เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565  เกิดการชุมนุมประท้วงของชาวซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งมีชนวนเหตุมาจากความไม่พอใจนโยบายปิดเมือง( (Lock Down ) ของรัฐบาลจีนใช้มาตรการควบคุมโควิด-19เป็นศูนย์ (ZERO COVID-19) เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง หลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารที่พักอาศัยในเมืองอุรุมชี ซึ่งหลายคนกล่าวโทษว่าเป็นเพราะอาคารดังกล่าวถูกปิดเมืองเป็นบางส่วน ทำให้ประชาชนไม่สามารถหนีไฟได้ทัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน

ต่อมาเมื่อวันที่  27 พฤศจิกายน 2565 ชาวนครเซี่ยงไฮ้ออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการปิดเมือง กระแสความไม่พอใจเกี่ยวกับนโยบายควบคุมโควิดเป็นศูนย์เริ่มขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ และเมื่อวันที่  28 พฤศจิกายน 2565 การประท้วงมาตรการควบคุมโควิด-19 ขยายวงกว้างไปในหลายเมือง อาทิ กรุงปักกิ่ง นครเซียงไฮ้ นครอู่ฮั่น และนครเฉิงตู  โดยมีผู้ประท้วงหลายร้อยคนต่างชูกระดาษเปล่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในครั้งนี้ ซึ่งในห้วงเวลานั้นพบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่มีจำนวนสูงสุดเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน และเมื่อวันที่  30 พฤศจิกายน 2565  การประท้วงต่อต้านมาตรการปิดเมืองในนครกวางโจวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่  2 ธันวาคม 2565 หลายเมืองของจีนมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในขณะที่โควิด-19 ยังคงระบาดหนักอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่  4 ธันวาคม 2565  หลายเมืองของจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศของจีนที่ชะลอตัว

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 จีนยกเลิกการใช้แอพพลิเคชันหลักที่ใช้ติดตามผู้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงสูง นับเป็นการเคลื่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างรวดเร็ว โดยกรุงปักกิ่งประกาศยุติการปิดเมืองเป็นวงกว้าง มีการผ่อนคลายมาตรการตรวจหาเชื้อรวมถึงมาตรการอื่นๆ และการกักตัว ขณะที่รัฐบาลกลางเริ่มกระบวนการเพื่อปิดระบบบัตรกำหนดการเดินทางการสื่อสาร(Communications Itinerary Card) ซึ่งใช้เพื่อติดตามบุคคลที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ของจีนกล่าวว่า จีนจะฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นที่ 2 ให้ประชาชนเฉพาะกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มแรกนานกว่า 6 เดือน เอกสารเผยแพร่ของสภาร่วมแห่งรัฐว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายจะเป็นประชาชนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ประชาชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพรุนแรง และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ขณะที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า การติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศขณะนี้เป็นเรื่อง “เป็นไปไม่ได้” และเตือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงปักกิ่งกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังรัฐบาลยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์

เมือวันที่  15 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า สถาบันทางการแพทย์ทุกระดับในจีน เร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการทำงาน รวมทั้งยกระดับการจัดหาทรัพยากรและบุคลากรทางแพทย์ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์รายวัน ทั้งนี้ ทางการจีนตัดสินใจเปิดคลินิกไข้หวัดใหญ่กว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565  เจ้าหน้าจีนที่เตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมก็กล่าวว่า จีนกำลังใช้ความพยายามทั้งหมดเพื่อยกระดับการผลิตยาสำคัญ ขณะที่บรรดาบ้านพักคนชราในจีนกำลังพยายามอย่างที่สุด เพื่อปกป้องผู้ที่พักอาศัยที่สูงอายุ ให้ปลอดภัยจากการระบาดของโรคโควิด-19 หลังรัฐบาลผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าโควิด-19 อาจแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนในห้วงต้นปี 2566

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 จีนเร่งจัดเตรียมเตียงผู้ป่วยเพิ่มตามโรงพยาบาลต่างๆ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาพุ่งสูงขึ้น มีรายงานผู้เสียชีวิตที่มีส่วนเชื่อมโยงกับโควิด-19 ครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของจีนในห้วงเวลาเกือบ 3ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมเชื้อโควิดเป็นศูนย์ โดยคำนึงถึงสุขภาพและชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ แต่เมื่อมาตรการควบคุมโควิด-19 เป็นศูนย์ ซึ่งมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมมาเป็นเวลายาวนาน กอปรกับมีผู้ชุมนุมประท้วงเป็นวงกว้างในจีน เพื่อผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 เป็นศูนย์ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่รัฐบาลจีนต้องผ่อนคลายมาตรการตามกระแสการเรียกร้องของผู้ชุมนุมประท้วง นับเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลจีนในการบริหารจัดการควบคุมโควิด-19 อย่างสมดุลและเหมาะสมตามสภาพการณ์ที่เป็นอยู่

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม

อ่านเพิ่มเติม :
โควิด-19 ไวรัสมรณะ คร่าชีวิตชาวโลก 6.6 ล้านคน
สหรัฐอเมริกา-อังกฤษรับมือ โควิด-19 ระลอกใหม่