วันที่18 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวเปิดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ณ ห้องประชุม Plenary Hall 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 1 หัวข้อ “การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน” โดยกล่าวต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคว่า ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมแบบพบหน้า หลังจากที่ไม่ได้เจอกันนานถึง 4 ปี การประชุมครั้งนี้จะเป็นบทสรุปการหารือเพื่อร่วมฟื้นฟูภูมิภาคไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น และเห็นว่า ปัจจุบันยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาด ของโควิด-19 และความท้าทายของสถานการณ์โลก รวมทั้ง ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อทั้งโลก จึงต้องร่วมมือกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบ และปกป้องโลก ไทยจึงนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อเป็นยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาและการเติบโตในระยะยาวที่เข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม เศรษฐกิจ BCG ผสานแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ(Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว(Green economy) รวมทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพ ในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

สาระสำคัญ คือ ไทยริเริ่มการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok goals) ให้เป็นกรอบแนวทางผลักดันวาระด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเปคอย่างชัดเจน เอกสารดังกล่าวมุ่งขับเคลื่อน 4 เป้าหมาย ได้แก่ ความพยายามเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์

เวลา 12.30 น. ณ ห้อง Plenary Hall 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับแขกพิเศษ ได้แก่ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับหุ้นส่วนด้านการค้า”

สาระสำคัญ คือ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่แตกต่างไปจากเดิม ในเชิงเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งยังไม่คลี่คลาย อีกทั้งยังต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น ความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหารพุ่งสูงขึ้น ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ

เวลา 13.50 น. ณ ห้องประชุม Plenary Hall 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษในช่วงอาหารกลางวัน ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติเงินเฟ้อ”

สาระสำคัญ คือ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ประจำปี 2565 คาดการณ์ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจากนี้จนถึงปี 2566 จะชะลอตัว ระดับเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาในทิศทางและระดับที่ต่างกัน ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งถ่างกว้างขึ้น โดยเห็นว่า การสร้างการเติบโตหลังการระบาดใหญ่โควิด-19 ที่ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคม

อย่างไรก็ตามผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษ เห็นพ้องกันว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายต่าง ๆ ยังมีปัจจัยบวกจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการค้าการลงทุนที่คำนึงถึงความสมดุลระหว่างธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปสู่คนทุกกลุ่ม รวมถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เห็นความจำเป็นในการพัฒนาเครือข่ายรองรับทางสังคม การส่งเสริม การเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro Small and Medium Enterprises-MSMEs) ส่งเสริมบทบาทของสตรี รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยเชื่อมั่นว่าการหารือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างกัน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ท้าทาย

เวลา 14.45 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าร่วมหารือเต็มคณะระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council -ABAC)

สาระสำคัญ คือ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จัดทำรายงานที่มีข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และปฏิบัติได้จริง สะท้อนข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจว่า เอเปคจะต้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ อย่างไรต่อไป ซึ่งการหารือในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้สานต่อ ความร่วมมือ โดยใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาร่วมกันของภูมิภาค ซึ่งเอเปคมีคุณลักษณะเฉพาะที่ทำให้แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ อาทิ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อหาทางออกไปด้วยกัน รวมทั้งความสำเร็จของเอเปคในปีนี้เป็นผลมาจากการรับข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคมาขับเคลื่อนในเอเปค โดยเฉพาะแผนงานต่อเนื่องหลายปีสำหรับวาระเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (Free Trade Area of the Asia-Pacific-FTAAP) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากข้อเรียกร้องของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคที่ต้องการให้วาระเรื่อง FTAAP มีความคืบหน้า รวมทั้งการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการเดินทางที่ปลอดภัย ได้บรรลุผลเป็นรูปธรรม ช่วยฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ นอกจากนี้ยังได้เสนอการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนวาระการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมสอดคล้องกับการขับเคลื่อน ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค

วันที่ 19 พฤศิกายน 2565 เวลา 09.40 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ภายใต้หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Trade and Investment)” ณ ห้องประชุม Plenary Hall 2 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยร่วมหารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค Retreat (II) สนับสนุนองค์การการค้าโลก(World Trade Organization-WTO)) ผลักดันการค้าพหุภาคีรูปแบบใหม่ เน้นเปิดกว้าง สมดุล ยั่งยืน

สาระสำคัญ คือ การค้าและการลงทุนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคและโลก การค้าและการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค โดยองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เอเปคสนับสนุน และสนับสนุนมาโดยตลอด คือ ระบบการค้าพหุภาคี มีองค์การการค้าโลก เป็นแกนหลัก ทั้งนี้ เอเปคมีบทบาทในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยร่วมกันหาทางออกใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อาทิ ความครอบคลุม ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล

การมีแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อขับเคลื่อนวาระเรื่อง FTAAP ต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับยุคหน้า รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ เช่น ความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การค้า และสาธารณสุข

ในตอนท้าย ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคร่วมกันรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2565 (ค.ศ. 2022) และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมพิธีส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคให้สหรัฐอเมริกา

เวลา 12.20 น. ณ ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงข่าวในฐานะประธานผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

สาระสำคัญ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จออกทรงรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคพร้อมคู่สมรส และแขกพิเศษ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังเมื่อค่ำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติแก่คณะผู้เข้าร่วมประชุมและคนไทยทุกคน

และกล่าวว่าการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 จบลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของสมาชิกเอเปคทั้งหมด เอเปคต้องยืนหยัดทำงานเพื่อสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ไทยได้ต้อนรับคณะผู้นำ ผู้เข้าร่วมประชุม และสื่อต่างชาติ รวมกว่า 5,000 คน การประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีในการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ยังมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับแขกพิเศษ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย รวมถึงผู้นำได้พูดคุยกับภาคเอกชนในการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และยังได้รับฟังมุมมองของกลุ่มผู้แทนเยาวชนเอเปค (APEC Voices of the Future 2022) การทำงานของเอเปคตลอดทั้งปี 2565 มีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ (Open) เชื่อมโยงกัน(Connect) สู่สมดุล (Balance)”

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”