การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สมัยที่ 27 (Conference of Parties – COP) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 ที่เมืองชาร์ม เอล เชค ประเทศอียิปต์ มีบรรดาผู้นำและตัวแทนจากกว่า 130 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม โดยมีเป้าหมายที่จะพยายามผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (green house effect) รวมถึงการเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจัดสรรเงินชดเชยแก่ประเทศยากจนที่มีภาวะเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)

ท่ามกลางความตึงเครียดในการประชุมครั้งนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญเสียและความเสียหาย รวมทั้งประเด็นกองทุนชดเชยที่ประเทศร่ำรวยจัดสรรให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและเปราะบางต่อภาวะโลกร้อน (Global warming)  ซึ่งผู้แทนจากประเทศต่างๆ จะมีการเจรจาเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ด้วยการอนุมัติวาระการประชุม คาดว่าคณะทูตจากกว่า 130 ประเทศ มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้จัดตั้งความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อชดเชยความสูญเสียและความเสียหาย อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน

นายซามิห์ ชุกรี รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ ในฐานะประธานการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเผชิญหน้ากับผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งบรรดาผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ จะร่วมกันแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้เสนอวาระการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ชาร์ม-เอล-เชค” ซึ่งเป็นการกำหนด 30 เป้าหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จภายในสิ้นทศวรรษนี้ อาทิ เป้าหมายด้านอาหาร การเกษตร ทรัพยากรน้ำ และธรรมชาติ เพื่อช่วยให้ประชากรกว่า 4,000 ล้านคนในประเทศยากจน สามารถรับมือกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน

อีกทั้งยังได้ระบุว่า วาระการปรับตัว “ชาร์ม-เอล-เชค” จะเป็นก้าวสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ โดยจะให้ความสำคัญกับความต้องการของมนุษยชาติเป็นหลัก ควบคู่กับการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Participants visit the Sharm El-Sheikh International Convention Centre where the COP27 climate summit will take place, in the Red Sea resort of Sharm el-Sheikh, Egypt November 5, 2022. REUTERS/Thaier Al-Sudani

นายฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรป องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) เรียกร้องให้มีการตอบโต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 ว่า ภาวะโลกร้อนถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสุขภาพอย่างชัดเจน และเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สมัยที่ 27 ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวให้เร็วขึ้น ซึ่งต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน อีกทั้งยังได้กล่าวเตือนว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดจากความร้อน ซึ่งกำลังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในยุโรป โดยระบุว่าประชาชนอย่างน้อย 15,000 คน เสียชีวิตในยุโรป เนื่องจากสภาพอากาศร้อนในปี 2565 สเปนและเยอรมนีอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เกือบ 4,000 คน เสียชีวิตในสเปน กว่า 1,000 คน เสียชีวิตในโปรตุเกส กว่า 3,200 คน เสียชีวิตในสหราชอาณาจักร และราว 4,500 คนเสียชีวิตในเยอรมนี ในช่วง 3 เดือนของฤดูร้อนระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2565

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเกิดขึ้นต่อเนื่องในห้วงเวลากว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่สหราชอาณาจักร สาเหตุหลักเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความมั่งคั่ง (wealth)​ ซึ่งอาศัยพลังงานซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ได้แก่ น้ำมันดิบ (crude oil)  และถ่านหิน (coal ) ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก จนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น เกิดภัยธรรมชาติร้ายแรง อาทิ อุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัย สภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ฯลฯ

ประเทศต่างๆทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ร่ำรวยซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ จะต้องลดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ก่อให้เกิดมลพิษ (pollution)​ เลิกใช้พลังงานซากดึกดำบรรพ์โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ อีกทั้งยังจะต้องให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีเศรษฐกิจเปราะบาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ​ภูมิอากาศ​อย่างไม่เป็นธรรม

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”