หน้าประวัติศาตร์การเมืองไทยเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภานัดลงมติร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญวาระที่สามวันที่10 ก.ย. เวลา 09.00 น.

หลักใหญ่ใจความของการแก้กติกาสูงสุดของประเทศครั้งนี้พุ่งเป้าที่ไประบบเลือกตั้งมาตรา 83 และมาตรา 91 เรื่องให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบและให้มี ส.ส. แบ่งเขต400 คน- ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมเป็น ส.ส. 500 คน

รื้อวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเปลี่ยนจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ไปเป็นระบบเลือกตั้งแบบ“คู่ขนาน”(MMM)ตามโมเดลรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ตามกติการัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 การแก้กฎหมายสูงสุดของประเทศจุดยากที่สุดคือการลงคะแนนวาระที่ 3 เนื่องจาก มาตรา 256 เขียนผูกเงื่อนไขที่ซับซ้อนเป็นค่ายกลหลายชั้น

(1) ชั้นแรก การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้ายใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา

(2) ชั้นสอง การลงคะแนนเสียงเห็นชอบต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี , ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 20% ของทุกพรรครวมกัน

แปลไทยเป็นไทย ต้องมีคะแยยเสียงฝ่ายค้าน สนับสนุนไม่น้อยกว่า 20 % หรือ 45 เสียง

(3) ชั้นสาม ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ 84 คน

(4) ชั้นสี่ ก่อนนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกันแล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากการจับกระแสเคลื่อนไหวตลอดสัปดาห์ 3 พรรคการเมืองใหญ่ประกอบด้วย พลังประชารัฐ , เพื่อไทย ,ประชาธิปัตย์ ที่มีเสียงรวมกันมากกว่า 300 เสียง ยืนยันเทคะแนนโหวตวาระที่สาม

ดังนั้นเงื่อนไข ต้องได้เสียงจากที่ประชุมเกิน 50 % ไม่น่ามีปัญหา

ส่วนเงื่อนไขต้องมีฝ่ายค้าน ยกมือสนับสนุน 20% หรือ 45 เสียง เฉพาะเพื่อไทยพรรคเดียวมี 134 คน ข้อนี้ ผ่านฉลุย

สำหรับเงื่อนไขต้องได้เสียง ส.ว. สนับสนุน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงจากการตรวจสอบการลงมติวาระสองแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 2มาตรามี ส.ว. ให้ความเห็นชอบ เกิน 150 เสียง ข้อนี้ไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน

ฟันธงล่วงหน้าปัญหาแก้รัฐธรรมนูญจะไปติดล็อคหลังโหวตผ่านวาระ 3 เรื่องพรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็กรวบรวมรายชื่อ 1 ใน 10 ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ หวังล้มระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เนื่องจากการเปลี่ยนจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA)ไปเป็นระบบเลือกตั้งแบบ“คู่ขนาน”(MMM)ตามโมเดลรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

มีแนวโน้มทำให้ พรรคขนาดกลาง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง ส่วนพรรคเล็กถึงขั้นสูญพันธุ์ !!

การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือตัวแปรสำคัญที่กำหนดกติกาการเข้าสู่อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ รวมไปถึงฝ่ายบริหาร ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสงบหรือความวุ่นวายในบ้านเมือง.