การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คนไทยต้องร่วมมือกันงดออกจากบ้านให้มากที่สุด โดยเฉพาะในระยะนี้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ “เดลตา” ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้เร็ว 1 คน แพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ 8-9 คน ซึ่ง“ล็อกดาวน์” การงดออกจากบ้านของประชาชน ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ที่ทำเสริมกันทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่เสี่ยงเพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต รวมถึงค้นหาผู้ติดเชื้อและนำเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็ว ประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้ออยู่ที่ 20% และยังคงเห็นยอดผู้ติดเชื้อรายงานวันค่อนข้างสูงขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการเสียชีวิตที่มุ่งหวังไว้ยังไม่ลดลงเท่าที่ควร

พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย

ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ขยายช่วงเวลาล็อกดาวน์ออกไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ออกมาระบุว่า หากเพียงแต่ช่วงนี้ “คนไทยทุกคน” ร่วมมือกัน “หยุด” อยู่บ้านให้มากขึ้น และปฏิบัติมาตรการสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคระดับบุคคล ทั้งสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ถ้าทำอย่างเข้มข้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการระบาดจาก 20% เป็น 25%
หรือพูดง่าย ๆ คือเพิ่มมาอีกแค่ 5% เราจะสามารถ “ชะลอ” การระบาด หรือ ตรึงยอดการติดเชื้อไม่ให้หนักเกินไปให้ระบบสาธารณสุข สามารถเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อการ หยุดอยู่บ้าน หรือ Work from Home (WFH) อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เรื่องการกินอยู่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า ช่วงนี้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน และนิยมสั่งซื้ออาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ช่วงเดือน มี.ค.2563 มีผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์สูงถึง 85% โดยเฉพาะฟาสต์ฟู้ด กว่า 61% อาหารตามสั่ง 47% ก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารประเภทเส้น 41% ส่วนอาหารสำเร็จรูปมีการสำรองกักตุนไว้ 69% ส่วนใหญ่เป็นบะหมี่ เนื้อสัตว์แปรรูป ขนมหวาน และอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง

’อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดที่นิยมสั่งกันนั้น มักจะมีสารอาหารประเภทไขมันและโซเดียมสูง กินมากอาจสะสมเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดได้“ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา จึงแนะนำวิธี กินแบบพอเพียงช่วงโควิด–19 คือ 1. กินพออิ่มในแต่ละมื้อ ตักอาหารปริมาณที่พอเหมาะไม่มากจนเกินไป 2. ดัดแปลงอาหารที่เหลือเป็นอาหารจานใหม่ เช่น ผัดคะน้า นำมาต้มจับฉ่ายผสมกับผักอื่น ๆ นํ้าแกงส้มที่เหลือสามารถเติมผักเพิ่ม เช่น ถั่วฝักยาว มะละกอ แครอท ผักบุ้ง ส่วนผลไม้ที่เหลือหลายชนิด นำมาทำเป็นสลัดผลไม้

3. เรียนรู้วิธีการเก็บรักษาอาหารแต่ละประเภท เพื่อยืดอายุการใช้งานของวัตถุดิบต่าง ๆ 4. หุงข้าวผสมข้าวโพด ถั่ว เผือก มัน เพื่อเพิ่มวิตามินและยังได้สารอาหารอื่น ๆ ด้วย 5. เลือกวัตถุดิบคุณภาพดีราคาถูก ในการทำเมนูอาหาร เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาจใช้ ไข่ เต้าหู้ และถั่วเมล็ดแห้ง สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกับเนื้อหมู ไก่ เลือกผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล

6.เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสำเร็จรูปให้มากขึ้น เช่น นำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาเพิ่มวัตถุดิบอาหารที่เสริมสร้างภูมิต้านทาน ผัก และสมุนไพร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผัดกะเพรา หรือต้มยำทรงเครื่อง ปลากระป๋องห่อไข่ 7. ลดการกินจุบ กินจิบ กินอาหารให้เป็นเวลา 8. งดการกินอาหารมื้อดึก เพราะจะสะสมเป็นไขมัน ทำให้นํ้าหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ 9. เคี้ยวอาหารช้า ๆ จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วกว่า เพราะร่างกายคนเราจะเริ่มรู้สึกอิ่มเมื่อกินอาหารไปประมาณ 20 นาที และ 10. ไม่กินทิ้งขว้าง มีวินัยในการซื้อและการกินที่ดี.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก

เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง