ปัจจุบัน “ซ่อม-รับน้อง” ด้วยวิธีรุนแรงไม่เป็นที่ยอมรับและค่อยๆ ถูกจำกัดโดยการควบคุมของสถาบัน แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับบางสถาบัน ลำดับอาวุโส“รุ่นพี่รุ่นน้อง”ยังเป็นระบบปกครองที่ถูกใช้อย่างเข้มข้นจากรุ่นสู่รุ่นไม่เปลี่ยนแปลง  

การเสียชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย สถาบันดังย่านปทุมวัน ฉายภาพชัดเจน และกำลังเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอีกครั้ง เมื่อการลงโทษโดยใช้ความรุนแรง ในยุคที่สังคมเรียนรู้ถึงสิทธิและเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น ไม่ได้แสดงถึงการสั่งสอนหรือความหวังดีที่ถูกวิธี

ความรุนแรงที่กลายเป็นวัฒนธรรมมักเกิดจากการกระทำของผู้มีอำนาจเหนือกว่า กระทำกับผู้มีอำนาจด้อยกว่า ยกตัวอย่าง ในครอบครัวสามีกระทำกับภรรยาและลูก ในสถาบันการศึกษาอาจารย์กระทำกับศิษย์ หรือรุ่นพี่กระทำกับรุ่นน้อง 

จากความเห็นผู้ทำงานขับเคลื่อนปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคม จะเด็จ  เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองกรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นปัญหากดทับกันหลายชั้นเริ่มตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ไปจนถึงสังคม ส่งผลให้การแก้ไขควรเกิดขึ้นในทุกระดับเพื่อตัดรากของปัญหาที่แท้จริง

กรณีล่าสุดสะท้อนภาพความเชื่อวิถีลูกผู้ชาย เมื่อรวมตัวกันแล้วต้องมีการแสดงออกถึงความเป็นชาย เช่น การใช้กำลัง ความกล้า การท้าทาย หากไม่ทำคือไม่แมน เป็นวัฒนธรรมการรวมกลุ่มแบบชายเป็นใหญ่ที่ปลูกฝังกันมาตลอด โดยเฉพาะกลุ่มเรียนเทคนิค เรียนช่าง  ซึ่งสังคมแบบพี่น้อง พรรคพวกถูกปลูกฝังในสถาบันผ่านรุ่นพี่ หรือกระทั่งตัวอาจารย์ก็ปลูกฝังศักดิ์ศรีความเป็นสถาบันและระบบพรรคพวก ประกอบกับการตีตราของสังคมที่มักมองว่าเด็กในสายเหล่านี้เป็นอีกกลุ่มชั้นที่ด้อยกว่า เรียนไม่เก่ง ไม่ใช่กลุ่มมีฐานะ การถูกกดทับผลักให้นำไปสู่ความต้องการมีตัวตน ซึ่งการใช้ความรุนแรงทำร้ายคนอื่นส่วนหนึ่งก็เพื่อแสดงอัตลักษณ์บางอย่างที่รวมถึงการทำร้ายกันเอง หากไม่ทำ ไม่เชื่อต้องถูกลงโทษจากระบบที่กดทับกันเป็นทอด

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า เรื่องรุ่นพี่รุ่นน้องเกิดขึ้นหลายยุคสมัยรวมถึงมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็มีบางกลุ่ม บางคณะที่ให้ความสำคัญกับลำดับรุ่นพี่ ตัดสินเรื่องอำนาจ โดยเชื่อว่าหากไม่ใช้อำนาจจะควบคุมไม่ได้ หรือหากไม่เคยผ่านสิ่งเหล่านี้จะไปเจออะไรที่หนักๆกว่านี้ได้อย่างไร เช่น สายวิศวะ ป่าไม้ หรือในอดีตการเรียนรัฐศาสตร์ที่อาจต้องไปเป็นปลัดในพื้นที่ชนบท ต้องผ่านความรุนแรง การใช้อำนาจเหนือกว่าไม่เช่นนั้นจะไปคุมคนอื่นไม่ได้ สังคมไทยมีลักษณะเป็นอำนาจนิยมเหนือกว่าตั้งแต่ ชายเหนือกว่าหญิง พี่เหนือกว่าน้อง ข้าราชการเหนือกว่าประชาชนเป็นการซ้อนทับหลายชั้น

“สังคมต้องเปลี่ยนตั้งแต่การบ่มเพาะภายในครอบครัว ต้องไม่ใช้อำนาจ ทุกคนควรเท่าเทียมกัน พ่อแม่ต้องฟังลูก ลูกมีสิทธิออกเสียง มีสิทธิเสนอแนะได้ ไม่ใช่พ่อแม่เท่านั้นที่ชี้ผิดถูก”

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าปัญหาการรับน้องหลายที่เริ่มเปลี่ยน ขณะที่บางคณะยังคุมไม่อยู่  แม้มีกฎห้าม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารสถาบันรวมถึงกระทรวงต้นสังกัดต้องสอดส่องเข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ตาม  นอกเหนือเปลี่ยนกฎเกณฑ์สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยน“ทัศนคติ”ใช้อำนาจเหนือกว่า ลงโทษด้วยความรุนแรงซึ่งอาจบ่มเพาะเป็นความเคยชินโดยไม่รู้ตัว  เช่น การลงโทษด้วยวิธีกร่อนผม หรือตีอย่างรุนแรง

ความหวังดีด้วยการลงโทษ มองว่าเป็นเรื่องล้าสมัย ใช้ไม่ได้แล้ว หากลงโทษคือความหวังดีทำไมนักเรียน นักศึกษาหลายคนจึงออกมาต่อต้าน เชื่อว่าคนรุ่นใหม่อยากมีเสรีภาพในจุดที่ดีๆ ทางออกหนึ่งคือสถาบันการศึกษาควรเปิดพื้นที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์แทนการสร้างอัตลักษณ์แบบที่เป็นปัญหา หรือปลูกฝังศักดิ์ศรีห้ามลบลู่ ขณะที่รัฐเองควรสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออกในเรื่องดีของเด็ก โดยเฉพาะเด็กช่างที่แท้จริงแล้วมีศักยภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร และสังคมต้องเลิกตีตรากดทับชนชั้นการเรียนที่ไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ควรได้รับการมองเห็นเท่าเทียมกัน

เมื่อวัฒนธรรมการใช้อำนาจถูกบ่มเพาะตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา สังคม ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้คงไม่ใช่เปลี่ยนแค่เด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง.
 

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน
[email protected]