ถ้าคุณเป็นนักเรียนแพทย์ปีสุดท้าย (แปลว่ามีความรู้เชิงทฤษฎีพื้นฐาน มีทักษะพื้นฐานที่จะเป็นแพทย์ แต่ยังด้อยประสบการณ์เพราะไม่เคยตัดสินใจด้วยตนเองตั้งแต่การวินิจฉัยโรคไปจนจบสิ้นกระบวนการรักษาโรค) คุณมีเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่จะทำความรู้จักกับระบบงานของ รพ.อายุสี่สิบถึงห้าสิบปี มีแผนกงานย่อยสิบถึงยี่สิบหน่วย มีบุคลากรร้อยถึงสองร้อยคน ดูแลคนไข้วันละสองร้อยถึงสี่ร้อยคนที่มารับบริการแผนกคนไข้นอก และดูแลคนไข้ในอีกวันละหกสิบถึงสองร้อยคน

คุณคิดว่าจะมองหาโอกาสพัฒนา (ปัญหา) ของรพ.ได้ยากง่ายเพียงใด เพื่อจะได้ค้นคว้าหาข้อเท็จจริง แล้วสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเพื่อหวังว่าผู้บริหาร รพ. หัวหน้างาน และบุคลากรสนใจ ยอมรับที่จะนำไปสานต่อให้บริการของรพ.ก้าวหน้ามากขึ้น

สี่สิบปีก่อน คำถามเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในห้วงคิดคำนึงของผมสมัยเป็นนักเรียนแพทย์ปีสุดท้าย แม้มีความปรารถนาที่จะเห็นบริการของรพ.ต่างจังหวัดที่ผมไปฝึกงานก้าวหน้ามากขึ้น เพราะคำว่า ค้นคว้าวิจัย เป็นเรื่องไกลตัว ไม่เคยได้เรียน แม้ได้เคยเห็นครูแพทย์เก็บข้อมูลหรือทำการทดลองกับคนไข้ก็ตาม

วันนี้ ได้ฟังการนำเสนอผลการวิจัยของศิษย์ (นักเรียนแพทย์ปีสุดท้าย) ในวันสุดท้ายของหลักสูตรสี่สัปดาห์

“รพ.จะนำร่องข้อเสนอของพวกเราทันทีโดยจะเริ่มที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมและหอผู้ป่วยทั่วไปซึ่งมีปัญหาสรุปเวชระเบียนล่าช้ามากที่สุด และจะติดตามผลอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาขยายผลต่อไป” เป็นคำพูดที่ศิษย์ถ่ายทอดการตอบสนองของผอ.รพ.หลังจากฟังการนำเสนอผลวิจัย “ความล่าช้าในระบบสารสนเทศคนไข้ในจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการผู้ป่วย”

“พยาบาลห้องฉุกเฉินทุกคนอยากให้มีกิจกรรมฝึกอบรมและทดสอบทักษะการจำแนกความเร่งด่วนของคนไข้อีก และขอให้มีเป็นระยะเรื่อยไปหลังจากร่วมกิจกรรมนี้ที่พวกเราออกแบบ” เป็นคำพูดที่ศิษย์ถ่ายทอดการตอบสนองของพยาบาลห้องฉุกเฉินเจ็ดคนที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยพัฒนาบริการคัดแยกคนไข้แผนกฉุกเฉินตามความเร่งด่วนของศิษย์ที่ทำวิจัยในรพ.อีกแห่งหนึ่ง

“หัวหน้าพยาบาลและแพทย์ประจำการที่เข้าฟังพวกเราเสนอผลวิจัย สนใจที่จะนำรูปแบบการ์ตูนแสดงอาการเตือนของภาวะหลอดเลือดสมองตีบตันไปปรับใช้กับสื่อที่จะแจกคนไข้เสี่ยงต่อภาวะนี้ เมื่อพวกเราพบว่า สื่อที่ใช้อยู่ไม่ดึงดูดความสนใจของกลุ่มตัวอย่างร้อยละเก้าสิบ” ศิษย์ที่ทำวิจัยใน รพ.แห่งที่สามกล่าว

“บนเส้นทางคุณภาพบริการ การเดินทางไม่มีวันสิ้นสุด” เป็นคำพูดที่น่าจะคุ้นเคยอย่างแพร่หลายในทุกวงการ ในแวดวงสุขภาพ ยี่สิบปีมานี้ สถาบันรับรองคุณภาพ รพ. เป็นกลไกเชิงระบบที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเดินทางอันไม่มีวันสิ้นสุดนี้ นอกจากนั้นก็ยังมีกลไกอื่นๆ ในระบบงานของกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่นที่มี รพ.ในสังกัด เล่นบทคล้ายๆ กัน  

อย่างไรก็ตาม โอกาสพัฒนามีหลายมิติ และผุดบังเกิดขึ้นตลอดเวลา ทุกหนแห่ง การมองเห็นและลงมือพัฒนาจึงอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา มากน้อยขึ้นกับเจตคติ ความรู้ ทักษะ และเงื่อนไขภายในภายนอก

นักเรียนแพทย์ฝึกงานเป็นเงื่อนไขภายนอกที่ถูกตระเตรียมเจตคติ ความรู้ ทักษะ พร้อมการกำกับติดตามของครูแพทย์เพื่อกระตุ้นสนับสนุนส่งเสริมให้ศิษย์ใช้ความรู้ และทักษะการวิจัยพัฒนา จนสามารถมองเห็นโอกาสพัฒนาและเพียรพยายามร่วมกันในการรวบรวมข้อเท็จจริง ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างเป็นระบบจนเกิดผลดังตัวอย่าง วาทกรรมของศิษย์ที่ฝึกงานใน รพ.สามแห่ง ที่กล่าวข้างต้น

การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำเองในสถานการณ์จริงที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางชีวิตและงานในอนาคตของผู้เรียนโดยเน้นการสร้างความรู้ใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง ต่างจากการเรียนรู้ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตนโดยอาศัยความรู้ที่สะสมกันมา การเรียนรู้อย่างแรกอาจเรียกว่า capability building ส่วนอย่างหลังอาจเรียกว่า competency building.

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด