การรับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงสถานการณ์การระบาดใหญ่ (Pandemic) ของโควิด-19 ในทั่วโลกอย่างถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงผลการศึกษาวิจัยและค้นคว้าวัคซีนโควิด-19 ชนิดต่างๆ เป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปในสังคมควรจะได้รับรู้และติดตามอย่างใกล้ชิด พึงทราบว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันเป็นวัคซีนรุ่นแรกซึ่งเป็นวัคซีนฉุกเฉินที่ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าเพียง 12-18 เดือนเท่านั้น เพื่อใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) แก่มวลมนุษยชาติ ในขณะนี้เชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์หลายสายพันธุ์ ในขณะที่วัคซีนที่ผลิตออกมาใช้กันมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันลดลง และยังมีผลข้างเคียง (side effect) แก่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนอีกด้วย ตลอดจนวงการ วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วโลกยังคงต้องใช้เวลาอีกมากในการผลิตวัคซีนรุ่นสองหรือรุ่นสามในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง

สถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในทั่วโลกนับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา มีการลุกลามขยายตัวอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ในประเทศและดินแดนทั่วโลก โดยรายงานว่าขณะนี้การกลายพันธุ์ของโควิด-19 หลายสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์อัลฟา (Alpha) ระบาดใน 185 ประเทศและดินแดน สายพันธุ์เบตา (Beta) ระบาดใน 136 ประเทศและดินแดน สายพันธุ์แกมมา (Gamma) ระบาดใน 81 ประเทศและดินแดน สายพันธุ์เดลตา (Delta) ระบาดใน 142 ประเทศและดินแดน ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั่วโลกเกิน 200 ล้านคนแล้ว โดยที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านคนเป็น 200 ล้านคน ในห้วงเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้นตั้งแต่เดือน มี.ค. 64-ส.ค. 64 ทั้งนี้นายแพทย์ ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่มีการรายงาน อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงสูงกว่านี้มาก

อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกยังได้เตือนว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทั่วโลกอาจพุ่งทะลุจาก 200 ล้านคนเป็น 300 ล้านคน ในช่วงต้นปี 2565 ที่กำลังจะมาถึงนี้ หากการแพร่ระบาดของโรคยังดำเนินต่อไปในทิศทางเช่นเดิม และยังได้เรียกร้องให้บรรดาผู้นำโลกช่วยเหลือประเทศยากจนด้วยการจัดส่งอุปกรณ์ตรวจเชื้อและวัคซีนให้ เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19

เมื่อเดือน ก.ค.64 สำนักงานยายุโรป (European Medicines Agency–EMA) ได้ตรวจสอบพบความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนโควิดชนิด mRNA (messenger Ribonucleic Acid กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบชนิดที่พบได้ยาก แต่สำนักงานยายุโรปและองค์การอนามัยโลกต่างยืนยันว่า ประโยชน์ของวัคซีนโควิดยังมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรับวัคซีน

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ส.ค.64 สำนักงานยายุโรปกำลังเร่งศึกษารูปแบบของอาการไม่พึงประสงค์ 3 อย่าง ได้แก่ อาการผื่นแพ้ยา (Erythema multiforme) ภาวะไตอักเสบ (glomerulonephritis) และกลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ (nephrotic syndrome) จากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิด mRNA จากวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) และวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) หรือไม่

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 64 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าจะมีการทดลองยาใหม่ 3 ชนิด ได้แก่ ยาอาร์ทีซูเนต ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ยาอิมมาตินิบ ซึ่งเป็นยารักษามะเร็ง และยาอินฟลิซิแมบ ซึ่งเป็นยารักษาโรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพื่อใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 โดยการทดลองจะเกี่ยวข้องกับอาสาสมัครผู้ป่วยหลายพันคนที่โรงพยาบาลกว่า 600 แห่งใน 52 ประเทศทั่วโลก

คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระได้เลือกยาเหล่านี้เพื่อทดลองประสิทธิภาพว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลมีอาการดีขึ้น และลดความเสี่ยงการเสียชีวิตในผู้ป่วยเหล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกก็มีการทดลองยา 4 ชนิดเพื่อใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ได้แก่ ยาเรมเดซิเวียร์ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ยาโลพินาเวียร์และยาอินเตอร์เฟียรอ ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่ายาดังกล่าวแทบไม่มีผลต่อผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล

ข่าวที่สร้างความน่ากังวลใจให้กับประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ประเทศฟิลิปปินส์ ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 ส.ค.64 ว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์แลมบ์ดา (Lambda) เป็นรายแรกของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งสายพันธุ์แลมบ์ดานี้เคยพบมาแล้วในประเทศเปรูเมื่อเดือน ธ.ค. 63 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เชื้อสายพันธุ์แลมบ์ดาสามารถต้านทานภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.Worldometers.info รายงานถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมและยอดเสียชีวิตสะสม 10 อันดับแรก ระหว่างต้นปี 2563-18 ส.ค.64 มีดังนี้

1. สหรัฐอเมริกา ติดเชื้อสะสม 37,896,582 ราย เสียชีวิตสะสม 640,093 ราย

2. อินเดีย ติดเชื้อสะสม 32,285,101 ราย เสียชีวิตสะสม 432,552 ราย

3. บราซิล ติดเชื้อสะสม 20,417,204 ราย เสียชีวิตสะสม 570,718 ราย

4. รัสเซีย ติดเชื้อสะสม 6,642,559 ราย เสียชีวิตสะสม 172,110 ราย

5. ฝรั่งเศส ติดเชื้อสะสม 6,504,978 ราย เสียชีวิตสะสม 112,864 ราย

6. สหราชอาณาจักร ติดเชื้อสะสม 6,322,241 ราย เสียชีวิตสะสม 131,149 ราย

7. ตุรกี ติดเชื้อสะสม 6,118,508 ราย เสียชีวิตสะสม 53,507 ราย

8. อาร์เจนตินา ติดเชื้อสะสม 5,096,443 ราย เสียชีวิตสะสม 109,405 ราย

9. โคลอมเบีย ติดเชื้อสะสม 4,874,169 ราย เสียชีวิตสะสม 123,688 ราย

10. สเปน ติดเชื้อสะสม 4,733,602 ราย เสียชีวิตสะสม 82,739 ราย     

ข้อมูลจากเว็บไซต์เดียวกันได้รายงานถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมและยอดผู้เสียชีวิตสะสมเรียงลำดับดังนี้

1. อินโดนีเซีย ติดเชื้อสะสม 3,892,479 ราย เสียชีวิตสะสม    120,013 ราย

2. ฟิลิปปินส์ ติดเชื้อสะสม 1,765,675 ราย เสียชีวิตสะสม 30,462 ราย

3. มาเลเซีย ติดเชื้อสะสม 1,444,270 ราย เสียชีวิตสะสม 13,077 ราย

4.ไทย ติดเชื้อสะสม 968,957 ราย เสียชีวิตสะสม 8,285 ราย

5.เมียนมา ติดเชื้อสะสม 360,291 ราย เสียชีวิตสะสม 13,623 ราย

6. เวียดนาม ติดเชื้อสะสม 293,301 ราย เสียชีวิตสะสม 6,472 ราย

7. กัมพูชา ติดเชื้อสะสม 87,190 ราย เสียชีวิตสะสม 1,730 ราย

8. สิงคโปร์ ติดเชื้อสะสม 66,281 ราย เสียชีวิตสะสม 45 ราย

9. ลาว ติดเชื้อสะสม 10,648 ราย เสียชีวิตสะสม 9 ราย

10. บรูไน ติดเชื้อสะสม 852 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย

สำหรับประเทศไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงาน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันที่ 18 ส.ค. 64 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.–18 ส.ค.64 มีดังนี้

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,515 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 312 ราย หายป่วยกลับบ้านรายใหม่ 22,682 ราย ผู้ป่วยสะสม 940,094 ราย หายป่วยสะสม 725,693 ราย เสียชีวิตสะสม 8,191 ราย ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 207,553 ราย

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”