ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เห็นว่าเรื่องดังกล่าวนั้น ก็มีมิติมุมมองได้หลายด้าน ทั้งในมิติของผู้ที่จะช่วยเหลือสัตว์เหล่านั้น ที่มีจิตคิดเมตตา มิติของเจ้าของสัตว์ เจ้าของสถานที่ ในแง่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ มิติของเพื่อนบ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบ มิติของสถานที่ที่ดูแลทั้งภาครัฐ เอกชน และบุคคลที่จะรับสัตว์เหล่านั้นไปดูแลต่อ รวมไปถึงมิติของกฎหมาย ในแง่มุมต่าง ๆ เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายปัจจุบัน ก็มีกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องคือพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เช่น มาตรา 26 กำหนดว่า ในกรณีที่พบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ตามความเหมาะสม ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะในมาตรา 25 กำหนดอำนาจหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินการเช่น 1. มีหนังสือเรียกเจ้าของสัตว์ มาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง 2. เข้าไปในสถานที่
ใด ๆเพื่อดำเนินการตรวจสอบ เมื่อได้รับแจ้งหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการทารุณกรรมสัตว์ 3.สั่งหยุดซึ่งยานพาหนะเพื่อการดำเนินการตรวจสอบ 4. ยึดหรืออายัดสัตว์หรือซากของสัตว์ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าถูกฆ่าหรือถูกทารุณกรรม 5. นำสัตว์ที่ถูกการทารุณกรรมไปตรวจรักษาหรือช่วยเหลือสัตว์ที่ตกในภยันตราย ในกรณีที่ปรากฏว่าสัตว์นั้นไม่มีผู้ใดให้การรักษาหรือช่วยเหลือ

โดยการเข้าไปในสถานที่ ใด ๆ เพื่อทำการตรวจค้นต้องมีหมายค้น เว้นแต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ จะมีการยักย้ายซุกซ่อน หรือทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ให้ดำเนินการค้นโดยไม่มีหมายค้นได้ แต่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการค้นและในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 25 ให้เจ้าของสัตว์หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร ตามมาตรา 28 และในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัว ต่อเจ้าของสัตว์หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง ตามมาตรา 29 ด้วย เป็นต้น

ดังนั้น ในปัจจุบันการลงพื้นที่ช่วยเหลือสัตว์นั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังต้องศึกษาและปฏิบัติตามหลักการของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ก็ควรต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ทันต่อสถานการณ์ ในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ชีวิตสัตว์เหล่านั้น และที่สำคัญเจ้าของสัตว์นั้น เมื่อเลี้ยงสัตว์ของตนไม่ไหว ด้วยเหตุจำเป็นต่าง ๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ ควรแจ้งหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยเหลือดำเนินการ ดีกว่าปล่อยจนอาจละเมิดกฎหมาย สร้างความเสียหายและเดือดร้อนขึ้นภายหลังได้ “ชีวิตทุกชีวิตล้วนมีคุณค่า”.