สถานการณ์ระอุหลัง“ตาลีบัน”ยึดอำนาจ“อัฟกานิสถาน”สำเร็จ ภาพที่เกิดขึ้นทันทีคือการ“อพยพ”เอาตัวรอดออกนอกประเทศ ปรากฏการณ์คนจำนวนมากกรูกันไปที่สนามบินหวังขึ้นเครื่องบินไปตายเอาดาบหน้าแบบไม่คิดชีวิต  เพื่อเริ่มต้นบนผืนแผ่นดินใหม่ใครเห็นก็เศร้าใจ

ประเทศไทยแม้ห่างไกลสถานการณ์ และคงไม่ใช่หมุดหมายปลายทางของผู้อพยพกลุ่มนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยภาวะสงคราม ความต้องการหนีภัยความมั่นคง และการย้ายถิ่นฐานของประชากร อาจส่งผลให้ประเด็นผู้อพยพ  การลี้ภัยมีความเสี่ยงเผชิญหน้าได้มากขึ้นในอนาคต  และการวางแผนรับมือล่วงหน้าย่อมดีกว่าแน่นอน…

ดังเรื่องราวจากภาพยนตร์ดังหลายปีก่อน“ The terminal” ที่มีตัวเอกใช้ชีวิตอยู่ในสนามบินนานแรมปี  ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศที่มาถึงได้  และไม่สามารถเดินทางกลับไปประเทศบ้านเกิดได้เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบ ใครคิดว่าจะเกิดขึ้นจริงมาแล้วที่ประเทศไทย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 มีเหตุการณ์ครอบครัวชาวชาวซิมบับเว  8  ชีวิต ประกอบด้วยผู้ใหญ่ 4 ชีวิต  เด็กอีก 4 ชีวิต ติดอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมินาน 3 เดือน ก่อนปรากฏเป็นข่าว ซึ่งต่อมาจึงรู้ว่าคนเหล่านี้ใช้ชีวิต กิน นอน อยู่ในเขตอาคารผู้โดยสารชั้นใน  โดยมีสายการบินเป็นผู้ดูแล เพราะไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศปลายทางได้  

ตามเหตุการณ์ทั้งครอบครัวเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่าท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมาก็มีสถานะอยู่เกินกำหนด(over stay)ระหว่างนี้เคยมีการประสานขอขึ้นทะเบียนสถานะผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่ด้วยขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลานานนับปี ต่อมาทางครอบครัวจึงขอเดินทางออกจากประเทศไทย  มีการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อย  หลังเดินทางฟ้าออกไปสุดท้ายถูกสายการบินยูเครนส่งตัวกลับมาที่สนามบินสุวรรณภูมิเพราะไม่มีวีซ่ายูเครน

ความไม่สงบในประเทศบ้านเกิดทำให้ครอบครัวชาวซิมบับเวไม่ต้องการเดินทางกลับไป  แต่ต้องการขอลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สามแทน  

การใช้ชีวิตยาวนานนับเดือนอยู่ในสนามบินของครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ไม่ใช่เรื่องเหมาะสมหรือควรเกิดขึ้น  แต่เนื่องจากขณะนั้นการจัดการกลุ่มผู้ลี้ภัยของประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายชัดเจน จึงเป็น“สูญญากาศ”ที่ไม่รู้ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ ใครจะมีอำนาจหน้าที่เข้าไปจัดการส่วนใด ภายใต้กรอบกฎหมายใดบ้าง

8 ชีวิต ครอบครัวซิมบับเว  จึงฉายให้เห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น“ไม่บ่อย” แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง

ขณะนั้นต้องยอมรับว่าแม้มีจำนวนไม่มาก แต่ผู้อพยพ หรือลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยก็มีจำนวนไม่น้อย  ข้อมูลของแอมเนสตี้ ประเทศไทย  ผู้ลี้ภัย หมายถึง กลุ่มคนที่เดินทางออกนอกประเทศของตัวเองเนื่องจากภาวะสงคราม ความรุนแรง การประหัตประหาร  หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จึงไม่ต้องการกลับไปบ้านเกิดเพราะกลัวอันตราย 

ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดน คือ จ.ตาก  แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และราชบุรี  จำนวนมากเป็นกลุ่มหนีภัยความขัดแย้งจากประเทศเพื่อนบ้าน  อีกกลุ่มคือผู้ลี้ภัยในเขตเมือง ส่วนใหญ่เข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว และต้องการยื่นสถานะลี้ภัยไปมีชีวิตใหม่ในประเทศไทยที่สาม

จากตัวอย่างสูญญากาศ ปัจจุบันประเทศไทยคืบหน้าขึ้น แม้ยังเลี่ยงใช้คำว่า“ผู้ลี้ภัย” โดยปี 62 มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการตัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ.2562 ออกมารองรับการจัดการ ให้นิยามเป็น“ผู้ได้รับการคุ้มครอง”คือ คนต่างด้าวที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรและไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังประเทศอันเป็นภูมิลำเนาของตน เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร และได้รับสถานะเป็นผู้คุ้มครองตามระเบียบนี้

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่พลิกผันด้วยหลายเหตุและปัจจัย สิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ทุกประเทศควรเตรียมตัวให้พร้อมไว้  นั่นคือสิ่งสำคัญ.         

 ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]