จากจังหวะปัญหาในศึกฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ระหว่าง เชลซี กับ สเปอร์ส เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งทีม “ไก่เดือยทอง” ได้ประตูตีเสมอ 2-2 ในช่วงทดเวลา จากลูกโหม่งของ แฮร์รี เคน กองหน้าทีมชาติอังกฤษ แต่ก่อนหน้านั้น ได้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นข้อถกเถียง เมื่อ คริสเตียน โรเมโร กองกองหลังของสเปอร์ส เอามือไปดึงผมของ มาร์ค คูคูเรญา แบ๊กผมสลวยของเชลซี จนหน้าหงาย แต่ผู้ตัดสิน แอนโธนี เทย์เลอร์ กลับไม่เป่าให้ฟาวล์ แต่ปล่อยให้ สเปอร์ส ได้เตะมุมอีกครั้ง จนเป็นที่มาทำให้ เคน โหม่งตีเสมอนั้น

ล่าสุด ทางเพจเฟซบุ๊ค Tocktum Pansit Sports Discussion ได้สัมภาษณ์ “เปาโค้ช” ศิวกร ภูอุดม ผู้ตัดสินแถวหน้าของไทย ได้ไขความกระจ่างให้แฟนบอลเข้าใจดังนี้

“ดึงผมแบบนี้ฟาล์วแน่นอนครับ (สำหรับโทษไม่ใช่ใบแดง แค่ใบเหลืองเต็มที่) แต่ผู้ตัดสินไม่เห็น โดยถ้าหากลูกเตะมุมที่ คูคูเรญา โดนกระชากผม สเปอร์ส ทำประตูได้ โดยมีจังหวะนี้เกิดขึ้นก่อน VAR จะตรวจสอบว่า การฟาล์วนี้อยู่ใน APP (Attacking Possession Phase) เดียวกับที่ สเปอร์ส ทำประตูหรือไม่ ถ้าใช่ก็พิจารณาว่าฟาวล์ไหมแล้วจึงตัดสิน”

“เมื่อ VAR ตรวจสอบแล้ว ผมเชื่อว่า VAR เห็นว่าเป็นการฟาล์วจริง แต่ (ลูกเตะมุมในจังหวะที่ โรเมโร ดึงหัว) สเปอร์ส ไม่ได้ประตู จึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียกผู้ตัดสินมาตรวจสอบ เพราะไม่ถือว่าเป็นฟาวล์ที่แจ่มแจ้งเป็นกระจักษ์ ทีมไม่ได้ประตู จึงได้เล่นต่อไป นั่นคือลูกเตะมุมต่อมา ซึ่งนำมาของประตู”

ส่วนเหตุผลที่ เทย์เลอร์ ไม่ไปดู VAR ด้วยตัวเอง ผู้ตัดสิน ศิวกร บอกว่า “เว้นแต่ฟาวล์ของ โรเมโร เป็นใบแดง VAR ถึงจะแนะนำให้ผู้ตัดสินมาดูจอข้างสนาม (จากข้อแรก เปาโค้ชอธิบายแล้วว่าเต็มที่เหลือง) เพราะตามกฎแนะนำว่า การฟาล์วที่เกิดใน APP ซึ่งกรรมการไม่เห็นเหตุการณ์ หาก VAR ตรวจสอบแล้วเห็นว่า ไม่ใช่ใบแดง หรือ เป็นใบเหลือง แต่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงเกมกับ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเรียกมาดู”

ท้ายที่สุด “เปาโค้ช” ฝากย้ำกับแฟนบอลอีกครั้งว่า VAR นั้น ไม่ได้ทำมาเพื่อ correcting the game หรือไม่ได้สร้างมาเพื่อทำให้เกมถูกต้อง เพราะมันเป็นแค่ “อุปกรณ์” ไม่ใช่ผู้ตัดสิน แต่ VAR ใช้เพื่อป้องกันการตัดสินที่อาจจะเปลี่ยนเกมเท่านั้น

เจ้าของเพจดังกล่าว ยังให้ความรู้เพิ่มเติมด้วยว่า APP (Attacking Possession Phase) คือจุดเริ่มของจังหวะการรุก ที่ผู้ตัดสินจะเริ่มพิจารณา หากมีการเช็ค VAR เกิดขึ้น

ส่วนการเช็ค VAR นั้น จะทำได้ใน 4 กรณีที่เกี่ยวข้องคือ
1.เป็นประตู/ไม่เป็นประตู
2.จุดโทษ/ไม่เป็นจุดโทษ
3.ใบแดงโดยตรงหรือไม่
4.การให้ใบเหลือง/แดง ผิดคน

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ Tocktum Pansit Sports Discussion