บทความเรื่อง “ชีวิตกับธรรมะที่มีจริง(สัจธรรม)” ตอน 1 เคยเผยแพร่มาแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อวันที่ 5 ส.ค.64 เพื่อเป็นความต่อเนื่องให้ชาวพุทธได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในพระธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงในสิ่งที่มีจริงหรือธรรมะที่มีจริง (สัจธรรม) จึงได้นำเสนอบทความนี้เป็นตอน 2 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการลุกลามขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วไปในสังคมเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีความวิตกกังวลและทุกข์ใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเกื้อกูลแก่ชาวพุทธในการสะสมความรู้ความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้อง และมีการพิจารณาไตร่ตรองจนเป็นความรู้ความเข้าใจเป็นของตนเอง โดยมีการสะสมปัญญาตามลำดับขั้นจนมีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) จะได้คลายความวิตกทุกข์ร้อนลง เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีงามหรือเรื่องเลวร้ายล้วนเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ อย่าได้ประมาทกับการดำเนินชีวิต จึงขอนำการสนทนาธรรมโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ปี 2539 มาให้ได้พิจารณาไตร่ตรอง ดังนี้

อาจารย์สุจินต์ กล่าวว่า “…ธรรมะเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง เมื่อไม่รู้คือไม่รู้ เมื่อไม่เข้าใจคือยังไม่เข้าใจ เมื่อฟังแล้วเริ่มเข้าใจคือเข้าใจขึ้น ไม่ต้องไปคิดถึงว่าอยากมีสติมากๆ หรือว่าอยากจะเป็นอย่างท่านผู้นั้น เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นไปไม่ได้ก็คือตัวจริง ความจริงเป็นอย่างไร ก็เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงอย่างนั้น แล้วก็ค่อยๆอบรมความรู้ความเข้าใจตรงตามความเป็นจริงของตนเองขึ้น ไม่มีการเปรียบเทียบว่าคนนั้นเข้าใจเยอะแยะ แต่ละบุคคลก็ต่างกัน คนนี้อาจจะเข้าใจส่วนนี้ แต่ไม่เข้าใจส่วนนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าจำเป็นที่จะต้องเหมือนกัน หรือว่าอยากจะเหมือนคนนั้น หรืออยากเหมือนคนนี้ ถ้าอยากเหมือนพระอรหันต์ก็มีทางเดียวคือการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ ถ้าอยากจะเหมือนพระโสดาบันก็ต้องมีทางเดียวเหมือนกัน อบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน…

ข้อความในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา ซึ่งทุกท่านในที่นี้พร้อมที่จะอ่านได้แล้ว ถ้ามีความเข้าใจเรื่องจิต เจตสิก รูป ควรเริ่มอ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้แล้ว ถ้ามีความสงสัยก็เป็นเครื่องแสดงว่าสิ่งที่เราฟังมายังไม่พอที่จะเข้าใจส่วนนั้น ตอนนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องฟังตามลำดับอีกต่อไป เพื่อจะได้เข้าใจส่วนนั้น เป็นเรื่องดีถ้าอ่านแล้วจะได้ทราบว่าความเข้าใจอยู่ในขั้นไหน เพราะว่าส่วนใหญ่บางทีอ่านพระสูตร รู้สึกเหมือนกับพระธรรมไม่ยากเลย บางคนก็ชอบพระสูตร เพราะเหตุว่าไม่มีเรื่องจิตมีกี่ดวง เจตสิกมีกี่ดวง แล้วก็คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ความจริงในพระสูตรทั้งหมดเป็นพระอภิธรรม ต้องเป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป นิพพาน…

ถ้ามีข้อความสั้นๆ ว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศลซึ่งไม่ดี จงละเสีย แต่จะละอย่างไร ไม่มีทางเลยที่จะละได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น และกว่าปัญญาจะเกิดโดยเฉพาะปัญญาของคนยุคนี้ สมัยนี้  ซึ่งไม่ใช่อุคฆฏิตัญูญูบุคคล (ผู้ที่มีกิเลสน้อยเบาบาง มีสติปัญญาแก่กล้า เพียงแค่ยกหัวข้อธรรมะขึ้นแสดง ก็รู้แจ้งถึงอริยสัจธรรมได้ อุปมาดัง บัวที่โผล่พ้นเหนือพื้นน้ำขึ้นมา พอสัมผัสแสงพระอาทิตย์ก็จะบานทันที) ไม่ใช่วิปัญจิตตัญญูบุคคล (ผู้ที่มีกิเลสค่อนข้างน้อย มีอินทรีย์ปานกลาง ถ้ามีการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ อุปมาดังบัวที่เจริญเติบโตขึ้นมาพอดีกับผิวน้ำ ซึ่งจะบานในวันต่อมา) และจะเป็นเนยยะบุคคล (ผู้ที่มีกิเลสยังไม่เบาบาง ต้องหมั่นศึกษาพระธรรมวินัยอยู่เป็นนิจ จึงสามารถรู้และเข้าใจพระธรรมได้ อุปมาดัง บัวที่ยังจมอยู่ในน้ำ รอคอยเวลาที่จะโผล่ขึ้นจากน้ำ และบานในวันต่อ ๆ ไป) หรือไม่เป็นแต่ละคนรู้ดี ถ้าไม่สามารถก็เป็นปทปรมะบุคคล (ผู้ที่มีกิเลสหยาบหนา ไม่สามารถรู้และไม่เข้าใจในพระธรรมได้เลย อุปมาดัง บัวใต้น้ำในโคลนตมที่ไม่อาจโผล่พ้นน้ำ อยู่เพียงใต้น้ำและเป็นอาหารของสัตว์น้ำ) เพราะฉะนั้นทุกคนก็เป็นตัวเองจริงๆ แล้วตรงต่อความเป็นจริงด้วยจึงจะเข้าถึงธรรมะ…

พระธรรมทั้งหมดแสดงความละเอียดของความเป็นอนัตตา ซึ่งไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ ขณะที่คิดอย่างนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ใช้คำว่าเป็นจิตชนิดหนึ่งก็ได้ ต้องรู้อย่างนี้จนกระทั่งเป็นสัญญาความจำที่มั่นคงจริงๆในลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นเพียงแต่จิตชนิดต่างๆ ถ้ามีการระลึกได้อย่างนี้สัมมาสติ ก็จะมีการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่…

พูดถึงเรื่องจิต ชาติคือจิตที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ชาติ คือ เกิดเป็นกุศล เป็นเหตุที่ดี เกิดเป็นอกุศล เป็นเหตุที่ไม่ดี เกิดเป็นวิบาก ไม่ใช่เหตุแต่เป็นผล เกิดเป็นกิริยา ไม่ใช่เหตุและไม่ใช่ผล… จิตเกิดขึ้นทีละ 1 ขณะ และขณะหนึ่งที่เกิดนั้นเป็นอะไร ที่ใช้คำว่าเป็นอะไรหมายถึงเป็นชาติอะไร เพราะฉะนั้นต้องบอกได้เลยว่าขณะนี้จิตที่เกิดขึ้นเป็นชาติอะไร ต้องมีชาติประจำจิตทุกดวง ทุกขณะจิต จิตที่ไม่มีชาติเลยไม่มี ถ้าไม่เข้าใจเรื่องชาติของจิต ไม่ต้องพูดถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือไม่ต้องพูดถึงเรื่องธรรมหมวดอื่นๆ เลย…

ถ้าศึกษาพระธรรมแล้วจะทราบว่า พูดโดยนัยของปรมัตถธรรม จะไม่มีคนเลย มีแต่จิตขณะหนึ่ง เกิดขึ้นพร้อมกับ เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ และมี สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเป็นรูปธรรมที่เป็นสภาพไม่รู้ แต่ถูกรู้… ขณะใดที่จิตเป็นกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ขณะใดที่จิตเป็นอกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้นจะบอกไม่ได้เลยว่ากำลังนั่งศึกษาพระธรรมอยู่แบบนี้มีวิบากจิตคือเห็น ได้ยิน ซึ่งขณะที่กำลังฟัง แล้วแต่ว่าพอได้ยินเสียง มีความเข้าใจเกิดขึ้นไหม ถ้ามีความเข้าใจเกิดขึ้นขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพของกุศลจิตที่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก แต่ว่าเวลาได้ยินเสียงแล้วเกิดนึกถึงเรื่องอื่น เป็นอกุศลจิตได้ไหม ย่อมได้ ที่ถามว่ากำลังนั่งอยู่อย่างนี้เป็นกุศลหรือเปล่า หรือว่ามีอกุศลมากน้อยเท่าไร ขึ้นอยู่กับแต่ละขณะจิต…

จิตทุกขณะมีปัจจัย จนถึงขณะจิตสุดท้ายของพระอรหันต์ จึงจะไม่มีปัจจัยให้เกิดต่อไปได้ แต่ถ้าจิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป การดับไปของจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยที่จะให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นเรื่อยๆในสังสารวัฏ ถ้าย้อนไปจากขณะนี้จนกระทั่งเราเกิดขณะแรก ก็จะเห็นได้ว่านับไม่ถ้วนเลย แต่ว่าจิตเกิดขึ้นทีละ 1 ขณะ แต่ในขณะหนึ่งจะมีอะไรบ้างมากมายสะสมอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้แต่ละขณะสืบต่อผ่านเหตุการณ์แต่ละขณะในแต่ละวันจนถึงขณะปัจจุบันนี้ ซึ่งจิตก็ยังคงเกิดขึ้นทีละขณะ แล้วก็ดับแล้วก็สืบต่อไป ถ้าชาตินี้ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดต่อไปในชาติหน้า หลังจากปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิตของชาตินี้แล้วไปเป็นจุติจิตของชาติหน้าอีก ก็เป็นปฏิสนธิจิต จุติจิตไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจิตขณะสุดท้าย คือจุติจิตของพระอรหันต์

ปรมัตถธรรม 4 ในที่นี้จะขอจำแนกโดยนัยของปรมัตถธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก 6 ดวง เจตสิกที่เป็นเหตุฝ่ายอกุศลมี 3 ดวง ได้แก่ โลภะเจตสิก โทสะเจตสิก โมหะเจตสิก เจตสิกที่เป็นเหตุฝ่ายกุศลมี 3 ดวง ได้แก่ อโลภะเจตสิก อโทสะเจตสิก อโมหะ เจตสิก… สภาพธรรมใดที่มีเจตสิก 6 ดวง ไม่ว่าจะเป็น 1 ใน 6 ดวง หรือ 2 ใน 6 ดวง หรือ 3 ใน 6 ดวงเกิดร่วมด้วย สภาพธรรมนั้นเรียกว่า สเหตุกะ สภาพธรรมใดที่ไม่มีเจตสิก 6 ดวงเกิดร่วมด้วยเลย สภาพธรรมนั้นเรียกว่า อเหตุกะ ฉะนั้นจิตใดที่เกิดร่วมด้วยกับเหตุ จิตนั้นเป็นสเหตุกจิต จิตใดที่ไม่เกิดร่วมด้วยกับเหตุ จิตนั้นเป็นอเหตุกจิต จิตที่มีโลภะเจตสิกซึ่งเป็นมูลหรือเหตุเกิดร่วมด้วย เรียกว่า โลภะมูลจิต จิตที่มีโทสะเจตสิกซึ่งเป็นมูลหรือเหตุเกิดร่วมด้วย เรียกว่า โทสะมูลจิต จิตที่มีโมหะเจตสิกซึ่งเป็นมูลหรือเหตุเกิดร่วมด้วย เรียกว่า โมหะมูลจิต….   

สำหรับอกุศลจิต จะมีเหตุประกอบได้เพียง 1 เหตุ (เอกเหตุ) หรือ 2 เหตุ (ทวิเหตุ) กรณีที่เป็นโมหะมูลจิตจะมีเหตุประกอบเพียงหนึ่งเหตุคือโมหะเจตสิก กรณีที่เป็นโลภะมูลจิต จะมีเหตุประกอบด้วย 2 เหตุคือโมหะเจตสิกกับโลภะเจตสิก กรณีที่เป็นโทสะมูลจิต จะมีเหตุประกอบด้วย 2 เหตุคือโมหะเจตสิกกับโทสะเจตสิก แต่ถ้าเป็นกุศลจิต จะมีเหตุประกอบ 2 เหตุ หรือ 3 เหตุ (ติเหตุ) กรณีที่เป็น 2 เหตุ จะประกอบด้วยอโลภะเจตสิกกับอโทสะเจตสิก กรณีที่เป็น 3 เหตุ จะประกอบด้วยอโมหะเจตสิก อโลภะเจตสิก อโทสะเจตสิก…

โลภะมีโทษน้อยแต่คลายช้า โทสะมีโทษมากแต่คลายเร็ว โมหะมีโทษมากแต่คลายช้า เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีโมหะอย่างอื่นก็มีไม่ได้ ไม่ว่าโลภะจะเกิดขึ้นในขณะนั้นก็มีโมหะรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าโทสะจะเกิดขึ้นในขณะนั้นก็มีโมหะรวมอยู่ด้วย ฉะนั้นจึงมีโทษมากและคลายช้า…

จิตทั้ง 4 ชาติมีการเกิดดับและสลับกันตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น อกุศลจิต กุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต การศึกษาพระธรรมจึงต้องเป็นไปตามลำดับ ต้องรู้ว่ากำลังศึกษาเรื่องราวของจิต แต่ว่าถ้าขณะนี้สติระลึกลักษณะของจิตจึงจะทราบความจริงว่า จิตขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล แล้วก็เวลาที่เกิดโทสะก็รู้ว่าอันนี้เป็นอกุศล แต่เวลาที่ไม่เป็นโทสะ อย่างอื่นอาจจะรู้ยาก เช่น โลภะ ตื่นขึ้นมาจะรู้เหรอว่ามีโลภะแล้ว เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ก็ต้องเป็นโลภะมูลจิต…

ก่อนอื่นไม่ใช่ไปรู้ลักษณะของกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่ต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเสียก่อน มิเช่นนั้นแล้ว เราใช้ชื่อตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้ว่าจิตเป็นนามธรรม โลภะเจตสิกขณะนั้นก็เป็นนามธรรม เรียกชื่อถูกแต่ไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมของโลภะเจตสิก…

คนรู้ว่ามีกิเลสกับคนไม่รู้ว่ามีกิเลสนั้น ถ้าพูดถึงการสะสมแล้วก็มีการสะสมต่างกัน คือ คนที่สะสมโลภะก็มีโลภะ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แม้รู้ว่ามีโลภะก็สะสมโลภะ คนที่ไม่รู้ว่ามีโลภะก็สะสมโลภะ คนที่รู้ว่ามีโทสะก็สะสมโทสะ คนไม่รู้ว่ามีโทสะก็สะสมโทสะ แต่ว่าคนที่ไม่รู้ว่ามีโลภะและไม่รู้ว่ามีโทสะก็สะสมทั้งโลภะและโทสะ ส่วนคนที่รู้ว่ามีโลภะและมีโทสะก็สะสมทั้งโลภะและโทสะ เมื่อเกิดโลภะและโทสะก็สะสมด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าใคร แต่คนที่ศึกษาพระธรรมก็สะสมความรู้ ในขณะที่คนที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็ไม่ได้สะสมความรู้…  

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”