การไม่รู้ในสิ่งที่มีจริงหรือธรรมะที่มีจริง (สัจธรรม) ของชาวพุทธทั่วไปในสังคมเป็นเพราะนับถือพระพุทธศาสนาเพียงแต่ในนามเท่านั้น ไม่เห็นประโยชน์ในการฟังธรรมตามกาล จึงไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงถึงสภาวธรรมที่มีสามัญ ลักษณะ 3 ประการ (ไตรลักษณ์) คือ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา) ซึ่งมีสภาพธรรมสองประเภท คือ นามธรรมหรือนามธาตุหรือนามขันธ์ ประเภทหนึ่ง เป็นสภาพรู้ซึ่งมีทั้งจิตและเจตสิก และ รูปธรรมหรือรูปธาตุหรือรูปขันธ์ อีกประเภทหนึ่ง เป็นสภาพที่ไม่รู้ แต่ถูกรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

แม้ว่าได้เกิดมาเป็นคนในชาตินี้ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งมีพระธรรมที่ตรงตามพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกให้ได้ศึกษา แต่ชาวพุทธกลับละเลยไม่สนใจศึกษาพระธรรมโดยการฟังธรรมตามกาล จึงมีความไม่รู้ (อวิชชา) และมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) นานาประการโดยไม่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง การดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิตไม่มีความเป็นปรกติสุขในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีการประพฤติปฏิบัติทุจริตทั้งทางกาย วาจา ใจ ไม่มีความละอายชั่ว ไม่เกรงกลัวต่อบาป จึงมีความทุกข์กาย ทุกข์ใจมากกว่าความสุขกาย สุขใจ เพราะมีไฟกิเลสทั้งโลภะ โทสะ โมหะ เผาผลาญอยู่ตลอดเวลา

การไม่เชื่อกรรม การไม่เชื่อผลของกรรม การไม่เชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตนเองไม่เชื่อในกฎแห่งกรรมว่า กรรมดีเป็นเหตุนำไปสู่ผลของกรรมดี กรรมชั่วเป็นเหตุนำไปสู่ผลของกรรมชั่ว เมื่อตายไปจากโลกนี้แล้ว ผลของกรรมดีย่อมนำไปสู่สุคติภูมิ ผลของกรรมชั่วย่อมนำไปสู่ทุคติภูมิหรืออบายภูมิ ฉะนั้น ชาวพุทธจึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต การฟังธรรมตามกาลเป็นมงคลชีวิตประการหนึ่ง และเป็นบุญประเภทหนึ่งที่สำเร็จจากการฟังธรรม (สวนมัย) ซึ่งเป็นบุญกิริยาวัตถุ ประการสำคัญการฟังธรรมตามกาล เป็นการสะสมปัญญาซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเกื้อกูลแก่ชาวพุทธให้มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้อง จึงขอนำการสนทนาธรรมโดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ปี 2539 ดังนี้

 อาจารย์สุจินต์ กล่าวว่า “… ถ้าจะพูดเรื่องการปฏิบัติธรรมซึ่งทุกคนสนใจที่จะปฏิบัติ ขอให้ทราบว่าถ้าขณะใดยังไม่มีการเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็พิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งค่อยๆ รู้ในขณะที่กำลังเห็น ถ้าไม่เป็นการอบรมปัญญาอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะรู้ว่านี่คือธรรมะ ที่กล่าวถึงทุกวันว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะซึ่งกำลังเกิดดับ กว่าจะเห็นการเกิดดับซึ่งกำลังเห็นในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงรู้ว่ามีจิตกี่ดวง มีเจตสิกประกอบเท่าไร ซึ่งจิตเห็น มี เจตสิกประกอบเพียง 7 ดวงเท่านั้น นั่นเป็นเรื่องราวของจิตเห็น แต่ว่าปัญญาต้องสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ได้เรียนมาเรื่องจิตเห็น เพื่อให้คลายจากการยึดถือว่า เห็นเป็นเรา เพราะว่าเห็นเพียงชั่วขณะเดียว ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัดบวร ไม่มีโลกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมีเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก่อนที่เราจะเข้าใจเรื่องรูปเกิดดับหรือทุกอย่างเกิดดับ ก็ต้องแยกโลกใหญ่ๆ ที่รวมกัน ออกเป็นแต่ละทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วมีการละคลายความยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏและสภาพที่กำลังเห็น สภาพที่กำลังได้ยิน สภาพที่กำลังได้กลิ่น สภาพที่กำลังลิ้มรส สภาพที่กำลังกระทบสัมผัส สภาพที่กำลังคิดนึก จนกระทั่งมีความชำนาญและความเคยชินกับลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะเห็นว่าแต่ละขณะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ปรากฏนานอย่างที่เคยคิด แต่เป็นเพียงช่วงขณะหนึ่ง ซึ่งปรากฏแล้วก็หมดไป นี่คือสัจธรรม

ต้องแยกเป็นโลก 2 ประเภท คือ นามกับรูป เพราะเหตุว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แต่ถ้าเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ว่าจะเป็นรูปที่ตัวหรือรูปที่นอกตัว ไม่ใช่สภาพรู้ ถ้ามีแต่เฉพาะรูปอย่างเดียวไม่มีนามธรรม จะไม่เดือดร้อนเลย ไฟจะไหม้ น้ำจะท่วมที่ไหนก็ไม่มีสภาพรู้ที่จะไปเห็น ได้ยิน หรือเป็นทุกข์เดือดร้อน แต่ที่ทุกคนเป็นสัตวโลก มีชีวิตก็เพราะเหตุว่ามีสภาพซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นต้องแยกว่านามธรรมเกิดดับ รูปธรรมเกิดดับ แต่นามธรรมเกิดดับเร็วกว่ารูปธรรม 17 ขณะ

รูปเกิดตามสมุฏฐาน ไม่ต้องรอให้จิตไปรู้ ขณะนี้เสียงจะเกิดที่ไหนก็ได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ทุกๆ ขณะมีรูปเกิดดับตลอดไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม นอกจากรูปนี้รูปอื่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ จักรวาลทั้งหมดก็เป็นรูป รูปมีสมุฏฐาน ที่มี 4 อย่าง คือ สิ่งที่มีชีวิตเป็นรูปที่เกิดจากกรรม เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ เป็นรูปที่เกิดจากอาหาร เป็นรูปที่เกิดจากโอชา สิ่งที่ไม่มีชีวิตมีสมุฏฐานของรูปที่เกิดจากอุตุเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ภูเขา เรื่องรูปที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นเรื่องของรูป ซึ่งเป็นโลกแบบภูมิศาสตร์ที่เราใช้คำว่า โอกาสโลก เป็นจักรวาล นอกจากนี้แล้วยังมีสัตวโลกอีกด้วย

สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป สภาพธรรมนั้นเป็นโลกะ เป็นโลกียะซึ่งเนื่องกับโลก ไม่ใช่โลกุตระซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ เพราะฉะนั้นในขณะที่พูดถึงเรื่องโลกที่มีการเกิดดับ จะต้องแยกว่า ไม่มีคนแล้ว แต่ว่าสภาพธรรมซึ่งมีสองอย่าง เป็นนามธรรมกับรูปธรรมซึ่งเกิดดับทั้งสองอย่าง ในภูมิที่มี ขันธ์ 5 ก็มีทั้งรูปธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ นามธรรมจะรู้หรือไม่รู้ก็ไม่เป็นไร จิตจะเห็นสีหรือไม่เห็น เสียงที่กำลังเกิดขึ้นและดับไป ใครจะได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ไม่ใช่เรื่องที่ว่าจิตเกิดขึ้นได้ยินถึงจะเป็นโลก แต่ว่าสภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับ สภาพธรรมนั้นเป็นโลกทั้งหมด…

จะเห็นได้ว่าความเข้าใจมีน้อยนิดสักแค่ไหน เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ แต่ขณะที่เห็น เป็นคน เป็นสัตว์ ไม่ใช่ธรรมะที่มีจริง แต่เป็นเรื่องงราวของสีสันวรรณะที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เรื่องราวของเสียงที่ปรากฏทางหู นี่แสดงว่ากำลังเผชิญหน้ากับธรรมะ กำลังเห็น แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ความจริง เพราะฉะนั้นทั้งหมดเป็นเรื่องการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมซึ่งเป็นสัจธรรม มีโอกาสที่จะรู้ว่าความจริงเป็นอะไร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โมหะ อวิชชา กิเลสมากมายสักแค่ไหน ความจริงที่จะต้องมีมากมาย ความจริงที่จะต้องมีต่อไปก็คือเมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็คือ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็เพิ่มการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกว่าจะถึงวันนั้น ช้าหรือเร็วไม่สำคัญเลย เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องจริงที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริง…

วิชชากับอวิชชาต่างกัน อวิชชาคือความไม่รู้ เมื่อมีความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็มีเหตุที่จะต้องเกิดโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรืออกุศลอื่นๆ แล้วอวิชชาคือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร เมื่อมีความไม่รู้ หมายความว่าไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าทุกคนยึดถือจิตว่าเป็นเรา แต่ว่าจิตเองไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น…

ใครก็ตามที่ไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมโดยถ่องแท้ จะไม่มีเครื่องประกอบที่จะทำให้เกิดความเข้าใจว่าสภาพของจิตเป็นอย่างไร สติทำหน้าที่ระลึกรู้เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจะต้องอาศัยการศึกษาทั้งหมดเพื่อที่จะได้ค่อยๆเกิดความรู้ว่า  ขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏอย่างนี้ แล้วไม่เคยรู้เลย เคยแต่ฟังเรื่องของสภาพธรรม เคยแต่ฟังเรื่องของจิต เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราที่กำลังจะไปพิสูจน์ ถ้าเป็นเช่นนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เป็นตัวเรา ไม่มีทางที่จะเอาตัวเราออกไปได้เลย แต่พระธรรมทั้งหมดแสดงความละเอียดของความเป็นอนัตตาของทั้งจิต เจตสิก รูป ขณะที่คิดอย่างนั้นก็เป็นจิตซึ่งเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ต้องรู้อย่างนี้จนกระทั่งเป็นสัญญาเจตสิกซึ่งเป็นความจำที่มั่นคงจริงๆ ถ้าสติเจตสิกมีการระลึกได้อย่างนี้ สัมมาสติก็จะมีการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่ใช่เราจะไปพิสูจน์….

ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า ลักษณะของจิตนั้นเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าเคยเป็นตัวตน หรือว่าเคยเป็นเรามาตั้งแต่เกิด อย่างขณะนี้เอง กำลังเห็น เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่งที่กำลังเห็น เพื่อจุดประสงค์อันนี้ ไม่ว่าใครจะศึกษาปริยัติธรรมมาตั้งแต่ในชาติก่อนไหนๆ หรือว่าแม้ในชาตินี้  จะเรียนจบกี่ปริเฉทก็ตาม หรือว่าจะอ่านพระไตรปิฎก อรรถกฐาแล้วก็ตาม ถ้าไม่สามารถที่จะระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงในขณะนี้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นธาตุ หรือสภาพธรรมหรือเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งต่างกันสองอย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม จิตซึ่งเป็นนามธรรม เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ขณะที่กำลังเห็น ถ้าสามารถที่จะแยกขาด รู้ชัดในลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ นั้นคือปัญญา ซึ่งเกิดจากการฟังธรรมจนกระทั่งมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งมีปัจจัยที่จะทำให้สติเกิด ระลึกได้ว่า ขณะนี้ที่เห็นตรงกับที่ได้ศึกษาตามความเป็นจริงว่า มีธาตุรู้ที่กำลังเห็นในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย….

ประโยชน์ของการที่จะรู้เรื่องจิตประเภทต่างๆก็เพื่อที่จะให้สามารถรู้ความจริงว่า ขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน เพราะชื่อว่าจิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ แค่นี้เป็นบทนำ เป็นมาติกา หรือแม่บท ถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องจิตประเภทต่างๆประกอบ  ทำอย่างไรถึงจะเห็นจริงๆว่า จิตเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุที่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด… 

เพราะฉะนั้นอกุศลจิตกับกุศลจิต สลับกับวิบากจิต กิริยาจิตอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงต้องเป็นไปตามลำดับของจิต ต้องรู้ว่ากำลังศึกษาเรื่องราวของจิต กำลังเป็นเรื่องราว แต่ว่าถ้าขณะนี้สติระลึกลักษณะของจิต จึงจะทราบความจริงว่าจิตขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล แล้วก็เวลาที่เกิดโทสะก็รู้ว่าเป็นอกุศล แต่เวลาที่ไม่เป็นโทสะ หรืออย่างอื่นอาจจะรู้ยาก เช่น โลภะ ตื่นมาจะรู้ไหมว่า มีโลภะแล้ว เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่โทสะมูลจิต หรือโมหมูลจิต ก็ต้องเป็นโลภะมูลจิต…

ถ้าศึกษาพระธรรมแล้วจะทราบว่า ปรมัตถธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป พูดโดยนัยของปรมัตถธรรมไม่มีคนเลย มีแต่จิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นชาติอะไร ขณะใดที่จิตเป็นกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ขณะใดที่อกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้นจะบอกไม่ได้เลยว่ากำลังนั่งอยู่อย่างนี้ มีวิบากจิต คือ เห็น ได้ยิน ขณะที่กำลังฟังธรรม พอได้ยินเสียงแล้ว มีความเข้าใจเกิดขึ้นไหม ถ้ามีความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพของกุศลจิตที่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก แต่ว่าเวลาที่ได้ยินเสียงแล้วเกิดนึกถึงเรื่องอื่นเป็นอกุศลจิตได้ไหม ก็ย่อมได้ ก็แล้วแต่แต่ละขณะจิต…

ทั้งหมดนี้เป็นชีวิตประจำวัน เราจะสังเกตได้ว่า เวลาที่เราเดินไปเราก็เห็น อยู่ที่ความสนใจว่าเราใส่ใจเพียงในนิมิตหรืออนุพยัญชนะด้วย แต่การที่ไม่ติดในนิมิตหรืออนุพยัญชนะก็ด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าโดยความไม่รู้อะไรเลยก็พยายามไม่ติด ซึ่งเป็นการที่ไม่จริง แต่ถ้าปัญญาสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งรู้ความจริงว่า ตามความเป็นจริงแล้วก็คือสิ่งที่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้กำลังเห็นสิ่งนั้น ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับ…

ขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน 6 ทาง ขณะนั้นโลกไม่ปรากฏ แล้วก็ทั้งๆ ที่เห็นก็ดับแล้ว ผู้ที่ประจักษ์จริงๆ ก็รู้ว่าขณะเห็น ขณะต่อไปไม่ใช่ขณะก่อน สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือจะเป็นเสียงหรือจะเป็นกลิ่นก็ไม่ใช่อันเดิม ทุกอย่างที่ปรากฏชั่วขณะหนึ่งนั้น ปรากฏสั้นมาก แล้วก็ดับหมดไปเลย นี่คือความหมายของว่างเปล่า ต้องเข้าใจความจริงและต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สติจะระลึกและรู้ความจริงอย่างนี้…

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”