทั้งการพูด อ่านและเขียน เราเป็นคนไทยแท้ๆ จะไม่เกิดความรู้สึกกระดากอายบ้างเลยเชียวหรือ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ​เสด็จฯ เป็นประธานเปิดงานการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมตอนหนึ่งความว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเห็นงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จ ราษฎรมีความรู้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น ทั้งยังสามารถได้รับการศึกษาและมีโอกาสพัฒนาตนเองให้มีความรู้สูงยิ่งขึ้น เมื่อเด็กและเยาวชนเหล่านี้จบการศึกษาแล้วจะเป็นรากฐานและกำลังสำคัญของบ้านเมือง เป็นคนที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต….

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังตามเสด็จ พระองค์ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานการดำเนินงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ โดยกล่าวว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึงการสอนอ่านเขียนภาษาไทย แบบแจกรูปสะกดคำ ซึ่งเป็นวีธีการสอนแบบในอดีต และสมัยที่ทรงพระเยาว์ก็ทรงเรียนวิธีนี้มาเช่นเดียวกัน แต่ภายหลังกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการเปลี่ยนวิธีสอนเป็นวิธีสอนให้เด็กจำเป็นคำๆ แทน ทำให้เด็กสะกดคำไม่เป็น เมื่อเจอคำใหม่ๆ หรือเปลี่ยนตัวพยัญชนะในสระเดิม ก็ไม่สามารถอ่านได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รื้อฟื้นการสอนภาษาไทยแบบแจกรูปสะกดคำขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งพระองค์ก็ทรงรับสั่งว่าวิธีนี้เป็นการสอนที่มีประโยชน์ และให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไปคิดเพิ่มเติมถึงวิธีการที่จะทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้

ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือการไม่มีทักษะในการอ่านของเด็กไทย เป็นเพราะไม่ได้เรียนตามหลักภาษาไทยที่มีการสอนแบบแจกรูปสะกดคำภายใต้การเรียนตามแม่บทมาตราแม่ ก กา และมาตราตัวสะกด โดยจำแนกตามอักษร 3 หมู่ (ไตรยางศ์) ซึ่งประกอบด้วย อักษรสูง อักษรกลางและอักษรต่ำ รวมถึงมีการผันเสียงตามรูปวรรณยุกต์ ได้แก่ ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี และไม้จัตวา ตราบใดการสอนภาษาไทยในโรงเรียนไม่ได้ยึดรูปแบบการสอนตามหลักภาษาไทย แต่ไปสอนตามหลักภาษาของต่างประเทศ รับรองว่าระบบการศึกษาไทยยากที่จะพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ เพราะภาษาไทยเป็นบันไดขั้นแรกของการศึกษา การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-learning) และ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ไม่อาจเกิดขึ้นได้ตามนโยบายของรัฐ

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของทักษะในการอ่านและการอ่านที่ไม่มีคุณภาพอย่างเพียงพอของนักเรียนไทย ซึ่ง ไม่สามารถจับใจความสำคัญจากการอ่านได้ รวมถึงทักษะในการเขียนตอบโจทย์อย่างตรงประเด็น การสอบของนักเรียนไทยในโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment-PISA) ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development-OECD) ที่มีการจัดสอบเป็นประจำทุก 3 ปี เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีนักเรียนต่างชาติกว่า 80 ประเทศเข้าร่วมโครงการฯ ในการเตรียมความพร้อมเยาวชนที่มีอายุ 15 ปี ให้มีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน โดย ประเมินสมรรถนะที่เรียกว่า Literacy ซึ่งหมายถึงความฉลาดรู้ในสามด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และ ความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ให้ข้อมูลว่า จากการประเมินในด้าน ความฉลาดรู้ด้านการอ่านของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ระบบ การศึกษาไทยจึงต้องยกระดับ ความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วนตามที่ปรากฏผลการสอบ ดังนี้

การประเมินผลด้านการอ่านของนักเรียนไทย ปี 2543 ได้ 431 คะแนน ปี 2546 ได้ 420 คะแนน ปี 2549 ได้ 417 คะแนน ปี 2552 ได้ 421 คะแนน ปี 2555 ได้ 441 คะแนน ปี 2558 ได้  409  คะแนน  ปี 2561 ได้ 393 คะแนน

เมื่อเปรียบเทียบผลการสอบของนักเรียนไทยกับคะแนนค่าเฉลี่ยของ OECD ปรากฎว่า ปี 2555 ไทยได้ 441 คะแนน ค่าเฉลี่ย OECD 496 คะแนน ปี 2558 ไทยได้ 409 คะแนน ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน ปี 2561 ไทยได้ 393 คะแนน ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน

ภาษาไทยมีคุณค่าและความสำคัญในหลายมิติ นอกจากจะเป็นเอกลักษณ์ของชาติและมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติแล้ว ยังมีคุณูปการอย่างเป็นอเนกอนันต์ต่อการศึกษาของชาติ ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีการสื่อสารในการทำงานอย่างเป็นทางการ  และสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการในกิจกรรมทั่วไป  ทุกภาคส่วนของสังคมจึงต้องตื่นรู้และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติที่คนไทยต่างมีความภาคภูมิใจร่วมกัน

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”