โก๋อุ้ม บอกว่า ก่อนอื่นเลย ถ้าทีมชาติต้องการตัว เขาพร้อมเสมอ แต่ถ้าถามความเห็น ก็ไม่อยากเล่นเท่าไหร่ ในระดับอาเซียน เพราะเล่นกันแรง ไม่มั่นใจมาตรฐานกรรมการ เล่นไปเจ็บตัว ไม่คุ้ม…ว่างั้น

ระดับอาเซียน ถ้าชุดใหญ่คือ “เอเอฟเอฟคัพ” หรือแม้แต่ซีเกมส์ ควรเป็นเวทีให้ “ทีมชาติแถว 2” ได้ลงเตะต่อยอด เก็บเลเวล เตรียมเป็นกองเสริมของซีเนียร์

ซีเกมส์ จำกัดอายุ 22-23 ปี ไม่ต้องใช้อายุแบบชนเพดาน เป็นไปได้ก็เอาชุดเด็ก 19 ปีมาต่อยอด คงไม่ใช่เรื่องที่ไปรอตัวซูเปอร์สตาร์แต่ละทีม มาลงสนาม ล่าเหรียญทอง สู้เอาเด็ก 19 ปี ที่ไม่มีภารกิจ มาเก็บตัวซ้อมกันยาวๆ เลยดีกว่า

แพ้หรือชนะ คือสิ่งที่ต้องรับให้ได้ เพราะเชื่อว่านี่คือแนวทางพัฒนา

ก้าวข้ามอาเซียนหรือไม่ ประเด็นนี้ถกเถียงกันมานาน

ซีเกมส์ หนก่อนที่ฟิลิปปินส์ ปี 2019 อากิระ นิชิโนะ บอกชัดเจนว่า แพ้-ชนะไม่รู้ เป้าหมายคือ “ไม่เจ็บ” ก่อนที่จะตกรอบแรก

ตอนนั้น ลุงโนะ กำลังขึ้นหิ้ง แฟนบอลก็เห็นด้วย ไม่ได้ว่าอะไรมาก

จริงๆ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ ก็มองว่าควรข้ามอาเซียน เพียงแต่คงกลัวว่าถ้าพูดเองแฟนบอลจะถล่ม เลยดันหลัง ลุงโนะ เป็นกระบอกเสียง

ในอีกทาง ยุค “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง คุมทัพ ก็บอกว่า ถ้าอาเซียนไม่ตบให้หมด แล้วเราจะข้ามได้อย่างไร

ซีเกมส์ที่เพิ่งจบไป เราตัดสินใจจัดใหญ่ จัดเต็ม เพื่อจะคว้าเหรียญทอง แต่ก็พลาด และล้มเป็นโดมิโน ต่อไปถึง ยู 23 เอเชีย

กลับมามุมหนึ่งที่อาเซียนก็ “จะเอาให้ได้” คือ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ที่วิ่งระดมซุปตาร์ มาเต็มถัง ถึงขั้นสลับเก้าอี้โค้ชจ้าละหวั่น มองว่า เป็นศักดิ์ศรี ฟุตบอลคือเหรียญใหญ่ ไปแล้วต้องได้ และอาจมีผู้ใหญ่กดดันมา(หรือเปล่า)

เหรียญทองบอลซีเกมส์เอาไหม ถามแฟนบอลมีเยอะเลยบอกลืมไปเถอะ แต่เอาเข้าจริง ถึงเวลาแข่ง ฟุตบอลชาย ก็คือพระเอกของรายการ ไฮไลต์พุ่งเป้าไปตรงนั้น

ในยุคที่ตะกร้อเราทิ้งห่างคู่ต่อสู้ คุณจะลุ้นอะไรในซีเกมส์ ถ้าไม่ใช่ฟุตบอล

ระดับผู้จัด ก็คงหวั่นใจ ถ้าทุกชาติไม่ให้ความสำคัญฟุตบอลชาย มูลค่าซีเกมส์ คงดร็อปลงเยอะ แน่นอน ศึกอาเซียนคัพ ก็เช่นกัน เอเอฟเอฟ ไม่แฮปปี้แน่ ถ้าไม่มีชุดใหญ่มาเตะ

แต่ละมุมก็มีเหตุผล แล้วเราจะเอาอย่างไรในก้าวข้ามอาเซียน ที่จริงๆแล้วเจาะลึกไป การก้าวข้าม คือ ก้าวข้ามการแย่งชิงความเป็นเลิศ แต่ใช้เป็นเวทีต่อยอด

สิ่งสำคัญคือวางยุทธศาสตร์ให้ชัด เอาให้แน่ ถ้าจะก้าวข้ามจริงๆ ก็ปักธงไปเลย ไปอธิบาย กระทรวงกีฬา, กกท. ให้รู้เรื่อง ฟุตบอลชาย มีบริบทต่างจากกีฬาอื่น เพราะเป็นกีฬาอาชีพเต็มตัว

หรือหากเสียดายยัง “จะเอา” ก็วางแผนให้ “เอาให้ได้จริงๆ” มีโปรแกรมซ้อมพอสมควร เคลียร์สโมสรต้นสังกัด ไม่ใช่มาวิ่งขาขวิดกันนาทีสุดท้าย

ปักหมุดกันให้ชัด เอาหรือไม่เอา ก้าวหรือไม่ก้าว แล้วอย่าเปลี่ยนใจตอนใกล้ๆ โยกไปโยกมา สุดท้ายมันจะไม่ได้อะไรสักอย่าง.

*** วุฒินล ***