แม้จะบังคับใช้มานานเกือบ 20 ปี มีการปรับแก้รายละเอียดช่วยเหลือให้สอดรับสถานการณ์ เข้าถึงได้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเหยื่อจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงสิทธิชดเชยเยียวยาความเสียหายจากรัฐ ผ่านพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.2544 ก่อนที่ต่อมาจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2559 และล่าสุดก็อยู่ระหว่างร่างแก้ไขฉบับใหม่ที่จะทำให้การช่วยเหลือครอบคลุมกลุ่มที่ยัง“ตกหล่น”สถานะที่ควรมีสิทธิได้รับการเยียวความผิดพลาดจากกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน

ปัจจุบันตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯให้สิทธิรับรองเยียวยาคน 2 กลุ่ม คือ ผู้เสียหายในคดีอาญา จากการกระทำผิดของผู้อื่นโดยที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และ จำเลยในคดีอาญา คือ ผู้ที่ถูกพนักงานอัยการฟ้องว่ากระทำผิดถูกจำคุกระหว่างการพิจารณา แต่ต่อมาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง หรือที่เรียกว่า แพะ

กลุ่มคนเหล่านี้มีสิทธิได้รับการเยียวยาจากรัฐ ผ่านการยื่นคำร้องขอภายใต้“เส้นตาย”ต้องยื่นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เกิดเหตุ หรือนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง การช่วยเหลือที่ชัดเจนคือการเยียวยาเป็นเงินทั้งในกรณีไม่เสียชีวิต และกรณีเสียชีวิต โดยผู้เสียหายคดีอาญา กรณีไม่เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยา ประกอบด้วย  ค่ารักษา ไม่เกิน 40,000 บาท , ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพไม่เกิน 20,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้(ตามค่าจ้างขั้นต่ำ) แต่ไม่เกิน 1 ปี , ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ไม่เกิน 50,000 บาท



แพะคดีอาญา กรณีไม่เสียชีวิต จะได้รับค่าทดแทน ประกอบด้วย ค่าทดแทนการถูกคุมขัง จ่าย 500 บาท (นับจากวันที่ถูกคุมขังตามอัตราที่กฎหมายกำหนด) , ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 บาท , ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่เกิน 50,000 บาท , ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้(ตามอัตราจ้างขั้นต่ำในจังหวัดที่ทำงาน) , ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนาย(ไม่เกินอัตราที่กำหนด) ค่าใช้จ่ายกรณีอื่น ไม่เกิน 30,000 บาท

กรณีเสียชีวิต  ประกอบด้วย ค่าทดแทน 100,000 บาท , ค่าจัดการศพ 20,000 บาท , ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 40,000 บาท , ค่าเสียหายอื่น ไม่เกิน 40,000 บาท

ข้อมูลจากสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  ตั้งแต่ปี 2545-2564 มีผู้ได้รับการช่วยเหลือแล้วกว่า 100,000 ราย เป็นเงินกว่า 5,700 ล้านบาท

สำหรับกฎหมายฉบับใหม่ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการผ่านกฎหมายและสามารถบังคับใช้ได้ทันในปีนี้  มีสาระสำคัญคือ เพิ่มการเยียวยาไปยัง“ผู้ต้องหา”ที่ถูกจับดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวนแต่ต่อมาพบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์  ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายรับรองการช่วยเหลือ



ทั้งนี้ มีสถิติการสั่งคดีของสำนักงานอัยการสูงสุด ปี 2560 มีการสั่งฟ้อง 548,593 คดี สั่งไม่ฟ้อง 3,744 คดี สั่งอย่างอื่น 8,750 คดี , ปี 2561 มีการสั่งฟ้อง 575,413 คดี สั่งไม่ฟ้อง 3,688 คดี สั่งอย่างอื่น 10,436 คดี , ปี 2562 มีการสั่งฟ้อง 550,502 คดี สั่งไม่ฟ้อง 3,597 คดี สั่งอย่างอื่น 11,727 คดี

การเพิ่มการเยียวยาจำเลยหรือแพะตั้งแต่ชั้นสอบสวน จากเดิมกฎหมายเยียวยาเฉพาะแค่ชั้นพิจารณาคดี

การขยายเวลารับสิทธิจากเส้นตายายใน 1 ปี ปรับเพิ่มเป็น 2 ปี เพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงที่มากขึ้น  โดยมีข้อมูลว่าเฉพาะระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2558-2563 มีสถิติที่ยื่นคำขอเกินกำหนดเวลา 1 ปี มากถึง 1,191 ราย

แม้ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม หรือการก่อเหตุอาชญากรรมจะไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก  แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทางออกคือทุกคนควรมีโอกาสเข้าถึงการเยียวยา

การขยายกลุ่มที่ครอบคลุมมากขึ้นจากกฎหมายที่อยู่ระหว่างร่างใหม่  แม้เป็นราคาที่รัฐต้องจ่ายเพิ่ม แต่ก็เทียบไม่ได้กับการสูญเสียโอกาส สูญเสียชีวิตของหลายคน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน
[email protected]