เด็ก 5 ขวบ หนีออกจากบ้านขอความช่วยเหลือเหตุถูกแม่ทำร้ายร่างกาย มีรอบเขียวช้ำทั่วตัว

เด็ก 6 ขวบ ถูกยายใช้สากกะเบือทำร้ายจนเสียชีวิตสลด

เด็ก 12 ขวบ ถูกพ่อเลี้ยงข่มขืน แม่รู้แต่ไม่ช่วยเหลือ เขียนเรียงความบอกครู

เด็ก 16 ปี ถูกพ่อข่มขืนต่อเนื่องนาน 9 ปี พี่ชายไม่กล้าช่วย พี่สาวให้จำทน

คดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นเป็นข่าวภายใน1 เดือน แต่สะท้อนให้เห็นหลายพฤติกรรมชวนวิเคราะห์ถึงปมปัญหา และหาหนทางลดโอกาสพังทลายของสถาบันครอบครัวในอนาคต “จะเด็จ  เชาวน์วิไล” ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ถึงสถานการณ์ในปัจจุบันท่ามกลางปมปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และปมใหม่ที่สังเกตได้ช่วง1-2 ปี หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ความรุนแรงในครอบครัววิกฤติอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปม “ทับซ้อน” หลายชั้นมากขึ้น

ทั้งรากปัญหาทัศนคติชายเป็นใหญ่  อำนาจนิยมที่มองเด็กเป็นสมบัติของตัวเอง รากปัญหาใหม่คือผลพวงวิกฤติโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ คนตกงาน มีความเครียด เกิดความขัดแย้งในครอบครัว ทำให้เด็กมีโอกาสกลายเป็นเหยื่อมากขึ้นอย่างที่เห็น

อีกด้านปัญหายังฝังรากมาจากรัฐ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือมองเด็กเป็น “ทรัพยากรมนุษย์” แต่มองเป็นเรื่อง ปัจเจก (เฉพาะคน) ทำให้ไม่มีสวัสดิการเพื่อแบ่งเบาภาระ หรือสนับสนุนให้มีการพัฒนาเท่าที่ควรจะเป็น

“รัฐมองการเลี้ยงดูเด็กในสังคมเป็นปัจเจกเฉพาะคน ไม่ใช่หน้าที่ ทั้งที่จุดนี้เป็นหน้าที่ของรัฐด้วย เห็นได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญกับการมีสวัสดิการให้เด็กและครอบครัวไปด้วยกัน เพราะมองว่าเด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่ รัฐจึงต้องมีสวัสดิการเพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นความพยายามขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้เลย”

ทั้งนี้ ย้ำว่าการไม่ขยับแก้ไปที่รากของปัญหาเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นสถานการณ์เด็กถูกทำร้ายที่มีแนวโน้มแย่ลง และจะยิ่งคลี่คลายได้ยากขึ้นเพราะปัจจัยใหม่ๆที่เพิ่มเข้ามากอย่างที่เห็น

“หน้าตา” สถาบันครอบครัวในอนาคต

จากสถานการณ์เหล่านี้ ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วิเคราะห์ว่าอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ และครอบครัวมีโอกาสแตกสลายมากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีสิ่งยึดโยง จากที่ผ่านมาหลายครอบครัวต้องแยกกันอยู่ เพราะพ่อแม่ไปทำงานในเมือง ต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย แต่ความรุนแรงที่มีมากขึ้นจะผลักให้เด็กออกไปพึ่งตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่กับใคร และมีโอกาสหลุดจากระบบ เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นช่วงวัยเด็ก และวัยรุ่น ครอบครัวไม่ได้เป็นที่พึ่งได้อีกต่อไป

โดยกลุ่มที่น่าห่วงมากสุดคือครอบครัวยากจนและคนจนใหม่จากวิกฤติล่าสุด การตกงานถาวร ไม่มีเงินไปดูแลครอบครัวเพื่อทำอะไรให้ดีขึ้น

“เมื่อก่อนยังมีการยึดโยงระหว่างเมืองและชนบท จากคนที่ไปทำงานในเมือง แต่ต่อไปอาจไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม”

ย้อนดูสัญญาณวิกฤติที่ค่อยๆ ปรากฏในห้วง 10 ปี จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เฉพาะข่าวการฆ่ากัน การทำร้ายกัน และความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว

ปี 2555  มีจำนวน 234 ข่าว

ปี 2557  มีจำนวน 289 ข่าว

ปี 2559  มีจำนวน 334 ข่าว

ปี 2561  มีจำนวน 497 ข่าว

ปี 2563  มีจำนวน 465 ข่าว

เฉพาะปี 2563 แบ่งเป็น การฆ่ากัน 323 ข่าว การทำร้ายกัน 101 ข่าว และความรุนแรงทางเพศ 41 ข่าว

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทิ้งท้าย ความรุนแรงในครอบครัวแค่การประณาม จับกุม ลงโทษ ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงวิกฤติ ตราบใดที่ปัญหาหลักจากโครงสร้างไม่ถูกขยับ.    

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]