ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระจายอำนาจ คือ การแบ่งส่วนหนึ่งของอำนาจจากศูนย์กลางไปให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการดูแล แต่พบปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ ทั้งเรื่องสัดส่วนรายได้ ภาระความรับผิดชอบและกฎระเบียบ ข้อบังคับจากส่วนกลางที่ไม่เอื้ออำนวย จึงทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่สามารถจัดการพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดการยอมรับแนวคิดการปกครองตัวเอง โดยประชาชนมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น วันนี้ “ทีมข่าวเดลินิวส์” จึงมาสนทนากับ “โกวิทย์ พวงงาม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย ในประธานยุทธศาสตร์พรรค ที่เคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นโดยเร็ว 

โดย “โกวิทย์” ได้เปิดฉากกล่าวว่า ในฐานะที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท และตั้งใจว่าจะพลักดันเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และเราก็มองว่า ประเทศรวมศูนย์มานานและมันเดินลำบาก เพราะงบประมาณแผ่นดิน ที่ตนนั่งเป็นกรรมาธิการงบประมาณปี 66 พบว่า 70% ยกตัวอย่างเช่น งบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท 70% ไปอยู่ที่ส่วนราชการเกือบ 2.5 ล้านล้านบาท อยู่ที่ท้องถิ่น 7-8 แสนล้านบาท ซึ่งผมเห็นว่าความสมดุลและสัดส่วนของงบประมาณไม่ได้ ฉะนั้นจึงมองว่าในประเทศที่เจริญ ถ้าเชื่อใจให้ท้องถิ่นเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในขั้นพื้นฐาน เช่น ชีวิตความเป็นอยู่อาชีพ สวัสดิการ เป็นต้น 

เชื่อว่าท้องถิ่นสามารถทำได้เพราะรู้ข้อมูลดี และอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ขณะที่กระทรวงอยู่ไกลพื้นที่ อยู่แต่ระดับจังหวัด ไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะไปบริการสาธารณะ และที่ไม่มีกลไกเจ้าหน้าที่ในระดับตำบลหรือชุมชน ผมจึงเห็นว่าจุดนี้ เป็นจุดที่รัฐบาลควรเปลี่ยนมุมมอง ผมจึงเสนอญัตติต่อสภาฯ เรื่องการแก้ไขปัญหาให้ท้องถิ่น จัดบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานแทนรัฐบาลกลาง และเพื่อลดอำนาจภาครัฐ ส่วนราชการที่มีงานมากให้ลดน้อยลง รวมถึงลดงบประมาณในส่วนกลางลงด้วย เพื่อนำไปเพิ่มให้ท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เมื่อท้องถิ่นไปทำบริการสาธารณะทุกอย่าง แต่ไปซ้อนกับอำนาจของรัฐที่มีอยู่ เช่น เรื่องการท่องเที่ยว ถ้าท้องถิ่นทำเรื่องท่องเที่ยว แต่ยังมี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือไปทำเรื่องบรรเทาสาธารณภัย เช่น เรื่องไฟป่า เรื่องหมอกควัน ท้องถิ่นจะทำได้ดีว่าใคร แต่ท้องถิ่นทำไม่ได้ เพราะมี พ.ร.บ.บรรเทาสาธารณภัย ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ดูแลอยู่ จึงเกิดการทำงานซ้ำซ้อนกัน

“ผมตั้งใจจะคลายล็อกให้ท้องถิ่น เพราะถ้าซ้ำซ้อนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะไปตรวจสอบและเรียกเงินคืน ท้องถิ่นก็กลัว  จึงปลดล็อคให้ ด้วยการเสนอแก้ไขกฎหมายการกระจายอำนาจใน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2542 ให้จัดบริการสาธารณะได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องความมั่นคง เรื่องการต่างประเทศ เรื่องศาล เรื่องการทูตฯ และเรื่องเศรษฐกิจภาพรวม เป็นต้น และผมเข้ามาเป็น ส.ส.ครั้งแรกเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจที่ระบุ ให้เพิ่มสัดส่วนงบประมาณให้ท้องถิ่น 35% ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจ ได้เสนอไปแล้ว แต่เป็น พ.ร.บ.การเงินจึงต้องส่งให้นายกฯพิจารณา แก้ไขสัดส่วนงบประมาณระหว่างรัฐกับท้องถิ่นปลดล็อคให้ได้ 35% ถือเป็นความภูมิใจของ ส.ส.ที่ได้ทำให้กับท้องถิ่น”

@ ที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งกระจายอำนาจ ปลดล็อคท้องถิ่น เรื่องการกระจายอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นนโยบายหลักของพรรคพลังท้องถิ่นไทยใช่หรือไม่

พรรคพลังท้องถิ่นไทยต่อสู้ให้ท้องถิ่นได้ 35% และให้ท้องถิ่นจัดทำบริการสถานะขั้นพื้นฐาน โดยไม่ถูกตรวจสอบ เราจึงผลักดันการแก้กฎหมาย รวมถึงทำให้ท้องถิ่นในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่พิเศษ เช่น เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเกาะภูเก็ต เราเสนอให้เป็นการปกครองในรูปแบบพิเศษ หรืออำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพราะเป็นพื้นที่ชายแดน อำเภอหัวหิน เพราะเป็นจังหวัดท่องเที่ยว เป็นต้น  ในพื้นที่ชายแดนมีภาษีชายแดน และภาษีเรื่องการท่องเที่ยวจะได้มีการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่เหมือนกรุงเทพฯ  ซึ่งนโยบายพรรคพลังท้องถิ่นไทยทำกรุงเทพฯให้เป็นรูปแบบพิเศษที่สมบูรณ์ คือ ผู้ว่าฯ กทม.จะต้องมีอิสระปราศจากกระทรวงมหาดไทย เพราะเรามองว่า บางเรื่องผู้ว่าฯถูกเลือกมาจากประชาชนควรจะจัดบริการสาธารณะไม่ให้ไปทับซ้อนระหว่างรัฐกับท้องถิ่นจึงมีการเสนอการถ่ายโอนภารกิจ งบประมาณและบุคลากร ซึ่งถือเป็นนโยบายพรรคพลังท้องถิ่นไทยที่สำคัญ

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงจังหวัดที่มีความพร้อมพิเศษให้จังหวัดพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างเต็มที่ และให้จังหวัดนั้นเป็นจังหวัดที่มีการปกครองท้องถิ่นเต็มจังหวัด เช่น จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม ซึ่งผมเป็นประธานอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ผมเสนอว่าควรให้จังหวัดภูเก็ตเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษ โดยมีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเอง ปรับให้เหมือนกรุงเทพฯ 

@มองว่าผู้ว่าราชการจังหวัดควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่

นโยบายของพรรคพลังท้องถิ่นไทย เราไม่ได้ทำทุกจังหวัด เลือกบางจังหวัด เราต้องการเสนอให้ทำจังหวัดที่มีความพร้อม มีประชากรที่มีรายได้สูงจัดการตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งรัฐ หรือจังหวัดในเขตปริมณฑล ซึ่งมีประมาณ 10 จังหวัด  นอกจากนี้พรรคพลังท้องถิ่นไทยยังชูนโยบายหาเงินให้รัฐบาล จึงเสนอพ.ร.บ.การพนันออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ  ซึ่งจากการวิเคราะห์คิดจากการเก็บภาษี 25% ประเทศจะได้รายได้ใหม่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทอย่างมาก 2.2 ล้านล้านบาท โดยเก็บภาษีจากเว็บพนันออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียน เพราะทำให้รัฐบาลขาดรายได้  โดยมีการจดทะเบียนพนันออนไลน์  เพราะดูแล้วภาษีพนัน เช่น จากการเล่นบาคาร่าออนไลน์ 1,000 ราย  1 ราย 1 พันล้านบาท ได้รายได้ประมาณเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งสภาฯได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว และประธานรัฐสภามองว่าเป็นกฎหมายการเงิน จึงส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ย้ำว่าพรรคพลังท้องถิ่นไทยอยากช่วยรัฐบาลหาเงินง่ายๆ เพื่อช่วยรัฐบาล จึงชูนโยบายเรื่องการเก็บภาษีพนันออนไลน์ เพื่อหารายได้ให้กับประเทศ ฉะนั้นในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าพรรค จะชูนโยบายเรื่องการสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ ทำให้ถูกต้องนำเงินเข้ารัฐ จากการแก้ไขเรื่องการสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศจากการแก้ไขปัญหาเรื่องการพนันออนไลน์ ผมคิดว่าเราในฐานะพรรคพลังท้องถิ่นไทย เราคิดถึงคนรากหญ้า คนจนว่าเราจะแก้ปัญหาให้เขาอย่างไร เราเป็นห่วงเรื่องความเหลื่อมล้ำและความเสมอภาค รวมถึงท้องถิ่นด้วยว่าจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างไร “นอกจากนี้ ผมอยากเสนอนายกฯว่าต้องทบทวน เราคิดถึงประเทศมาก เพราะเรามีแต่จ่าย ถ้าปล่อยให้ประเทศเป็นหนี้ไปเรื่อยๆแบบนี้ และคนไทยมีภาระผูกพัน เป็นมรดกให้ลูกหลานเป็นหนี้ต่อไปอีก ฉะนั้นต้องคิดแก้  ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็ต้องถูกต่อว่าอยู่อย่างนี้ไปตลอด“.