ว่ากันต่อกับเรื่องตำรวจต่างประเทศครับ เรามาถึงหน่วยงานที่เรียกภาษาไทยว่า สำนักงานสอบสวนกลาง หรือชื่อย่อ FBI ซึ่งมาจากชื่อเต็มว่า Federal Bureau of Investigation อำนาจของเอฟบีไอมีหลายคนสงสัยมากว่าคือตำรวจหรือไม่ ก็ถ้าตอบตรง ๆ ก็คือ ไม่ใช่ตำรวจครับ แต่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเหมือนกัน

อธิบายให้หายงงก็คือ ในสหรัฐอเมริกานั้น แต่ละรัฐเขาจะมีตำรวจของตัวเอง ใช้กฎหมายของตัวเอง ฝึกกันเอง เอาเข้าจริงหลายประเทศในโลกนี้ก็ใช้ตำรวจแบบเดียวกับอเมริกา ทีนี้พออาชญากร ฆาตกรก่อเหตุข้ามรัฐ มันก็จะต้องประสานงานกันระหว่างตำรวจแต่ละรัฐ ซึ่งตามหลักสูตรข้าราชการ ข้ารัฐการทั่วโลก มีหน่วยงานเยอะ แต่ประสานงานกันไม่ค่อยได้เรื่อง ดังนั้นเอฟบีไอจึงกำเนิดมาตรงนี้แหละครับ คือ ไล่ล่าคนร้ายข้ามรัฐหรือก่อเหตุในหลายพื้นที่

จุดเริ่มต้นของเอฟบีไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อกระทรวงยุติธรรมอเมริกานั้น เริ่มจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เรามีอาชญากรที่ก่อเหตุปล้นธนาคารในหลายพื้นที่มาก สื่อมวลชนก็ตั้งฉายาให้คนพวกนี้กลายเป็นคนดังเพื่อขายข่าว เอฟบีไอถือว่าคนเหล่านี้คือศัตรูของสาธารณะ ต้องไล่ล่าจัดการให้เด็ดขาด ทางรัฐบาลก็ให้อำนาจเอฟบีไอในส่วนนี้มากขึ้นในการจัดการคนร้ายเอฟบีไอเป็นหน่วยงานที่คนในองค์กรเน้นย้ำว่า เปลี่ยนแปลงช้า แต่ทุกครั้งที่เปลี่ยนจะมีประสิทธิภาพ จากหน่วยงานที่ไม่มีใครให้ความสนใจ การจับกุมคนร้าย ใช้หลักวิทยาศาสตร์มาปรับใช้ การรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้เอฟบีไอสามารถจัดการเข้าถึงอาชญากร ฆาตกร องค์กรอาชญากรรมได้อย่างง่ายดาย และเป็นต้นแบบให้หลายประเทศทั่วโลกเอามาปรับใช้ ของไทยก็เอามาปรับใช้ครับ แต่ดูเหมือนประสิทธิภาพจะไม่ได้ดีเท่า

คุณงามความดีทั้งหมดต้องยกให้ เจ เอดการ์ ฮูเวอร์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของเอฟบีไอคนแรกที่ยกระดับเป็นหน่วยงานใหญ่ หลังจากเมื่อก่อนเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ ฮูเวอร์เองนั้นเชื่อว่าถ้า เรามีระบบข้อมูลส่วนบุคคลมากพอ ก็จะสามารถระบุได้ว่าใครเป็นใครได้ เขาใช้ผู้เชี่ยวชาญในการทำคดี และเน้นให้บุคลากรที่เข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ (Agent) ต้องจบปริญญาตรี แต่งกายเรียบร้อย ต้องเข้าอบรม มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มียศเหมือนตำรวจ มีอำนาจในการเข้าไปทำคดีได้ทันที เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานรัฐบาลกลางมีอำนาจมากกว่าหน่วยงานท้องถิ่นที่ขึ้นตรงต่อมลรัฐ

อย่างไรก็ดีฮูเวอร์นี้เป็นคนที่มุ่งเน้นการจับกุมคนร้าย ในสภาพที่สังคมอเมริกันปั่นป่วน คนดำเรียกร้องสิทธิพลเมือง สงครามเวียดนาม ฮูเวอร์นี่แหละครับที่ใช้ วิธีการดักฟังแบล็กเมล์ผู้นำขบวนการประท้วง รวมไปถึงผู้นำทางการเมืองด้วย ว่ากันว่าเอฟบีไอมีข้อมูลชู้รักของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ มากมาย และด้วยการมีข้อมูลลับแบบนี้ รู้จักการทำประชาสัมพันธ์ เข้าถึงสื่อมวลชน ฮูเวอร์จึงเป็นผู้อำนวยการที่อยู่ในตำแหน่งนานมาก จนตายคาตำแหน่งไปเลย โดยมีรองผู้อำนวยการซึ่งเป็นชู้รักของฮูเวอร์ผูกขาดตำแหน่งด้วย

ความจริงที่รู้กันในเวลาต่อมาก็คือ ฮูเวอร์แกเป็นเกย์ ครับ และแกเคยแบล็กเมล์นักการเมืองหลายคนที่เป็นเกย์ไม่ให้กล้างัดข้ออะไรกับแกด้วย เรียกได้ว่าแกเป็นคนที่ ฝ่ายเสรีนิยมเอียงซ้ายไม่ชอบเอามาก ๆ เพราะถือว่าเป็นคนใช้อำนาจอย่างน่ากลัวที่สุด แต่สำหรับคนเอฟบีไอแล้ว แกคือผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง ตึกทำงานตั้งตามชื่อแกเพื่อเป็นเกียรติชายคนนี้

เอฟบีไอนั้นเขียนหลักสูตรฆาตกรต่อเนื่อง หรือเขียนหลักสูตรการจับกุมคนร้าย วิธีการเจรจาตัวประกันมากมา เพราะมีหน่วยงานเชี่ยวชาญทั้งพิเคราะห์ลายมือของคนร้าย เลือด ซึ่งตอนนี้เอฟบีไอก็ได้เพิ่มการจับกุมองค์กรก่อการร้ายในประเทศไปด้วย ซึ่งก็คือพวกผิวขาวคลั่งขวาที่เคยไปก่อเหตุบุกรัฐสภาอเมริกา เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ก็ไล่จับไปหลายคนแล้ว 

อย่างไรก็ดีมีคดีหนึ่งที่เอฟบีไอทำงานพลาดอย่างแรง นั่นก็คือคดีการจับกุมนาย ริชาร์ด จีเวลส์ รปภ.งานโอลิมปิก เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ที่จัดในปี 1996 จีเวลส์เป็นคนแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า พบกระเป๋าต้องสงสัยและได้กันคนออกไปในงานคอนเสิร์ตที่จัดในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกทำให้ช่วยให้อัตราผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงได้ จีเวลส์กลายเป็นวีรบุรุษ สังคมยกย่อง แต่ เอฟบีไอดูข้อมูลเบื้องหลัง จีเวลส์ที่เป็นคนทำอะไรไม่สำเร็จ เคยถูกไล่ออกจาก รปภ.มหาวิทยาลัย หลังใช้อำนาจจับกุมนักศึกษาเลยเถิด เป็นพวกที่อยากเป็นตำรวจมาก แต่เป็นไม่ได้ แถมอาศัยอยู่กับแม่ ซึ่งเอาเข้าจริงคนเหล่านี้ มีแนวโน้มจะเป็นพวกอาชญากรและฆาตกรต่อเนื่องได้เลย

เอฟบีไอฟังทฤษฎีเดียว เจ้าหน้าที่ดันฟันธงเชื่อว่าจีเวลส์นี่แหละคือมือระเบิดแล้วแกล้งเตือนคนอื่นเพื่อให้ตัวเองดัง จึงจับเขาไปสอบ ปล่อยข้อมูลผ่านสื่อว่าเขาคือคนร้าย จีเวลส์ซึ่งเป็นวีรบุรุษถูกสื่อขุดคุ้ยได้รับความเสียหายอย่างมาก จนมีการถอนฟ้องเพราะไม่พบหลักฐานว่าเขาเกี่ยวข้อง สุดท้ายผ่านไปหลายปีจึงพบว่าคนวางระเบิดเป็นหนุ่มผิวขาวคลั่งผิว ส่วนจีเวลส์นั้นแม้จะพ้นผิด แต่ก็โดนตราบาปอย่างแรง กระเทือนจิตใจ และเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา

เหตุการณ์นี้ทำให้เอฟบีไอโดนวิจารณ์อย่างมากว่า ใช้อำนาจเกินขอบเขต และไปยึดติดกับทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งมากเกินไป จนทำให้พลาดมองเห็นภาพกว้างของคดีไป อย่างไรก็ดีก็มีผลงานหลายชิ้นที่เอฟบีไอสำแดงฝีมือจับกุมผู้ก่อการร้ายในประเทศได้ ทั้งนี้เอฟบีไอเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในอเมริกานะครับ ไม่มีสิทธิไปทำงานนอกประเทศ ยกเว้นว่าพื้นที่นั้นจะเป็นสถานทูตอเมริกา ซึ่งก็ต้องมีการขออนุญาตมากมายผ่านกระทรวงต่างประเทศและประเทศนั้น ๆ ด้วย

แล้วบทบาทอเมริกากับนอกประเทศที่เราเห็นนั่นล่ะ คือหน่วยงานไหน ด้วยความที่ทำงานกินภาษีประชาชน หน่วยงานต่าง ๆ ต้องมีความชัดเจนในขอบเขตหน้าที่อย่างมาก มีการแบ่งงานกันจะแจ้ง เมื่อเอฟบีไอทำงานในประเทศ งานสายลับข่าวกรองก็ต้องยกให้กับซีไอเอ ซึ่งก็ทำงานสไตล์อเมริกาแบบที่วงการข่าวกรองมักพูดกันว่า สายลับอเมริกานั้นทำงานแบบคาวบอยเว่อร์วังอลังการทุนไม่อั้น ขี้โม้นิด ๆ ตามสไตล์ประเทศมหาอำนาจ

แน่นอนว่าบทบาทของซีไอเอนั้นเราอาจจะเห็นในหนังฝรั่งแอ๊คชั่น แต่เอาเข้าจริงแล้วซีไอเอซึ่ง เป็นองค์กรเพิ่งก่อตั้งจริง ๆ จัง ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เคยมีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามสงครามเวียดนามด้วย และแน่นอนว่าเคยเข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย

นี่คือองค์กรสายลับที่มีทรัพยากรมหาศาลที่สุด ทำงานทั้งสำเร็จและล้มเหลวมากมาย ตอนหน้ามาว่ากันถึงซีไอเอกันครับ

……………………………………………………………………………………..
คอลัมน์ : หนอนโรงพักโดย “ณัฐกมล ไชยสุวรรณ”
ขอบคุณภาพจาก : Pixabay,Unsplash,Freepik