“ทีมข่าวอาชญากรรม” ขอคลี่ปมสงสัยที่เกิดขึ้นผ่านการพูดคุยกับ ดร.ขัตติยา รัตนดิลก ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม เพื่อความชัดเจนในเจตนารมณ์กฎหมายที่จะเกิดขึ้นใหม่ในสังคม

“แก้ไขฟื้นฟูเป็นการลงโทษ?”                

ดร.ขัตติยา ระบุ ถือเป็นความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นมากสุด พร้อมชี้แจงเจตนารมณ์กฎหมายฉบับดังกล่าว คือการเข้าไปแก้ไขฟื้นฟู ไม่ใช่การลงโทษซ้ำหรือทำให้สาสม เพราะการลงโทษตามกฎหมายคือการจำกัดอิสรภาพ ซึ่งผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษตามคำพิพากษาให้จำคุกตามโทษทัณฑ์อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาหลายครั้ง การกระทำผิดซ้ำๆ ในคดีรุนแรงเกิดขึ้นกับคนเดิมๆ และจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพและจิต เช่น โรคจิตเภทที่กระทำโดยไม่รู้ตัว ควบคุมตัวเองไม่ได้

การไม่มีกระบวนการแก้ไขบำบัด จึงนำมาสู่การกระทำผิดซ้ำ เพราะความเจ็บป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา เพียงจองจำเพื่อรอวันปล่อยคนเดิมออกมา

แต่กฎหมาย JSOC ในคดีอุกฉกรรจ์ที่เข้าเงื่อนไขจะประเมินและเสนอศาลให้มีคำสั่ง “รักษาทางการแพทย์” เพิ่มไปด้วย เพื่อให้ผู้กระทำผิดนอกจากรับโทษต้องได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง และแม้จะครบกำหนดโทษ หากยังพบความเสี่ยงเป็นอันตรายสูงยังมีกฎหมายให้เฝ้าระวังได้อีก 10 ปี หรือขอคุมขังภายหลังพ้นโทษ

ถือเป็นการคุ้มครองทั้ง 2 ฝ่าย สังคมไม่เสี่ยงอันตรายกับคนเดิม ส่วนคนทำผิดเพราะมีอาการป่วย ก็ได้รับรักษาไม่ต้องทำผิดซ้ำแล้ววนกลับมาที่เดิมอีกเหมือนที่ผ่านมา 

“มาตรการทางการแพทย์ ใช้เฉพาะผู้มีภาวะป่วย”

ยกตัวอย่าง คดีข่มขืนที่มีลักษณะร้ายแรง หรือผิดซ้ำๆ ผู้กระทำผิดในคดีข่มขืนอุกฉกรรจ์ไม่ใช่ทุกคนที่มีความผิดปกติทางฮอร์โมน การประเมินเพื่อรักษาต้องผ่านขั้นตอนทางการแพทย์ให้ความเห็นว่า เป็นผู้ป่วยและเสนอให้มีการรักษาที่ต้องได้รับความยินยอมด้วย

“การฉีดฮอร์โมนไม่ง่าย-ไม่ใช้กับทุกคดีข่มขืน”

การฉีดฮอร์โมนลดความต้องการทางเพศ จะประเมินความผิดปกติตามหลักการแพทย์อย่างรอบคอบ มีการตรวจเลือดเพื่อดูค่าฮอร์โมนว่าส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่สามารถควบคุมความต้องการได้ด้วยตัวเอง หรือใช้มาตรการอื่นแทนได้

“ข่มขืนเพราะเมาต้องแก้ที่เมา จากภาวะจิตต้องรักษาจิต”

การฉีดฮอร์โมนทำได้เฉพาะผู้ประเมินว่ามีภาวะผิดปกติทางฮอร์โมน หากการข่มขืนไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติดังกล่าว จะไม่ใช้วิธีนี้ การฉีดต้องผ่านความเห็นพ้องของแพทย์ 2 คน (อายุรแพทย์ และจิตแพทย์)

กรณียินยอมรักษา กระบวนการฉีดจะเริ่มช่วงใกล้ปล่อยตัว เข็มแรกขั้นต่ำ 3 เดือนก่อนพ้นโทษ จากนั้นจะฉีดต่อเนื่องจนกว่าฮอร์โมนจะอยู่ในภาวะปกติและปรับพฤติกรรมได้ โดยต้องรายงานผลการรักษาต่อศาล ยกตัวอย่าง หากตัดสินจำคุก 20 ปี ใน 20 ปี จะยังไม่มีการฉีดเพราะไม่มีเหยื่อในเรือนจำ หรือหากจำคุกไปแล้ว แก่ตัวขึ้นฮอร์โมนลดลงตามสภาพ ก็จะมีการประเมินก่อนปล่อยเพื่อใช้มาตรการที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม กรณีความผิดปกติทางจิตแล้วไปก่อเหตุอุกฉกรรจ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดทางเพศ การรักษาเริ่มได้ทันทีระหว่างถูกจองจำ โดยเฉพาะโรคจิตเภทที่ต้องได้รับยาต่อเนื่องเพื่อควบคุมตัวเอง

“ทำไมกฎหมายมีผลย้อนหลัง”

ปัจจุบันมีผู้กระทำผิดลักษณะอุกฉกรรจ์ในเรือนจำประมาณ 15,000 คน ในจำนวนนี้ประเมินว่ามีผู้ทำผิดที่ป่วยทางจิตประมาณ 1,000 คน ด้วยเจตนาที่ต้องการให้คุ้มครองสังคมทันที หากบังคับใช้เฉพาะผู้ทำผิดเข้าใหม่ กลุ่มเดิมที่มีอาการป่วยจะทยอยพ้นโทษออกมา มีโอกาสกระทำผิดซ้ำเดิม เพราะไม่ได้รับการแก้ไขหรือสามารถเฝ้าระวังหลังพ้นโทษได้อีก.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]