น่าแปลกที่ข้อเท็จจริงกลับสวนทาง เพราะยังคงมีผู้เสียหายแทบสิ้นเนื้อประดาตัวจากการหลอกลงทุนจำนวนมาก ผุดขึ้นรายวัน…

ความเสียหายนับพันล้านบาท จากผู้เสียหายเกือบ 2,000 คน ที่ร่วมลงทุนธุรกิจ “ฟาร์มเห็ด” แห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.สกลนคร เป็นหนึ่งตัวอย่างล่าสุดที่ใช้กลลวงแทบไม่ต่างจากอดีต  ตั้งแต่แผนธุรกิจสินค้าใกล้ตัว อย่างการปลูกเห็ดชนิดต่าง ๆ การปลูกกระท่อมตามกระแสปลดล็อกจากพืชเสพติด, จ่ายผลตอบแทนสูง, สร้างโปรไฟล์น่าเชื่อถือ อาศัยคนมีชื่อเสียง หน้าตาทางสังคม

อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งจุดที่คาดว่าทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อลงทุน แม้จะลังเลในช่วงแรกนั่นคือการมีที่ตั้งบริษัทเปิดเผยชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีโรงเรือนเพาะเห็ดในโครงการฝากเลี้ยงตั้งให้เห็น โดยแผนลงทุนหลักมี 2 รูปแบบคือ

-ลงเงินรอปันผล ผู้ลงทุนแค่นำเงินมาฝากเลี้ยงเห็ดโรงเรือน ขายได้ก็จะได้รับเงินปันผล

นำก้อนเชื้อเห็ดไปเพาะเลี้ยงเอง ก่อนส่งขายต่อให้ฟาร์มรับซื้อราคาสูง

แผนประทุษกรรมครั้งนี้จะมีการเชิญชวนให้ผู้สนใจลงทุนทำฟาร์มเห็ดในรูปแบบการฝากเลี้ยงคล้ายผู้ลงทุนเป็นเจ้าของโรงเพาะได้ง่ายๆ เพียงแค่ลงเงิน ทำสัญญาฝากเลี้ยง ไม่มีที่ดิน ไม่มีเวลาก็ทำได้ หรือที่คำโฆษณาระบุว่า ไม่มีความรู้ แต่อยากลงทุน เนื่องจากฟาร์มจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้ลงทุนแค่ออกเงินทุนและรอรับปันผลประมาณ 18-30 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน แถมยกเลิกสัญญา ยังสามารถขายคืนโรงเรือนได้อีก

หนึ่งในผู้เสียหายระบุ ที่ทำให้หลงเชื่อเพราะเห็นว่าบริษัทมีการจดทะเบียนจริง มีการลงทุนการเกษตรหลายรูปแบบ เช่น พริก เห็ด เยื่อไผ่ ไปจนถึงกระท่อม นอกจากนี้เห็นภาพบุคคลอ้างอิงมีชื่อเสียงเลยยิ่งเชื่อ ที่สำคัญพบว่าเคยได้รับราวัลจากเกษตรจังหวัดสกลนคร ทำให้มั่นใจร่วมลงทุน ซึ่งช่วงแรกได้รับเงินปันผลจริงจึงลงทุนเพิ่มขึ้น ก่อนที่ต่อมาอ้างว่าถูกธนาคารอายัดบัญชีทำให้จ่ายเงินปันผลไม่ได้

หลังผู้เสียหายทยอยแสดงตัวเข้าร้องเรียนหลายพื้นที่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาแล้ว 8 คน พร้อมหมายค้น 3 จุดหลัก ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงาน โรงเรือน และบ้านพัก ได้แก่ หจก.สถานีหลักสี่, บริษัท ไมน์นิ่ง นายน์ เอ็กซ์ จำกัด และบ้านพักแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.สกลนคร เบื้องต้นจับกุมหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับได้ที่บ้านพัก 1 ราย

ห้วงการหลอกลวงเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.2564-ก.ค.2565 กลุ่มผู้ต้องหามีการสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดขึ้นหลายโรง จากนั้นโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์หลายช่องทางเชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนเพาะเห็ด-ปลูกกระท่อม กำหนดอัตราลงทุนและผลตอบแทนสูงเป็นตัวล่อ เช่น ลงทุน 132,000 บาท ผลตอบแทนหลังลงทุน 4 เดือน เดือนละ 53,200 บาท ทุกเดือน เป็นเวลา 7 ปี โดยมีการทำสัญญาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และระหว่างการระดมทุนยังสร้างภาพชวนลงทุนมากขึ้นด้วยการโพสต์ภาพคนมีชื่อเสียงทั้งดารา นักการเมืองต่อเนื่อง

จากข้อมูลทราบว่าผู้ต้องหาหลักหลบหนีออกนอกประเทศไปตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2564 และอยู่ระหว่างการประสานตำรวจสากล นำตัวกลับมาดำเนินคดีฐานฉ้อโกงประชาชน, กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ปัจจุบันยอดความเสียหายยังสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีเหยื่ออยู่ทั่วประเทศ 

เป็นจุดอ่อนของโลกออนไลน์ที่ควรระวัง เพราะการหลอกลวงที่ทำผ่านช่องทางนี้ระดมทุนง่าย สร้างความเสียหายรวดเร็ว และมีเหยื่อกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ข้อมูล ศปอส.ตร.ปี 2564 มีสถิติรับแจ้งกรณีหลอกลวงผ่านออนไลน์ 21,034 เรื่อง ในจำนวนนี้เกินครึ่งเป็นกรณีฉ้อโกง (แชร์ลูกโซ่, แชร์ออนไลน์, หลอกขายสินค้า) จำนวน 12,254 เรื่อง 

แม้รูปแบบระดมทุนจะพลิกแพลง แนบเนียนขึ้นแค่ไหน แต่หากคำนึงถึงความเป็นไปได้ โดยเฉพาะจุดอ่อนที่หลายคนพ่ายแพ้ให้กับค่าตอบแทนอัตราสูง ลงเงินไม่ลงแรง ต้องบอกว่าการมีสติชั่งใจ และศึกษาสิ่งที่จะลงทุนด้วย ยังเป็นคาถาป้องกันที่ดีเสมอ.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]