ประมาณช่วงเดือนก.ค.ปีนี้ เรือหลวงควีนเอลิซาเบธซึ่งบรรทุกเครื่องบินขับไล่รุ่นล่าสุดมาด้วย จะเดินทางเข้าสู่ทะจีนใต้เป็นครั้งแรก เพื่อเน้นย้ำการมีส่วนร่วมของสหราชอาณาจักร ในด้านการรักษาเสถียรภาพด้านความมั่นคง และการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการร่วมเฉลิมฉลอง 50 ปี ความร่วมมือกลาโหม “ไฟฟ์ อายส์” ร่วมกับมาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

เรือหลวงควีนเอลิซาเบธ

ขณะที่เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกทั้ง 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) รับรองการสมัครของสหราชอาณาจักร ที่แสดงความประสงค์ขอเป็นประเทศคู่เจรจาลำดับที่ 11 ของภูมิภาค ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นต้นก่อนเริ่มหารืออย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ ว่าภาคีทั้ง 11 ประเทศ ในข้อตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าระหว่างภาคพื้นแปซิฟิก ( ซีพีทีพีพี ) เริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อพิจารณารับสหราชอาณาจักรเข้าเป็นสมาชิกใหม่

Foreign, Commonwealth and Development Office

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวข้างต้นบ่งชี้ “ความมุ่งมั่นอันแรงกล้า” ของสหราชอาณาจักร ในการ “กลับมาให้ความสำคัญ” กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หลังพ้นจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ( อียู ) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 สร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกของอียูที่ลาออกจากการเป็นสมาชิก และเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งยังคงสร้างแรงกระเพื่อมให้กับแทบทุกมิติของภูมิศาสตร์การเมืองโลกจนถึงปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กล่าวว่า สหราชอาณาจักรต้องเพิ่มการแสดงบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อร่วมรักษาเสถียรภาพให้กับระเบียบโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งขยายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง และการสร้างเสริมผลประโยชน์อย่างยั่งยืน ผ่านการเติบโตทางการค้าและเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการยกระดับการมีส่วนร่วมของสหราชอาณาจักร ในระบบเศรษฐกิจและสังคมโลก “ที่เป็นเสรีและเปิดกว้าง”

การหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยใช้ชื่อแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านการต่างประเทศ “โกลบอล บริเตน” ( Global Britain ) ถือเป็น “การหักเลี้ยว” ครั้งสำคัญด้านนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันออก นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ ทำให้โลกได้เห็นการเคลื่อนไหวของสหราชอาณาจักรในแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ว่าจะได้เห็นในยุคที่โลกไม่มีคำว่า “ดินแดนภายใต้อาณานิคม” อย่างเป็นทางการอีกแล้ว การสร้างเสริมความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรกับนานาประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อ “หาที่ยืน” ให้กับตัวเอง “ในโลกหลังเบร็กซิต”แม้อิทธิพลของสหราชอาณาจักรลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศร่วมก่อตั้งไฟฟ์ อายส์ ด้านความมั่นคงในเอเชีย เมื่อปี 2514 ทำให้สหราชอาณาจักรยังคงมีสัญลักษณ์ทางทหารอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้ กล่าวคือฐานทัพขนาดใหญ่ในสิงคโปร์และบรูไน ดังนั้น การมาเยือนของเรือหลวงควีนเอลิซาเบธแน่นอนว่าไม่ใช่เพียง “การมาอวดโฉม” เรือรบขนาดใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร แต่น่าจะเป็นการส่งสัญญาณถึงประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคแห่งนี้

สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

โอกาสได้เข้าสู่ทำเนียบการเป็นประเทศคู่เจรจาลำดับล่าสุดของอาเซียน เปิดทางให้สหราชอาณาจักรได้มีที่นั่งในหนึ่งในเวทีการประชุมระหว่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งมีความสำคัญที่สุด นั่นคือการประชุมสุดยอดอาเซียน ยิ่งไปกว่านั้น การไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอียูจะทำให้สหราชอาณาจักรสามารถแสวงหาโอกาสเพิ่ม เพื่อการแสดงบทบาทบนเวทีแห่งนี้ได้สะดวกขึ้นด้วย แม้ในทางปฏิบัติจะยังมี “เงื่อนไข” ไปจนถึง “ข้อจำกัด” อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่การเป็นคู่เจรจาของอาเซียน “อย่างเต็มตัว” ของสหราชอาณาจักร ยังถือว่าอีกยาวไกล และอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทาง เพราะอาเซียนมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการพักรับประเทศคู่เจรจารายใหม่มานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว และการพิจารณารับสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน และยังไม่เป็นที่แน่ชัด ว่าทั้งสามประเทศจะมีความรู้สึก “ประดักประเดิด” กับเรื่องนี้มากเพียงใด ว่าจะเป็นการรื้อฟื้น “ความทรงจำ” เมื่อนานมาแล้วหรือไม่

นอกจากนี้ การเข้าสู่ภูมิภาคแห่งนี้ของสหราชอาณาจักร ที่ในเบื้องหน้าจะเป็น “การฉายเดี่ยว” ย่อมต้องเผชิญกับการจับจา และอาจมีบททดสอบพอหอมปากหอมคอกับ “น้องใหม่” จากบรรดา “พี่ใหญ่และพี่รอง” ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในบริเวณนี้ ไล่ตั้งแต่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไปจนถึงอินเดีย.


ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AP