การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเพื่อให้ได้บุคคลเข้ามาเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ กรุงเทพมานครและเมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่แตกต่างไปจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 4,402,948 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 2,673,696 คน คิดเป็นร้อยละ 60.73 บัตรดี จำนวน 2,561,447 บัตร คิดเป็นร้อยละ 95.80 บัตรเสีย จำนวน 40,017 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.50  บัตร ไม่ประสงค์ลงคะแนน จำนวน 72,227 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.70  เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา คิดเป็น ร้อยละ 67.65 เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต คิดเป็นร้อยละ 45.82

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพนครอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏผล ดังนี้  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ 1,386,215 คะแนน  นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ 254,723 คะแนน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล 253,938 คะแนน นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ 230,534 คะแนน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ 214,805 คะแนน นางสาวรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ 79,009 คะแนน น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครพรรคไทยสร้างไทย 73,826 คะแนน

การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมานคร (ส.ก.) มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 4,357,098 คะแนน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 2,635,283 คน คิดเป็นร้อยละ 60.48 

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมานครอย่างไม่เป็นทางการจาก 50 เขต เขตละ 1 คน ปรากฏผลดังนี้

ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้ง 20 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต บางรัก บางกะปิ มีนบุรี ลาดกระบัง ธนบุรี ห้วยขวาง ภาษีเจริญ หนองแขม บึงกุ่ม สวนหลวงบางคอแหลม จอมทอง ดอนเมือง หลักสี่ คันนายาว สะพานสูง วังทองหลาง คลองสามวา และทุ่งครุ

ผู้สมัครพรรคก้าวไกลได้รับการเลือกตั้ง 14 เขต ประกอบด้วย เขตพระนคร พระโขนง ยานนาวา พญาไท ตลิ่งชัน สาทร บางซื่อ จตุจักร ราชเทวี ลาดพร้าว วัฒนา บางแค บางนา และทวีวัฒนา

ผู้สมัครพรรคพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้ง  9 เขต ประกอบด้วย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางขุนเทียน คลองสาน บางพลัด ประเวศ และบางบอน

ผู้สมัครกลุ่มรักษ์กรุงเทพได้รับการเลือกตั้ง 3 เขต ประกอบด้วย เขตบางเขน ปทุมวัน และคลองเตย

ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐได้รับการเลือกตั้ง 2 เขต ประกอบด้วย เขตหนองจอก และดินแดง

ผู้สมัครพรรคไทยสร้างไทยได้รับการเลือกตั้ง 2 เขต ประกอบด้วย เขตราษฎร์บูรณะ และสายไหม

การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยา มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 78,018 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 38,320 คน คิดเป็นร้อยละ 49.96 บัตรดี 36,575 บัตร คิดเป็นร้อยละ 95.45 บัตรเสีย 1,001 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.61 ไม่ประสงค์ลงคะแนน 744 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.94

ผลการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏผลดังนี้ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้สมัครกลุ่มเรารักพัทยา 14,633 คะแนน นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร ผู้สมัครกลุ่มพัทยาร่วมใจ 12,736 คะแนน นายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย ผู้สมัครคณะก้าวหน้า  8,794 คะแนน นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ ผู้สมัครอิสระ 896 คะแนน 

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาอย่างไม่เป็นทางการจาก 4 เขต เขตละ 6 คน ปรากฏผล ดังนี้ เขต 1 ผู้สมัครกลุ่ม เรารักพัทยาได้รับการเลือกตั้ง 6 คน เขต 2 ผู้สมัครกลุ่ม เรารักพัทยา ได้รับการเลือกตั้ง 6 คน เขต 3 ผู้สมัครกลุ่ม เรารักพัทยา ได้รับการเลือกตั้ง 6 คน เขต 4 ผู้สมัครกลุ่มเรารักพัทยาได้รับการเลือกตั้ง 6 คน

เบียร์-ปรเมศวร์' ไปใช้สิทธิเลือกนายกเมืองพัทยา-ไม่ถือเคล็ดไม่วิตกกังวล |  เดลินิวส์

ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาอย่างไม่เป็นทางการนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง​อย่างเป็นทางการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเลือกตั้ง

ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาซึ่งไม่ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565  สามารถ แจ้งเหตุความจำเป็นและเหตุผลที่ไม่ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 เพื่อไม่ให้เสียสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ กระทำได้ใน 3 ช่องทางดังนี้ 

  • 1. ขอรับแบบฟอร์ม ศ.ถ./ผ.ถ. 1/8 หรือทำเป็นหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ พร้อมระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ยื่นต่อนายทะเบียนท้องถิ่นที่เขตของตนด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นยื่นแทน
  • 2. ขอรับแบบฟอร์ม ส.ถ./ผ.ถ. 1/8 หรือทำเป็นหนังสือชี้แจงเหตุทางไปรษณีย์ โดยถือเอาวันที่ไปรษณีย์ลงรับเป็นวันแจ้งเหตุ
  • 3. แจ้งเหตุออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th หรือ www.ect.go.th หรือแอพพลิเคชั่น Smart Vote หัวข้อ “การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์

พร้อมกับการแจ้งเหตุผลที่ไม่ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนี้

  1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกล เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  2. เป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  3. เป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ

พึงทราบว่า การทำหน้าที่ของประชาชนตามกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงแต่การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังต้องคอยติดตามการทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติว่า มีการดำเนินงานตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้หรือไม่ ตรวจสอบการทำงานว่ามีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ประบวนการประชาธิปไตยจึงจะมีความสมบูรณ์แบบ

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”