ข่าวสารเรื่องการติดตามสารซีเซียม-137 ที่หายไปอย่างลึกลับจากโรงไฟฟ้าบ้านเรา ทำให้หลายคนหยิบยกเรื่องผลกระทบจาก ‘ภัยพิบัติเชอร์โนบิล’ กลับมาพูดถึงอีกครั้ง

นอกเหนือจากความเสียหายที่พบเห็นได้ในทันทีที่เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง จนทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายและป่วยหนัก อีกทั้งละแวกโรงไฟฟ้ากลายเป็นเมืองร้างแล้ว ยังมีผลกระทบในระยะยาวจากที่สร้างความหวาดหวั่นให้ผู้คน เพราะกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนไปแทบทุกอณูของพื้นที่เกิดเหตุ

40 ปีผ่านไป หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว พื้นที่เกิดเหตุซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน ได้มีทีมวิจัยที่ติดตามเก็บข้อมูลของอดีตสัตว์เลี้ยงที่เราคุ้นเคยดี ซึ่งก็คือสุนัขที่ ณ วันนี้ ได้กลายเป็นสุนัขจรจัดในเขตภัยพิบัติเชอร์โนบิลไปแล้ว

พวกมันได้กลายเป็นเป้าหมายหลักในการวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกัมมันตภาพรังสีของสิ่งมีชีวิต ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในด้านพันธุกรรม

ในรายงานฉบับใหม่ของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อน ในวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์ ระบุว่า สุนัขจรจัดหลายตัวที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เก่า มีพันธุกรรมที่แตกต่างไปจากสุนัขที่อาศัยอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล

แม้ผลของการวิจัยไม่ได้ยืนยันว่า กัมมันตรังสีมีผลกระทบโดยตรงต่อพันธุกรรมที่ต่างออกไป ข้อมูลที่ได้ก็ยังคงช่วยให้สามารถทำความเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตที่สัมผัสรังสีตกค้างเป็นระยะเวลานาน 

การวิเคราะห์พันธุกรรมของสุนัขเหล่านี้ เท่ากับเป็นการแผ้วถางให้ทีมวิจัยอื่น ๆ ที่ต้องการตามหาการกลายพันธุ์ในรูปแบบเฉพาะเจาะจง รวมทั้งช่วยเป็นฐานให้นักวิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์บ้าง ถ้าหากต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกัมมันตภาพรังสี

พื้นที่ที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างหลังจากเกิดการระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั้นกว้างใหญ่มาก และมักถูกนำไปเทียบเคียงกับอุทยานโยเซมิตีของสหรัฐ เพราะไม่เพียงมีพื้นที่ใกล้เคียงกัน (มากกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร) แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด ตั้งแต่ กวางป่า หมาป่า ควายป่า ไปจนถึงหมีป่า เนื่องจากบริเวณใกล้กับโรงไฟฟ้านั้น เป็นพื้นที่ป่าที่มีชื่อเรียกง่าย ๆ ว่า “ป่าแดง”

แน่นอนว่านักวิทยาศาสตร์ก็อยากจะรู้เหมือนกันว่า สัตว์ป่าเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างไร จากที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางกัมมันตรังสีตกค้าง แต่สัตว์ป่าเหล่านี้ก็ไม่ได้มีวิถีชีวิตใกล้เคียงกัน หรือเกี่ยวพันกับมนุษย์มากเท่าสุนัข  

แต่เดิมนั้น สุนัขจรจัดหลายร้อยตัวรอบอดีตโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล คือสุนัขบ้านที่คนเลี้ยงไว้ แต่เมื่อโรงไฟฟ้าระเบิดในปี 2529 ประชาชนที่ต้องอพยพออกนอกบริเวณ ก็โดนบีบให้ต้องทิ้งพวกมันไว้ที่นั่น

แม้ผู้มีอำนาจในตอนนั้น ได้สั่งให้มีการ “กำจัด” สัตว์ต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อหยุดยั้งสถานการณ์การปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี แต่ทีมงานที่เข้าไป “เก็บกวาด” หลังการระเบิดบางคน ก็ตัดสินใจช่วยเหลือพวกมันไว้

จากการประเมินของทีมจัดทำ ‘รายงานเบื้องต้นของสุนัขแห่งเชอร์โนบิล’ พบว่า มีสุนัขจรจัดประมาณ 800 ตัว ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งทีมงานได้จัดการดูแลเรื่องสุขอนามัยให้พวกมันไปด้วยในระหว่างเก็บข้อมูล เพื่อแยกแยะสุนัขแต่ละตัว และตรวจสอบว่ามีการกลายพันธุ์ที่น่าเป็นกังวลเกิดขึ้นหรือไม่ 

ประมาณครึ่งหนึ่งของสุนัขจรจัดเหล่านี้ อาศัยอยู่ในโรงไฟฟ้าเลย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในตัวเมืองเชอร์โนบิล ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 14 กม. และยังมีฝูงเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองสลาวูทิช ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 45 กม.

ทีมงานได้สุ่มเก็บตัวอย่างเลือดจากสุนัขเหล่านี้จำนวน 302 ตัว จาก 3 พื้นที่ ผลจากการตรวจสอบทางพันธุกรรมพบว่า มีสุนัขในกลุ่มราว 15 สายพันธุ์ และพบว่าสุนัขที่อาศัยอยู่รอบ ๆ อดีตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีพันธุกรรมที่แตกต่างจากกลุ่มที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง สุนัขทั้งสองกลุ่ม ยังมีการผสมพันธุ์กันข้ามกลุ่มน้อยมาก

สุนัขทั้งสองกลุ่ม ล้วนมีดีเอ็นเอที่สืบทอดมาจากสายพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดและสายพันธุ์สุนัขต้อนแกะในยุโรปตะวันออก ซึ่งคาดว่าในอนาคต นักวิจัยสามารถตรวจหาการกลายพันธุ์ได้ โดยการเปรียบเทียบดีเอ็นของสุนัขจรจัดแห่งเชอร์โนบิล กับสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดทั่วไป

แม้ว่าจะยังคงเป็นเรื่องยาก ที่จะแยกแยะว่าพันธุกรรมตัวไหนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเพราะกัมมันตรังสี และส่วนไหนที่เปลี่ยนแปลงเพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มองว่า นี่คือโอกาสทองที่จะเริ่มต้นการค้นคว้าหาวิธีเอาตัวรอดสำหรับมนุษย์ ถ้าหากต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายเช่นนี้ไปอีกหลายชั่วอายุคน

ถ้าหากกัมมันตภาพรังสีสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในสุนัขจรจัดแห่งเชอร์โนบิลได้จริง ๆ ก็จะนำไปสู่คำถามขั้นต่อไปว่า สุนัขเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสีตกค้างในระยะยาวจนทำให้พันธุกรรมเปลี่ยนแปลง หรือว่าพวกมันเพียงแต่สืบทอดพันธุกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะโดนกัมมันตรังสีมาก่อนในรุ่นพ่อแม่เท่านั้น

การวิจัยสุนัขจรจัด จึงยังคงดำเนินต่อไป โดยมีกำหนดลงพื้นที่อีกครั้งในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ และด้วยความหวังว่า จะพบข้อมูลที่ให้อธิบายคำตอบต่าง ๆ ได้ดีขึ้น.

แหล่งข้อมูล : businessinsider.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES