ล็อกดาวน์รอบใหม่ตั้งแต่ 3 สิงหาคม เพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มจาก 13 เป็น 29 จังหวัด

เคอร์ฟิวเหมือนเดิม ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่งเปิดได้ ร้านอาหารในห้างกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่ขายดิลิเวอรี่เท่านั้น ลูกค้ามาซื้อกลับบ้านไม่ได้ ปิดไม่เกิน 2 ทุ่ม ส่วนที่เพิ่มงดบริการขนส่งข้ามจังหวัด มีเพิ่มอีก ให้เปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล  ผ่อนคลายการเดินทางข้ามจังหวัดตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 31 สิงหาคม

ล็อกดาวน์รอบนี้ ในกรุงเทพฯ รถยังติด เน้นภาคราชการให้ทำงานที่บ้าน แต่เอกชนไม่บังคับ เอาเข้าจริง ราชการก็ยังทำงาน  50 สำนักงานเขตของ กทม. รถจอดแน่น ประชาชนมาติดต่องานกันตามปกติ

ถ้าจะล็อกดาวน์เข้มข้น ให้ทุกคนอยู่บ้านจริง ๆ ต้องปิดหน่วยงานราชการทั้งหมด ปิดระบบขนส่งมวลชนให้เหลือน้อยถึงน้อยที่สุด ให้การเดินทางสะดวกน้อยที่สุด ซึ่งนาทีนี้ไม่น่าจะช่วยเท่าไรแล้ว

เพราะที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่นายกฯ เป็นประธาน เมื่อวันอาทิตย์ รับทราบรายงานการประเมินล็อกดาวน์ให้มีประสิทธิภาพ 25 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำ 2 เดือน พร้อมเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงให้ได้ตามเป้าใน 1 ถึง 2 เดือน แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเกินวันละ 2 หมื่นคน

โรงพยาบาลหลายแห่งติดป้ายแล้วว่า ผู้ป่วยโควิดในการดูแลเกินศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ที่มี

ยังมีการชุมนุมของกลุ่มไล่นายกฯ ซึ่งมีความกังวลว่าอาจจะเกิดกลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อใหญ่ ๆ ได้

เจอแบบนี้ ทำอึดอัดมากทีเดียว โรคก็กลัว หาหมอก็ไม่ได้ ยังมีม็อบมาซ้ำอีก

มีอีกเรื่องที่น่าอึดอัด ดราม่าวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐบริจาค ตัวเลขเป๊ะ ๆ 1,503,450 โด๊ส ถึงไทยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ต่างจากตัวเลขที่คณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งลงรายละเอียดหลักเกณฑ์การจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนโด๊สไว้ก่อนหน้านี้ มีจำนวนที่จะได้รวมทั้งสิ้น 1,540,000 โด๊ส

หายไปไหนตั้งเยอะ

ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ นายกฯ ได้สั่งให้สื่อสารเรื่องสายพันธุ์เดลตาให้ประชาชนเข้าใจ ลดความตื่นตระหนก และให้จัดหาเตียงเพิ่มเติม ทั้งในโรงพยาบาล ระบบแยกกักตัวแบบดูแลตนเองที่บ้านและระบบกักตัวในชุมชน  และให้ตรวจเชิงรุกเข้มข้นขึ้นด้วย เพื่อแยกคนติดเชื้อออกจากคนปกติ

นอกจากนี้ยังได้หารือการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์เข็ม 3 ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่าได้สำรวจความต้องการในกรุงเทพฯ และทุกจังหวัดทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 4 แสนกว่าโด๊ส ได้รับแอสตราฯ ไปแล้ว 1 แสนโด๊ส จะกระจายไปยังแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ให้ครอบคลุมและเป็นธรรมแน่นอน

มีข้อมูล ณ วันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ใน 6 สภาวิชาชีพ แพทยสภา 61,289 คน สภาการพยาบาล 224,571 คน ทันตแพทยสภา 19,325 คน สภาเภสัชกรรม 45,411 คน สภาเทคนิคการแพทย์ 20,056 คน และสภากายภาพบำบัด 14,100 คน รวมทั้งสิ้น 384,752 คน

บอกความจริงเท่านั้น จะช่วยลดข่าวปลอม และความอึดอัดได้.

ชายธง