ทีมข่าว “1/4 Special Report” ยังเกาะติดวิกฤติทางการศึกษาของเด็กไทย เป็นตอนต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ โดยวันนี้ได้มีโอกาสคุยกับ ดร.วันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยทางด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของเด็กนักเรียน-ปัญหาการเรียนออนไลน์-ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และคุณภาพของครู

นักเรียนตจว.เจอ “โควิด” ยิ่งหนัก

ดร.วันนิวัติ กล่าวว่า ในภาวะปกติที่ไม่มีการระบาดไวรัสโควิด-19 เด็กนักเรียนในต่างจังหวัด ตามชนบทมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับเด็กนักเรียนที่อยู่ในเมือง หรือในกรุงเทพฯอยู่แล้วใน 3 ด้าน คือ 1.ความเหลื่อมล้ำทางวิชาการ 2.ความเหลื่อมล้ำทางด้านงบประมาณ 3.ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส

แต่เมื่อมีปัญหาโควิด-19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักขึ้นไปอีก เนื่องจากนักเรียนต้องเรียนออนไลน์ ในขณะที่สภาพทางสังคมของนักเรียนต่างจังหวัด นักเรียนในชนบทห่างไกล หรือแม้แต่นักเรียนที่อยู่ตามชุมชนแออัดในเมืองหลวงที่พ่อแม่มีอาชีพรับจ้างหาเช้ากินค่ำ

สภาพของเด็กนักเรียนเหล่านี้ที่คล้ายกัน คืออยู่กับปู่-ย่า และตา-ยาย ส่วนพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน แล้วจะเรียนออนไลน์กันอย่างไร ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ในขณะที่การรับรู้และการมีสมาธิเมื่อต้องเรียนออนไลน์ของเด็กแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ตรงนี้ถามว่าใครจะสอนพวกเขา ใครจะกำกับดูแล จะปล่อยให้เป็นภาระของปู่-ย่า ตา-ยาย ได้หรือ?

แต่ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาโดยเฉพาะนักเรียนในต่างจังหวัด คือ ไม่มีคอมพิวเตอร์โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ถ้าจะใช้โทรศัพท์ก็ต้องขอจากพ่อแม่ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือเลย ปัญหาตรงนี้จึงนำมาซึ่งความถดถอยทางการศึกษา และกลายเป็นภาระให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างมาก

“ตรีนุช” ให้คืนค่าเทอม-โรงเรียนต้องคืน!

โดยปกติเด็กนักเรียนต่างจังหวัดมีปัญหาทางด้านวิชาการอยู่แล้ว คือ ครูไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน หลายพื้นที่ไม่มีครูสอนวิชาภาษาอังกฤษโดยตรง หลาย ๆ โรงเรียนครูคนเดียวต้องสอนหลายชั้นเรียน ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ๆ นักเรียน 50-100 คน จะยุบไปควบรวมให้เป็นโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้นก็ยังไม่พร้อม และจะสร้างภาระให้กับเด็กและผู้ปกครองในเรื่องของการเดินทางมากขึ้นไปอีก ถ้าโรงเรียนห่างไกลออกไป ลูก-หลานชาวบ้านที่ยากจนมีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น

ดร.วันนิวัติ กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมการศึกษาไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาถือว่าล้มเหลว คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำมาก โดยเฉพาะทางด้านภาษาอังกฤษและการคำนวณ ยิ่งรัฐบาลจัดสรรงบประมาณแบบนี้ จัดงบไปใส่แต่การสร้างอาคารสถานที่ ไม่ได้มุ่งมาที่การหาครูวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์เลย เมื่อเจอปัญหาโควิด-19 ยิ่งเห็นสภาพชัดว่าเด็กส่วนใหญ่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ยาก รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนเรื่องอินเทอร์เน็ต แต่โยนภาระไปให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนและผู้ปกครองทั้งหมด นักเรียนจึงมีปัญหาทุกระดับชั้น โดยเฉพาะเด็กอนุบาลจะเรียนออนไลน์กันอย่างไร

ไหนจะเป็นภาระเรื่องค่าเทอม ค่าอาหารกลางวัน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองบ่นกันมากว่าเด็กเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน แต่ยังต้องงจ่ายค่าโน่นนี่อีกหลายพันบาท ดังนั้นถ้าน..ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ บอกว่าโรงเรียนต้องคืนค่าเทอม หรือค่าอาหารกลางวันที่เด็กไม่ได้ไปกินที่โรงเรียน ทางโรงเรียนต้องคืนเงินให้พ่อแม่ผู้ปกครองตามคำสั่งของรมว.ศึกษาธิการ” ดร.วันนิวัติ กล่าว

ห่วงเด็กจบไม่มีงานทำ-ครูต้องอัพเดทตัวเอง

ทางด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าถ้าค่าเทอมหรือค่าอื่น ๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บไปแล้วมันอาจจะจ่ายคืนยาก ตามระเบียบของทางราชการอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นเช่นนั้นในเทอมที่ 2 โรงเรียนอย่าไปเรียกเก็บจากพ่อแม่ผู้ปกครองอีก เพราะตอนนี้เขากำลังลำบากกันทั้งนั้น รัฐบาลต้องหาทางช่วยเหลือ

ปัญหาการศึกษาไทยตามที่ส..ขอนแก่นกล่าวในข้างต้นแล้ว ยังมีสิ่งที่ผมห่วงมาตลอดคือเด็กจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ ไม่สามารถหางานทำได้ตรงกับสายที่เรียนตามที่คาดหมายไว้ในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้องทั้งสภาพทางเศรษฐกิจย่ำแย่ จีดีพีขยายต่ำมาก แล้วจะมีบริษัทห้างร้านที่ไหนขยายกิจการและต้องการรับพนักงานเพิ่มในช่วงนี้ โดยเฉพาะเด็กจบราชภัฏเป็นอะไรที่น่าห่วงจริง ๆ”

นายพิชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และตัวเด็กแล้ว คนที่มีอาชีพเป็นครูก็มีส่วนสำคัญมากที่ต้องอัพเดทตัวเองตลอดเวลา เนื่องจากโลกเปลี่ยนเร็ว วิชาการเปลี่ยนเร็ว ดังนั้นครูจึงต้องปรับตัวให้ทันโลกอยู่ตลอด เหมือนกับคนที่เป็นแพทย์ยังต้องอัพเดทตัวเองอยู่ตลอด ในทุกช่วง 2-3 ปี ต้องสอบเพื่ออัพเดทตัวเอง เพราะวิชาการแพทย์มีเรื่องใหม่ ๆ เข้ามาตลอด ดังนั้นครูจึงต้องอัพเดทตัวเองเหมือนกับแพทย์ โดยเฉพาะครูต่างจังหวัดถ้าตามโลกไม่ทัน จะยิ่งส่งผลเสียหายกับเด็กนักเรียน

หรือแม้แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็ต้องอัพเดทตัวเอง ต้องตามโลกให้ทันเหมือนกัน จากประสบการณ์หลายปีก่อน ตนไปเรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐ แล้วอาจารย์ได้เล่าเรื่องราวแบบชื่นชมการบริหารงาน-การทำธุรกิจของบริษัทเอกชนข้ามชาติชื่อดังแห่งหนึ่งว่าประสบความสำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวในอดีต แต่ตอนที่อาจารย์นำมาเล่านั้นบริษัทดังกล่าวกำลังประสบปัญหาการขาดทุน 4-5 พันล้านบาท นี่คือตัวอย่างของอาชีพครูบาอาจารย์ที่ไม่อัพเดทตัวเองเลย

มองย้อนกลับไปช่วงปี 55-56 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มองว่าโลกอนาคตจะเป็นยุคดิจิทัล เศรษฐกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลจะขยายตัวมาก บรรดาเศรษฐีโลกยุคใหม่มาจากธุรกิจดิจิทัลทั้งนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงทำโครงการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นป.1 ทั้งเด็กกรุงเทพฯ เด็กต่างจังหวัด หรือตามชนบทได้รับแท็บเล็ตเหมือนกันหมด ไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ แล้วรัฐบาลคงไม่แจกแท็บเล็ตเพียงอย่างเดียว แต่จะมีในเรื่องการขยายอินเทอร์เน็ตเข้าไปตามโรงเรียนและชุมชนด้วย ลองนึกภาพดูว่าช่วง 2 ปี ที่มีการแจกแท็บเล็ตนักเรียนป.1 ประมาณ 2.4 ล้านเครื่อง (ข้อมูลจากสื่อฯบางสำนัก) ถ้ามีการสานต่อโครงการดังกล่าวจะไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนการสอนทางออนไลน์ของเด็กในยุคโควิด-19 อย่างแน่นอน” นายพิชัยกล่าว .