เป็นที่รู้กัน…ว่า วันที่ 1 ก.ย. นี้ กรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีอี-เซอร์วิส จากบรรดาแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ อย่างเป็นทางการ เพื่ออุดรูรั่ว อุดช่องว่างธุรกิจ ที่เข้ามากอบโกยรายได้จากคนไทยเป็นจำนวนมหาศาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโลกทุกวันนี้ได้กลายเป็นโลกในยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างของการใช้ชีวิตต้องทำผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทำผ่านระบบออนไลน์ จึงทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ บนโลกออนไลน์ มากมาย

ทั้งการขายสินค้าและบริการออนไลน์ การดูหนัง ฟังเพลง การเล่นเกม การจองตั๋วโดยสาร การจองที่พัก และอื่น ๆ อีกมากมายสารพัด

จากผลสำรวจของเอ็ตด้า หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่าเวลานี้คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมากเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที ส่วนกิจกรรออนไลน์ที่นิยมก็หนีไม่พ้นการใช้โซเชียลฯ ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ ไอจี ถึง 95.3% รองลงมาก็คือดูทีวี ดูคลิป ดูหนัง ฟังเพลง 85% ค้นหาข้อมูล 82% แชท 77.8% รับ-ส่งอีเมล์ 69% ซื้อสินค้าออนไลน์ 67.3%

ยิ่งคนไทยต้องอยู่กับโควิด-19 ด้วยแล้ว พบว่าพฤติกรรมการซื้อขายเพลงออนไลน์ยิ่งเพิ่มขึ้น 9% ขณะที่การซื้อขายเกม ก็เพิ่มขึ้น 7.8% แถมยังมีการจ่ายค่าโฆษณาออนไลน์มากขึ้น 16%

เมื่อเห็นตัวเลขเช่นนี้!! ก็ย่อมต้องเห็นโอกาสของการเก็บภาษีกันแล้ว!! กรมสรรพากรประเมินในเบื้องต้นว่า…อย่างน้อยการเก็บภาษีอี-เซอร์วิส จะมีรายได้เข้าประเทศอย่างน้อยปีละ 5,000 ล้านบาท

ที่สำคัญการเก็บภาษีครั้งนี้!! ไม่ได้หมายความว่า…ภาครัฐหรือผู้มีหน้าที่จะจ้องรีดภาษีผู้ประกอบการต่างชาติใด ๆ แต่ที่ต้องทำ…ก็เพราะเพื่อสร้างความเป็นธรรม!! ให้กับผู้ประกอบการไทยด้วยเช่นกัน

ตามกฎหมาย!! ถ้าเป็นธุรกิจบริการออนไลน์สัญชาติไทย ก็ต้องจดทะเบียนการค้า หากมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และถ้ามีรายได้ถึงปีละ 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต

ดังนั้น…การจัดเก็บภาษีในลักษณะเดียวกันกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศ ที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยและมีรายได้เกินปีละ 1.8 ล้านบาท ก็ถือเป็นเรื่องที่สมควรดำเนินการ

ที่สำคัญ!! ไม่ได้จัดเก็บเฉพาะไทยเท่านั้น แต่อย่างน้อยในอีก 60 ประเทศทั่วโลกก็จัดเก็บแล้วเช่นกัน ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งบางประเทศจัดเก็บถึง 10% ด้วยซ้ำไป

ส่วนบริการแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ต้องถูกเรียกเก็บภาษี มีทั้ง ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซออนไลน์ อย่างอเมซอน อีเบย์ รวมถึงธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป กูเกิล  เช่นเดียวกับธุรกิจตัวกลางที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าและบริการ จองโรงแรม ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน อย่าง อโกด้า บุ๊กกิ้ง

นอกจากนี้ยังรวมถึงธุรกิจตัวลาง อย่างบริการเรียกแท็กซี่ ฟู้ดดีลิเวอรี่  ที่มีรายได้จากการเรียกเก็บค่าจีพีจากร้านค้า และสุดท้าย คือธุรกิจที่มีรายได้จากการบอกรับสมาชิก เช่น บริการดูหนัง ฟังเพลง หรือ เกมออนไลน์

ว่ากันว่า…แรก ๆ บริษัทที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนภาษีอี-เซอร์วิส ในไทยราว ๆ 100 ราย ซึ่งเวลานี้ก็มีผู้ให้บริการที่เข้าข่ายมาจดทะเบียนกันแล้วเกือบ 50 ราย จาก 15   ประเทศทั่วโลก ทั้งเน็ตฟลิกซ์ กูเกิล เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์ ซูม อเมซอน อีเบย์

หากจะดูในหลักการแล้ว…ถือว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง!! ที่หน่วยงานรัฐต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับคนไทย ให้กับผู้ประกอบการไทย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ภาษีแวต ในไทยเองก็ถูกโยนภาระมาที่ผู้บริโภคอยู่แล้ว และยังเป็นฐานภาษีใหญ่ของประเทศอีกต่างหาก

แล้วเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ใช้สารพัดสินค้าและบริการทางออนไลน์ จะมีภาระเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า นี่คือคำถาม? ที่ทุกคนต้องการคำตอบ ซึ่ง…ก็ไม่มีใครการันตี ขึ้นอยู่กับธุรกิจหากแข่งขันรุนแรง อย่างพวกบริการดูหนัง ฟังเพลง เกมออนไลน์ ผู้ประกอบการอาจแบกรับภาระไว้เอง เพราะไม่ต้องการเสียฐานลูกค้า

อย่าง…บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ ก็เชื่อกันว่า…ไม่มีผลเพราะผู้ให้บริการรายใหญ่ต่างจดทะเบียนและเสียภาษีแวตกันเกือบหมดแล้ว แต่ที่ต้องแบกภาระแน่ ๆ ก็เป็นประเภทที่ต้องการซื้อโฆษณา ในโซเชียลมีเดีย เพราะล่าสุดเอง ทางเฟซบุ๊ก ได้ออกประกาศแจ้งให้ผู้ใช้บริการโฆษณาในไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป

ส่วนบรรดาพ่อค้า…แม่ค้าออนไลน์… หรือขายผ่านโซเชียลในไทย ก็ไม่ต้องกลัวเพราะไม่มีผลกระทบอะไร เพราะไม่ต้องไปยื่นจดทะเบียนภาษีอี-เซอร์วิสใด ๆ เพราะเป็นเรื่องของผู้ให้บริการจากต่างชาติเท่านั้น

เพียงแต่ว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เหล่านี้ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หรือถ้ามียอดขายเกิน 1.8   ล้านบาทต่อปี ก็ต้องมาจดทะเบียนแวต ให้ถูกต้อง ก็เป็นอันว่าจบเรื่อง

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทย บริษัทต่างชาติที่จัดตั้งในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับภาษีอี-เซอร์วิส ยกเว้นหากยิงแอดโฆษณาผ่านโซเชียลบ่อย ก็อาจต้องรับภาระไป แต่ก็ต้องค่าใช้จ่ายมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือหักภาษีซื้อภาษีขายได้

ทั้งหลายทั้งปวง!!! ก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่าหลังจากวันที่ 1 ก.ย.นี้ ไปแล้วใครจะเดือดร้อนจากภาษีอี-เซอร์วิส กันบ้าง!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”